ร่วมกันสรรค์สร้างอนาคตอันสวยสดงดงามในความสัมพันธ์จีน-ไทย

ร่วมกันสรรค์สร้างอนาคตอันสวยสดงดงามในความสัมพันธ์จีน-ไทย

ปีนี้เป็นปีที่ครบรอบ 40 ปี แห่งการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตจีน-ไทย วันที่ 1 กรกฎาคมของเมื่อ 40 ปีก่อน

นายกรัฐมนตรีโจว เอินไหล กับนายกรัฐมนตรี ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้ลงนามในแถลงการณ์สร้างความสัมพันธ์ทางการทูต เปิดศักราชใหม่ในการพัฒนาความสัมพันธ์ของสองประเทศ 40 ปีผ่านไปเพียงลัดนิ้วมือเดียว ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจีนและประเทศไทยในแต่ละย่างก้าวเดินหน้าอย่างมั่นคง ผลสำเร็จที่ได้รับก็เป็นที่ประจักษ์แก่สายตาทุกคน และแสดงให้ประชาคมโลกได้เห็นถึงการเป็นแบบอย่างที่ดี แม้มีระบอบสังคมที่แตกต่างกัน แต่ก็มีความเป็นมิตร ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ตลอดจนความร่วมมือในด้านต่างๆ เพื่อผลประโยชน์ของทั้งสองประเทศร่วมกัน

เมื่อสองปีก่อน ข้าพเจ้าทราบว่าจะต้องมาดำรงตำแหน่งที่ประเทศไทย ในใจเต็มไปด้วยความคาดหวัง ขณะเดียวกัน ก็รู้สึกถึงภาระความรับผิดชอบอันหนักหน่วงที่กำลังรออยู่ข้างหน้า ไม่รู้ว่าจะสามารถผลักดันความสัมพันธ์จีน-ไทยให้ดียิ่งขึ้น ให้ใกล้ชิดแนบแน่นยิ่งขึ้นได้อย่างไร ซึ่งล้วนเป็นภาระหน้าที่ที่สำคัญยิ่งของข้าพเจ้า

สองปีมานี้ภายใต้การสนับสนุนและช่วยเหลืออย่างสุดกำลังของเพื่อนมิตรในวงการต่างๆ ของไทย ความสัมพันธ์จีน-ไทย ได้ขจัดความยากลำบากและความท้าทายนานัปการในทุกมิติทุกแขนงงาน จนนำไปสู่การพัฒนาในรูปแบบใหม่ ทางด้านการเมือง มิตรภาพระหว่างประเทศจีนและประเทศไทยที่มีมาแต่ช้านานนั้น ได้กระชับให้แน่นแฟ้นมากขึ้นมาโดยตลอด ประเทศจีนเองก็ได้ยืนหยัดตามหลักการไม่แทรกแซงกิจการภายในของประเทศอื่น ความสัมพันธ์ฉันมิตรระหว่างจีนกับไทยนั้น ไม่เคยแปรเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ทางการเมืองภายในประเทศที่เปลี่ยนแปลงไป เราพยายามที่จะคบหาเพื่อนใหม่ แต่ขณะเดียวกัน ก็ไม่เคยลืมเลือนมิตรสหายเก่า อีกทั้งทางการจีนมีสัมพันธไมตรีที่แน่นแฟ้นกับสถาบันพระมหากษัตริย์ รัฐบาล รัฐสภา และทุกพรรคทุกฝ่ายมาโดยตลอด และล้วนได้รับการพัฒนาความสัมพันธ์ไปอีกก้าว

