E-Commerce กับการปล่อยสินเชื่อในจีน

 E-Commerce กับการปล่อยสินเชื่อในจีน

ปัจจุบันจำนวนคนชอปปิงออนไลน์ในประเทศจีน มีมากกว่าจำนวนคนชอปปิงออนไลน์ในสหรัฐอเมริกาหลายเท่าตัว

เรียกได้ว่ารายได้ของธุรกิจ E-Commerce ในประเทศจีนเติบโตอย่างก้าวกระโดดทุกปี แต่ไม่ใช่ว่าบริษัท E-Commerce จีนทำธุรกิจขายของออนไลน์อย่างเดียวนะครับ เดี๋ยวนี้เขาทำธุรกิจครบวงจร ตั้งแต่ทำหน้าที่เป็นสถาบันการเงินปล่อยสินเชื่อให้ลูกค้า และขยายไปถึงการคิด “Credit Score” ให้กับลูกค้าด้วย

โดยปกติแล้ว เวลาที่เราสมัครขอสินเชื่อส่วนบุคคลกับธนาคาร จะต้องมีการกรอกข้อมูลต่างๆ ทั้งข้อมูลทั่วไป เช่น สถานที่ทำงาน การศึกษา สถานะทางสังคม ฯลฯ และข้อมูลด้านการเงิน เช่น รายได้ ค่าใช้จ่ายต่อเดือน ภาระหนี้ ฯลฯ ธนาคารก็จะนำเอาข้อมูลเหล่านี้ รวมทั้งข้อมูลประวัติการขอและการชำระสินเชื่อในอดีตของลูกค้ามาคำนวณ “Credit Score” เป็นคะแนนออกมาว่า ลูกค้าน่าจะมีความสามารถในการชำระหนี้หรือไม่ (บางครั้งยังต้องนำข้อมูลจากเครดิตบูโร ซึ่งจะเห็นข้อมูลจากทุกๆ สถาบันการเงิน ที่ลูกค้าเคยใช้บริการมาประกอบการพิจารณาด้วย)

แต่สำหรับประเทศจีน ปัญหาก็คือในบรรดาประชากรจีนกว่า 1,400 ล้านคนนั้น มีประชากรอยู่เพียงราว 20% เท่านั้นที่มีข้อมูล Credit Score กับธนาคาร หมายความว่า คนจีนจำนวนมากกว่า 80% ยังไม่เคยขอสินเชื่อกับธนาคาร ไม่เคยทำบัตรเครดิตกับธนาคาร และแต่เดิมธนาคารต่างๆ ของจีนเองก็ไม่นิยมปล่อยสินเชื่อให้กับผู้บริโภคส่วนบุคคลด้วย นักเศรษฐศาสตร์จีนมักอธิบายว่าเป็นปัญหาไก่กับไข่อะไรเกิดก่อนกัน เพราะธนาคารมักอ้างว่าไม่มีข้อมูล Credit Score จะปล่อยสินเชื่อให้ชาวบ้านตาสีตาสามันเสี่ยงเกินไป แต่เอาเข้าจริง ก็ในเมื่อธนาคารไม่ยอมเริ่มปล่อยสินเชื่อให้กับผู้บริโภคส่วนบุคคล แล้วชาวบ้านตาสีตาสาจะเริ่มมี Credit Score ได้อย่างไร

ผลก็คือ จีนเป็นชาติที่ชาวบ้านออมเงินแช่ไว้ในบัญชีธนาคารสูงที่สุดประเทศหนึ่งในโลก (ในเมื่อกู้ยืมเงินยาก ก็ต้องเก็บตุนเงินไว้เพื่ออนาคต) ตามสถิติพบว่าครัวเรือนจีนทั่วไปออมเงินมากกว่า 40% ของรายได้ ในสมัยก่อนตอนเศรษฐกิจจีนยังคึกคักก็ไม่เป็นปัญหาอะไร เป็นเรื่องดีเสียอีกที่ชาวบ้านรู้จักประหยัดอดออม  แต่ภายหลังจากปี ค.ศ.2007 เป็นต้นมา เมื่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนเริ่มชะลอตัวลง รัฐบาลจีนจึงเริ่มมีนโยบายส่งเสริมให้ธนาคารและสถาบันการเงินปล่อยสินเชื่อผู้บริโภคส่วนบุคคลให้มากขึ้น เพื่อสนับสนุนให้คนจีนยืมเงินออกมาจับจ่ายใช้สอยกระตุ้นเศรษฐกิจ ปัญหาก็คือธนาคารจีนก็ยังไม่กล้าปล่อยสินเชื่ออยู่นั่นเอง เพราะไม่มีข้อมูล Credit Score ที่จะใช้ในการประเมินความเสี่ยง

