มุมมองที่น่าสนใจของเวียดนาม

มุมมองที่น่าสนใจของเวียดนาม

ผมพึ่งเดินทางกลับจากเวียดนามเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาพบว่า เวียดนามเป็นอีกประเทศที่น่าลงทุนของ SME

คราวนี้ผมเลือกเดินทางโดยรถยนต์ ผ่านสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 2 ที่จังหวัดมุกดาหาร ที่เชื่อมต่อกับแขวงสะหวันนะเขต ของประเทศลาว ใช้เส้นทาง R9 E-WEC (East West Economic Corridor) ซึ่งเป็นถนนที่ได้รับการสนับสนุนเงินทุนจากญี่ปุ่น ในการก่อสร้าง ระยะทางประมาณ 250 กม. ใช้เวลาเดินทาง 3 ชม. เข้าเวียดนามที่ด่านลาวบ่าว จังหวัดกวางตรี จากด่านเข้ามา 20 กมเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษลาวบ่าว ของเวียดนาม จากด่านลาวบ่าว

ผ่านจังหวัดเว้ ถึงนครดานัง หนึ่งใน 5 นครของเวียดนาม ระยะทาง ประมาณ 260 กม. ใช้เวลาเดินทางจากด่านลาวบ่าวถึงนครดานัง เกือบ 5 ชม.

ครั้งนี้ได้มีโอกาสพบปะ คุณ DANG THI THOA ซึ่งเป็น Deputy Director ของ Vietnam -Russia Joint Venture Bank และนักธุรกิจหลายท่าน มีข้อมูลของเวียดนาม ที่น่าสนใจครับ

เวียดนามมีประชากร ประมาณ 93 ล้านคน จำนวนประชากรเป็นอันดับ 3 ของเอเชีย และเป็นอันดับ 13 ของโลก รายได้เฉลี่ยต่อหัวอยู่ที่ 28,860 พันดอง หรือ 42,400 บาท อัตราค่าจ้างแรงงานอยู่ในระดับต่ำ ประมาณ 100-145 เหรียญสหรัฐฯ ต่อเดือน และมีแรงงานจำนวนมาก อีกทั้งยังได้รับสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป(GSP) จากประเทศพัฒนาแล้ว อาทิ สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น เป็นต้น

ในปี 2014 เวียดนามประสบความสำเร็จในการส่งออกไปสหรัฐฯ โดยมียอดส่งออกมากกว่าสามหมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ แซงหน้าไทยไปแล้ว และมีอัตราการเจริญเติบโตแบบก้าวกระโดดในปี 2015 ปัจจัยหลักมาจากค่าจ้างแรงงานราคาถูก คนงานมีผลิตภาพที่สูง มีการลงทุนจากบริษัทสหรัฐฯ มากขึ้น ทั้งยังมีแนวโน้มจากการลงทุนจากบริษัทจากกลุ่มประเทศ EU มากขึ้น ทำให้ยอดการส่งออกไปประเทศในกลุ่ม EU แซงไทยตั้งแต่ ปี 2012

ตั้งแต่ปี 1986 รัฐบาลเวียดนามได้ปฏิรูประบบเศรษฐกิจภายใต้นโยบายโดยเหมยประกอบกับสภาวะการเมืองที่มั่นคง ส่งผลให้เศรษกิจเวียดนามขยายตัวอย่างรวดเร็ว โดยมีการปรับตัวจากระบบเศรษฐกิจที่มีการควบคุมจากส่วนกลาง เป็นระบบเศรษฐกิจที่ใช้กลไกตลาด ทำให้เศรษฐกิจของเวียดนามเติบโตโดยเฉลี่ย 7 % ต่อปี ระหว่างปี 2000-2009