ยกตัวอย่างเช่น ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง และนายกรัฐมนตรีหลี่ เค่อเฉียง ของประเทศจีนได้มีการพบปะหารือกับ ฯพณฯ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีไทยในหลายๆ โอกาส ไม่ว่าจะเป็นโอกาสของพหุภาคีหรือทวิภาคี นายกรัฐมนตรีหลี่ เค่อเฉียง ได้เดินทางมาเยี่ยมเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ ในช่วงของเดือนตุลาคม ปี 2013 และในช่วงเดือนธันวาคมของปี 2014 ที่ผ่านมา ก็ได้เดินทางเยือนประเทศไทย เพื่อเข้าร่วมประชุมสุดยอดผู้นำ GMS และภายในห้วงเวลา ระหว่างปี 2013 ถึง 2015 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีได้เสด็จเยือนประเทศจีนถึง 4 ครั้ง และทางการจีนได้ถวายงานเลี้ยงเฉลิมฉลองในโอกาสมหามงคล ทรงเจริญพระชนมายุครบ 60 พรรษา ณ ประเทศจีนอีกด้วย นับว่าเป็นปีที่มีความหมายยิ่ง รวมถึงนายกรัฐมนตรีไทย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ได้เยือนประเทศจีนเป็นประเทศแรก นอกเหนือจากประเทศในอาเซียน

ขณะเดียวกัน รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ นายพรเพชร วิชิตชลชัย ก็ต่างเดินทางไปเยือนประเทศจีนตามลำดับ แสดงให้เห็นถึงรัฐบาลไทยและสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่งต่อความสัมพันธ์จีน-ไทย

นอกจากนี้ ในปีแล้ว อดีตนายกรัฐมนตรี พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก็ต่างเดินทางไปประเทศจีน เพื่อเยี่ยมเยือนมิตรสหาย และผลักดันมิตรภาพระหว่างประเทศจีนและประเทศไทย

ทางด้านเศรษฐกิจ ความร่วมมือของทั้งสองประเทศในเรื่องของระบบรางรถไฟและผลผลิตทางการเกษตร มีความคืบหน้าและเป็นรูปธรรมมากขึ้น ความร่วมมือของทั้งสองประเทศในเรื่องของระบบรางรถไฟ เดินทางมาถึงวันนี้ได้ไม่ใช่เรื่องง่าย ก่อนหน้านี้ในช่วงรัฐบาล ฯพณฯ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ทั้งสองฝ่ายได้เริ่มเจรจาความร่วมมือเรื่องระบบรางรถไฟมาบ้างแล้ว ในปี 2013 ระหว่างที่นายกรัฐมนตรีหลี่ เค่อเฉียง เดินทางเยือนไทยก็ได้มีการบรรลุความเข้าใจร่วมกันเบื้องต้นเกี่ยวกับความร่วมมือในเรื่องระบบรางรถไฟ และผลผลิตทางการเกษตรกับนายกรัฐมนตรี ฯพณฯยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

อีกทั้งปลายปี 2014 ณ ประเทศไทย นายกรัฐมนตรีหลี่ เค่อเฉียง และนายกรัฐมนตรีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ร่วมเป็นสักขีพยาน ในการลงนามบันทึกความเข้าใจ ว่าด้วยความร่วมมือเพื่อพัฒนาระบบรางรถไฟจีน-ไทย และบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการค้า ผลผลิตเกษตรระหว่างประเทศจีนกับประเทศไทย ภายใต้ความพยายามของทั้งสองฝ่ายนี้ ความร่วมมือเรื่องระบบรางรถไฟระหว่างจีน-ไทย ได้มีการขับเคลื่อนไปข้างหน้าอย่างมั่นคง ซึ่งการประชุมของคณะกรรมการร่วมในเรื่องความร่วมมือระหว่างจีนกับไทยได้จัดมาแล้วถึง 5 ครั้ง และได้เจรจาลงลึกถึงรายละเอียดต่างๆ และสิ่งที่จำเป็นที่จะต้องเน้นยํ้าคือ ความร่วมมือในโครงการระบบรางรถไฟนั้น เป็นโครงการฯ ที่ได้รับผลประโยชน์ทั้งสองฝ่าย ประเทศจีนไม่เพียงแต่จะสนับสนุนด้านเทคโนโลยี การดำเนินงานและการระดมทุนในการพัฒนาการระบบรางรถไฟให้กับประเทศไทยเท่านั้น แต่ยังจะช่วยฝึกอบรมบุคลากรที่เกี่ยวข้อง เพื่อยกระดับมาตรฐานด้านเทคโนโลยีให้กับประเทศไทยอีกด้วย ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนเป็นประโยชน์ระยะยาว ในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทยทั้งสิ้น