บริษัท E-Commerce อันดับ 1 ของจีนอย่าง Alibaba จึงอาศัยโอกาสทำธุรกิจครบวงจร Alibaba ไม่ได้เป็นเวบไซต์ขายของออนไลน์อย่างเดียว แต่ยังมีบริการ Alipay ให้คนชำระเงินผ่านระบบออนไลน์อย่างสะดวกรวดเร็ว (คนจีนที่ไม่มีบัตรเครดิตก็ไม่ต้องหอบเงินสดไปซื้อของตามร้านค้าอีกต่อไป) และเมื่อต้นปีที่ผ่านมา เครือ Alibaba ยังเปิดบริการ Sesame Credit ซึ่งเป็นระบบการคิดคำนวณ Credit Score ให้ลูกค้า ว่าผ่านเกณฑ์ขอสินเชื่อผู้บริโภคส่วนบุคคลจาก Alipay หรือไม่

Sesame Credit อาศัย “พฤติกรรมการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภค” ในการคำนวณ Credit Score พูดง่ายๆ คืออาศัยฐานข้อมูลการทำธุรกรรมออนไลน์ของลูกค้า Alibaba กว่า 300 ล้านคน โดยใช้เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์สร้างโมเดลวิเคราะห์ข้อมูลการชำระเงิน ข้อมูลลักษณะการซื้อสินค้าของลูกค้า รวมทั้งข้อมูลความสัมพันธ์ทางธุรกรรมระหว่างลูกค้ากับผู้ขายสินค้าผ่านหน้าเวบไซต์ จากนั้นจึงนำข้อมูลเหล่านี้มาคิด Credit Score ของลูกค้าว่า น่าจะมีความสามารถในการชำระหนี้เพียงใด จะเห็นได้ว่าข้อมูลที่กล่าวมาเหล่านี้เป็นข้อมูลที่ลูกค้าที่ซื้อสินค้าออนไลน์ทุกคนมี ทั้งยังเป็นข้อมูลชุดใหญ่และมีความหลากหลายมากกว่าข้อมูลทั่วๆ ไปที่เรามักกรอกเวลาขอสินเชื่อกับธนาคาร หรือข้อมูลประวัติการขอหรือชำระสินเชื่อกับธนาคาร (ซึ่งมีเพียง 20% ของชาวจีนเท่านั้นที่มีข้อมูลอยู่กับธนาคาร)

Alibaba วางแผนว่าถ้าระบบนี้พัฒนาต่อไปเรื่อยๆ ชาวจีนทุกคนก็จะมี Credit Score ของตนเอง และจะเริ่มรู้จักรักษาวินัยทางการเงินเพื่อเพิ่ม Credit Score ของตน นอกจากนั้น ในอนาคตก็ยังสามารถใช้ Credit Score ดังกล่าวในการขอสินเชื่อบ้านหรือรถยนต์กับธนาคารและสถาบันการเงินอื่นๆ ได้อีกด้วย ถึงแม้ว่าชาวจีนเหล่านี้อาจจะไม่มี Credit Score ในระบบธนาคารแบบดั้งเดิมก็ตาม

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เครือบริษัท JD.com ซึ่งเป็นเวบไซต์ E-Commerce คู่แข่ง Alibaba และมีผู้ใช้บริการมากกว่า 100 ล้านคนในจีน ได้ประกาศจับมือกับบริษัทเทคโนโลยี Zest Finance จากสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นผู้สร้างระบบเทคโนโลยีการนำข้อมูลพฤติกรรมของผู้บริโภคมาคิดเป็น Credit Score โดยที่ JD.com ประกาศจะร่วมลงทุนพัฒนาเทคโนโลยีของ Zest Finance ในขณะที่ Zest Finance เองจะให้ JD.com นำเทคโนโลยีของตนไปใช้คิด Credit Score เพื่อปล่อยสินเชื่อผู้บริโภคที่เข้ามาซื้อสินค้าออนไลน์ในเว็บไซต์ JD.com