เวียดนามเป็นคู่แข่งที่สำคัญของไทยในการผลิตและส่งออกข้าวเป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากไทย ส่งออกกาแฟเป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากบราซิล ส่งออกเม็ดมะม่วงหิมพานต์เป็นอันดับสองของโลกรองจากอินเดีย ที่น่าสนใจคือการส่งออกพริกไทยเป็นอันดับหนึ่งของโลก ปัจจุบันประชากรเวียดนามมีฐานะความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และจากจำนวนประชากรกว่า 90 ล้านคน ทำให้กำลังซื้อของเวียดนามสูงขึ้นด้วย โดยเฉพาะการลงทุนด้านสินค้าอุปโภคบริโภค ทั้งยังเป็นประเทศที่ศักยภาพสูงทางด้านการเป็นฐานการผลิตที่สำคัญ ทำให้การลงทุนจากต่างชาติขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบัน บริษัท อินเทล บริษัทผู้ผลิตชิปคอมพิวเตอร์อันดับ 1 ของโลก ได้เปิดโรงานแห่งใหม่ขนาดใหญ่ที่สุดมูลค่า 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในนครโฮจิมินห์ซิตี้ ซึ่งจะทำให้มีการจ้างแรงงานเป็นจำนวนมาก

ผมมีโอกาสได้ไปเยี่ยมชมโรงงานผลิตอาหารทะเลแช่แข็งของบริษัทซีพี ห่างจากเมืองเว้ประมาณ 40 กม. เป็นโรงงานที่ทันสมัย มีคนงาน ประมาณ 700 คน คุยกับผู้บริหารที่เป็นชาวไทยบอกว่าแรงงานเวียดนามเป็นแรงงานที่มีคุณภาพ มีความขยันขันแข็ง และอัตราค่าจ้างแรงงานต่ำกว่าบ้านเรามาก เป็นประเทศที่มีประชากรในวัยทำงานมากกว่า 50 ล้านคน จากจำนวนประชากรกว่า 90 ล้านคน ในแง่ของธุรกิจ SME ได้มีโอกาสไปเยี่ยมชม บริษัท Ankhan ที่เมืองดานัง มีคนงานประมาณ 40 คนเป็นอุตสาหกรรมผลิตอาหารกล่องส่งให้กับคนงานตามโรงงานอุตสาหกรรม วันละกว่า 5,000 กล่อง ยอดขายปีละเกือบ 60 ล้านบาท ซึ่งผมเห็นว่าเป็นธุรกิจที่น่าสนใจ ซึ่งจะได้นำเสนอให้ทราบในโอกาสต่อไป

การลงทุนในเวียดนามมีข้อที่ควรระวัง คือ การเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งขณะที่การใช้ภาษาอังกฤษยังไม่แพร่หลายนัก การติดต่อประสานงาน รวมถึงเอกสารทุกอย่างเป็นภาษาเวียดนามทั้งหมด การหา พาร์ทเนอร์ชาวเวียดนามที่ไว้ใจได้จึงเป็นเรื่องจำเป็น ในขณะที่การเช่าที่ดินเปิดโอกาสให้ต่างชาติเช่าได้ไม่เกิน 50 ปี และอาจต่ออายุได้ไม่เกิน 70 ปี แต่มีขั้นตอนเยอะแยะไม่มีมาตรฐานกลาง บางครั้งหากจ่ายค่าชดเชยไม่พอใจ ชาวบ้านอาจไม่ยอมย้ายออก โดยเจ้าหน้าที่ของรัฐไม่สามารถบังคับได้ นอกจากนี้เวียดนามยังมีปัญหาทางด้านการขาดแคลนพลังงานทั้งในระดับครัวเรือนและอุตสาหกรรม มีปัญหาไฟดับบ่อยครั้ง บางโรงงานต้องสลับกันใช้ไฟ

ปัจจุบันประเทศไทยมีมูลค่าการลงทุนในเวียดนามอยู่ในอันดับ 10 มูลค่าการลงทุน ประมาณ 40 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยมีญี่ปุ่นมีมูลค่าการลงทุนเป็นอันดับ 1 ที่ 4,200ล้านเหรียญสหรัฐฯ

ท่านผู้ประกอบการที่มีความพร้อมควรศึกษาประเทศเวียดนามให้รอบคอบ ประเทศที่มีพลเมืองเกือบร้อยล้านคน เป็นอีกตลาดหนึ่งที่ควรเข้าไปทำมาหากินครับ