นอกจากนี้ ภายใต้สภาวะที่ประเทศจีนเองก็กำลังประสบกับปัญหาความยากลำบากที่ไม่สามารถระบายข้าวออกได้นั้น ส่งผลให้ราคาข้าวตกตํ่า แต่เนื่องจากความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศจีนและประเทศไทยนี้เอง ฝ่ายจีนจึงยังคงตกลงซื้อข้าวไทยจำนวน 2 ล้านตัน และยางพาราอีก 2 แสนตัน จากประเทศไทย เพื่อผ่อนคลายความเดือนร้อนทางเศรษฐกิจ ที่ชาวนาไทยและชาวสวนยางพารากำลังประสบอยู่ในขณะนี้

ด้านภาคประชาชนและวัฒนธรรม การไปมาหาสู่ของภาคประชาชน และการแลกเปลี่ยนทางด้านวัฒนธรรม มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ทั้งในเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ ประชาชนของทั้งสองประเทศเปรียบเหมือนญาติมิตรที่ไปมาหาสู่กันอยู่เสมอ ซึ่งในปี 2014 การไปมาหาสู่ของทั้งสองประเทศมีมากกว่า 5 ล้านคน และประเทศจีนยังคงครองอันดับหนึ่งของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ที่เดินทางมาท่องเที่ยวประเทศไทย นับตั้งแต่ต้นปีมานี้ แนวโน้มจำนวนนักท่องเที่ยวจีนเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว นักท่องเที่ยวจากจีนแผ่นดินใหญ่ ฮ่องกง มาเก๊า และไต้หวัน ที่เดินทางมาท่องเที่ยวยังประเทศไทยในไตรมาสแรกมีจำนวนสูงถึง 2,290,000 คน ศูนย์วัฒนธรรมจีน ณ กรุงเทพฯ ที่เปิดดำเนินการอย่างเป็นทางการในปลายปี 2012 แสดงบทบาทที่สำคัญในการส่งเสริมการแลกเปลี่ยนระหว่างประชาชนของทั้งสองประเทศ จนถึงเดือนมิถุนายนปีนี้ ศูนย์ฯดังกล่าวได้จัดกิจกรรมทางวัฒนธรรม การแสดง นิทรรศการ สัมมนา และการแข่งขันรวมกว่า 250 ครั้ง ซึ่งมีผู้เข้าร่วมถึง 200,000 คน

ในจำนวนนี้มีทั้งบุคลากรจากสำนักพระราชวัง ข้าราชการชั้นสูง อดีตนักการเมืองที่สำคัญๆ พระสงฆ์ ผู้นำสมาคมชาวจีนโพ้นทะเล ตลอดจนบุคคลในแวดวงต่างๆ อีกทั้งในปี 2014 มีนักศึกษาไทยที่ไปศึกษาต่อยังประเทศจีน จำนวนสูงถึง 21,000 คน ขณะเดียวกัน นักศึกษาจีนที่มาศึกษาต่อยังประเทศไทยก็มีจำนวนสูงถึง 22,000 คนเช่นกัน และได้ครองอันดับหนึ่งของนักศึกษาต่างชาติที่มาศึกษาต่อในประเทศไทย รวมถึงมีสถาบันขงจื๊อ 12 แห่ง และห้องเรียนขงจื๊ออีก 11 แห่ง ที่ทั้งสองฝ่ายร่วมกันก่อตั้งขึ้นมา และได้จัดอบรมบุคลากรด้านภาษาจีนที่มีความเป็นเลิศให้กับประเทศไทยมากยิ่งขึ้น

ปัจจุบันนี้ ทั่วประเทศไทยมีผู้ศึกษาภาษาจีนและวัฒนธรรมจีนกว่า 1 ล้านคน และในปี 2015 ครูจีนอาสาสมัครในประเทศไทยจะมีจำนวนถึง 1,500 คน