ตัวอย่างพฤติกรรมผู้บริโภคที่ Zest Finance นำมาใช้ในการคิด Credit Score มีตั้งแต่แนวทางการกรอกแบบฟอร์มออนไลน์ของผู้บริโภค (เช่น มีการอ่านประวัติของบริษัทก่อนกรอกขอสินเชื่อหรือไม่) รวมทั้งพฤติกรรมการจับจ่ายใช้สอย เช่น ชอบซื้อของราคาแพง หรือชอบชอปปิงตอนกลางวันหรือไม่ ข้อมูลเหล่านี้ถ้าเป็นข้อมูลโดดๆ แยกออกจากกัน จะไม่สามารถบอกอะไรเกี่ยวกับความสามารถในการชำระหนี้ได้สักเท่าไร

ตัวอย่างเช่น ถ้าคุณเป็นคนที่ชอบซื้อของราคาแพง อาจเป็นเพราะคุณร่ำรวย หรืออาจเป็นเพราะคุณชอบซื้อสินค้าใหม่ๆ เพื่อนำไปขายต่อในตลาดมืด เช่นเดียวกัน ถ้าคุณเป็นคนที่ชอบช้อปออนไลน์ในเวลากลางวัน คุณอาจว่างงานไม่มีรายได้ หรือคุณอาจรวยมากจนไม่ต้องทำงานเลยก็ได้

อย่างไรก็ตาม เมื่อเรามีชุดข้อมูลเหล่านี้จำนวนมาก และสามารถใช้โมเดลคอมพิวเตอร์ที่ซับซ้อนในการประมวลผลความสัมพันธ์ของข้อมูลชุดต่างๆ เหล่านี้เข้าด้วยกัน รวมทั้งดูประวัติการจับจ่ายใช้สอยและการชำระสินเชื่อในอดีตที่ผ่านมาผ่านทางเวบไซต์ ย่อมทำให้ระบบสามารถคิด Credit Score ที่สะท้อนความสามารถในการชำระหนี้ของบุคคลได้อย่างแม่นยำ (ก่อนที่ JD.com จะตัดสินใจร่วมมือกับ Zest Finance ก็ได้มีการทดลองนำระบบของ Zest Finance มาวิเคราะห์ข้อมูลของลูกค้าที่ JD.com มีอยู่ และพบว่าผลการวิเคราะห์มีความแม่นยำสูง ว่าลูกค้ารายใดที่เบี้ยวไม่ยอมชำระหนี้)

ปัญหาการเข้าถึงแหล่งสินเชื่อของผู้บริโภคส่วนบุคคล รวมทั้งของผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็ก (SMEs) ถือเป็นปัญหาสำคัญที่มีผลฉุดรั้งการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนา ในอดีตเองรัฐบาลไทยเคยมีนโยบายกองทุนหมู่บ้าน เพื่อให้ชาวบ้านในชนบทสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้น อย่างไรก็ตาม นโยบายดังกล่าวเคยเป็นที่ถกเถียงอย่างมากในประเทศไทย จนไม่มีใครแน่ใจนักว่าเป็นนโยบายที่ประสบความสำเร็จหรือล้มเหลว

ข้อวิจารณ์อย่างหนึ่งในสมัยนั้นก็คือ รัฐบาลขาดระบบการคิด Credit Score ที่ดี ทำให้เหมือนเป็นการหว่านเงินโดยไม่พิจารณาความสามารถในการชำระหนี้ของชาวบ้าน แต่หากในอนาคต E-Commerce ในบ้านเราเริ่มพัฒนาขึ้น (ตามนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัลอันสวยหรูของรัฐบาล) และเราสามารถนำเข้าเทคโนโลยีที่สามารถคิดคำนวณ Credit Score จากพฤติกรรมการบริโภคออนไลน์ของชาวบ้านได้อย่างแม่นยำ โดยไม่จำเป็นต้องอาศัยข้อมูล Credit Score จากธนาคาร (ซึ่งชาวบ้านทั่วไปมักไม่มี Credit Score กับธนาคาร)

ในที่สุดเราอาจสามารถคิดหากลไกที่เหมาะสมในการปล่อยสินเชื่อไปสู่รากหญ้า พร้อมๆ กับปลดปล่อยพลังการบริโภคระลอกใหม่ที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจทั่วประเทศให้คึกคักขึ้นอย่างมหาศาล ดังที่กำลังเกิดขึ้นในโลกออนไลน์ของประเทศจีนในปัจจุบัน