ข้าพเจ้ารู้สึกพึงพอใจกับการพัฒนาของความสัมพันธ์จีน-ไทย แต่มันยังคงไม่เพียงพอ ข้าพเจ้าเห็นว่า ถ้าจะเทียบกับเป้าหมาย “ดีอยู่แล้วให้ดียิ่งขึ้น” “สนิทอยู่แล้วให้สนิทยิ่งขึ้น” เรายังคงต้องใช้ความพยายามให้มากขึ้นและยังต้องพยายามต่อไป ดังนี้

ประการแรก คือ พัฒนาความไว้เนื้อเชื่อใจกันทางยุทธศาสตร์ให้แนบแน่นมากขึ้น กล่าวคือ ประเทศไทยเป็นประเทศเพื่อนบ้านที่ดี เป็นมิตรแท้ เป็นหุ้นส่วนที่สำคัญและเป็นญาติมิตรที่ดีของประเทศจีน “จีนไทยไม่ใช่อื่นไกลพี่น้องกัน” ทั้งสองประเทศควรเสริมสร้างความเข้าใจ ความช่วยเหลือซึ่งกันและกันให้มากยิ่งขึ้น ในขณะที่เผชิญปัญหาที่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ที่สำคัญ ทั้งสองฝ่ายควรจะคำนึงถึงและเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกัน ซึ่งประเทศจีนจะยังคงดำเนินการตามนโยบายเดิมที่จะให้การสนับสนุนความมั่นคง และการพัฒนาของประเทศไทย ทางเราก็หวังว่า ในประเด็นที่มีความสำคัญต่อประเทศจีน ประเทศไทยจะยังคงเป็นมิตรสหายที่ไว้เนื้อเชื่อใจได้ต่อไป

ประการที่สอง คือ การผลักดันความร่วมมือในโครงการและการลงทุนที่สำคัญๆ กล่าวคือ การลงทุนจะกลายเป็นจุดเติบโตใหม่ในความร่วมมือทางเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศ ประเทศจีนได้เปลี่ยนแปลงจากการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศเข้าสู่ประเทศจีนเป็นหลัก กลายเป็นให้นํ้าหนักพอๆ กัน กับทั้งดึงดูดการลงทุนเข้าไปในจีน และการก้าวออกไปเพื่อลงทุนยังต่างประเทศ ในอนาคตจะมีนักธุรกิจชาวจีนมาลงทุนสร้างโรงงานในประเทศไทยมากขึ้น และคาดว่าในปี 2017 บริษัทจีนที่มาลงทุนในอุตสาหกรรมยางพาราในประเทศไทย จะสามารถแปรรูปหรือบริโภคยางพาราถึง 1 ล้านตันต่อปี และจะนำมาซึ่งการสร้างงานและเปลี่ยนรูปโฉมทางเศรษฐกิจยกระดับให้สูงขึ้น

ขณะเดียวกัน ข้าพเจ้าเชื่อว่าภายหลังที่โครงการระบบรางรถไฟเริ่มดำเนินการก่อสร้าง จะนำมาซึ่งการลงทุน การค้าขายและการพัฒนาอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ ตลอดสองข้างของรางรถไฟ ตลอดจนจะผลักดันให้การค้าและการลงทุนของทั้งสองประเทศก้าวสู่ขั้นใหม่

ประการที่สาม คือ เสริมสร้างความร่วมมือด้านเทคโนโลยีขั้นสูง ความร่วมมือด้านเทคโนโลยีระหว่างประเทศจีนและประเทศไทยมีพื้นฐานที่ดีอยู่แล้ว ขณะนี้ระบบดาวเทียมนำทางเป๋ยโต่วได้เข้าสู่ประเทศไทยแล้ว สำนักงานเตรียมการศูนย์วิจัยร่วมการประสานงานทางรถไฟได้เริ่มเปิดดำเนินงานแล้ว ระบบแบ่งปันข้อมูลและให้บริการดาวเทียมรีโมทเซนซิงได้สร้างเสร็จในขั้นแรก โครงการแลกเปลี่ยนนักวิทยาศาสตร์ดำเนินไปอย่างราบรื่น ทั้งสองฝ่ายสามารถบุกเบิกและขยายความร่วมมือในเทคโนโลยีอวกาศและนำมาประยุกต์ใช้ บูรณาการระบบแบ่งปันข้อมูลและให้บริการดาวเทียมรีโมทเซนซิงให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น เสริมสร้างความร่วมมือในด้านโทรคมนาคม อินเทอร์เน็ตความเร็วสูงให้ลงลึกยิ่งขึ้น ประเทศจีนยินดีแบ่งปันจุดแข็งของตน เพื่อเสริมสร้างและฝึกอบรมเทคโนโลยีให้กับบุคลากรไทย เพิ่มการถ่ายทอดเทคโนโลยีและให้ความช่วยเหลือเพื่อยกระดับเทคโนโลยีของประเทศไทยให้สูงยิ่งขึ้น

ประการที่สี่ คือ เสริมสร้างความร่วมมือการป้องกันประเทศ การบังคับใช้กฎหมายและความมั่นคง กล่าวคือ ความร่วมมือในการป้องกันประเทศ การบังคับใช้กฎหมายและความมั่นคงระหว่างจีน-ไทย ในหลายปีมานี้ ได้รับการพัฒนาก้าวหน้าไปไม่น้อย แต่ยังคงมีศักยภาพและพื้นที่สำหรับการพัฒนาอยู่มาก ดังนั้น ทั้งสองฝ่ายจะต้องเสริมสร้างความร่วมมือและแลกเปลี่ยนในด้านต่างๆ ให้เพิ่มมากยิ่งขึ้น

เช่น ให้กองทัพของทั้งสองฝ่ายมีการฝึกซ้อมร่วมกัน เพิ่มความร่วมมือในด้านอาวุธยุทโธปกรณ์และเทคโนโลยี ความมั่นคงพหุภาคี ตลอดจนการเผชิญหน้ากับภัยคุกคามในรูปแบบใหม่ เป็นต้น และขยายความร่วมมือในด้านการสนับสนุน ช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรม การบรรเทาทุกข์แก่ผู้ประสบภัย และอุตสาหกรรรมเทคโนโลยีป้องกันประเทศ ผลักดันความร่วมมือการบังคับใช้กฎหมาย และรักษาความปลอดภัยในลุ่มแม่นํ้าโขง ร่วมกันพิทักษ์รักษาความปลอดภัยและความมั่นคงในภูมิภาคนี้

ความสัมพันธ์จีน-ไทย ได้ยืนอยู่บนจุดเริ่มต้นใหม่ทางประวัติศาสตร์ หากมองไปในอนาคต เรามีความเชื่อมั่นอย่างเต็มเปี่ยม แน่นอนว่าในกระบวนการพัฒนาความสัมพันธ์จีน-ไทย ย่อมประสบกับปัญหา หรือเสียงวิพากษ์วิจารณ์อยู่บ้าง ซึ่งยากที่จะหลีกเลี่ยงได้

อย่างไรก็ตาม เรายินดีร่วมกับเพื่อนมิตรชาวไทยในวงการต่างๆ พร้อมยืนเคียงบ่าเคียงไหล่ จับมือกันขจัดความยากลำบากและความท้าทายทั้งปวง ที่อาจจะปรากฏบนหนทางข้างหน้า ให้เรือนาวาแห่งมิตรภาพจีน-ไทยลำนี้ แล่นฝ่าคลื่นลมมรสุมทั้งปวง พร้อมก้าวหน้าไปอย่างไม่หยุดยั้ง ขอให้เรายืนหยัดต่อสู้ไปด้วยกัน เพื่อความเจริญรุ่งเรืองและการพัฒนาของประเทศจีนและประเทศไทย และอุทิศพลังของพวกเราเพื่อความเจริญรุ่งเรืองและการพัฒนาให้เกิดขึ้นในภูมิภาคนี้ต่อไป

 --------------------

หนิง ฟู่ขุย

เอกอัครราชทูตจีนผู้มีอำนาจเต็มประจำราชอาณาจักรไทย