กระแสที่ยากต้านทาน

กระแสที่ยากต้านทาน

กรณีเรือประมงหลายจังหวัด หยุดเดินเรือประมง เพราะเกรงว่าจะถูกจับกุม

 หลังจากศูนย์ป้องกันการทำประมงที่ผิดกฎหมายไอยูยู (ศปมผ.) ประกาศตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.นี้จะมีผลการใช้กฎหมายบังคับเรือที่ไม่ถูกต้อง รวมถึงกรณีตรวจสอบใบอาชญาบัตรเรือ โดยไม่ผ่อนผันปลดล็อก ทำให้เรือประมงหยุดเดินเรือเพราะเกรงว่าจะถูกจับ ซึ่งเป็นไปตามมาตรการแก้ปัญหาประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงานและขาดการควบคุม หรือไอยูยู

แม้ว่าตัวแทนชาวประมงจะบอกว่าไม่ได้เป็นการประท้วงมาตรการดังกล่าว แต่จำเป็นต้องหยุดเดินเรือ เนื่องจากยังไม่สามารถดำเนินการตามประกาศได้ หากเดินเรือก็จะเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายและอาจถูกจับกุม ดังนั้นการหยุดเดินเรือจึงเป็นทางออกที่ดีที่สุดและไม่ได้เป็นการกดดันรัฐบาลให้ผ่อนปรนมาตรการ ซึ่งการหยุดเดินเรือพร้อมกันหลายจังหวัดอาจส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคและอุตสาหกรรมการประมงของไทยบางส่วน

จากจำนวนเรือประมงที่คิดเป็นสัดส่วนค่อนข้างมาก ของเรือประมงทั่วประเทศหยุดทำการประมง ย่อมส่งผลกระทบอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ แต่ผู้ประกอบการหลายรายได้เริ่มปรับตัวตั้งแต่มีการประเมินว่าเรือประมงจำนวนมากจะไม่สามารถทำตามเงื่อนไขได้ ดังนั้นจึงหาทางออกโดยการสั่งวัตถุดิบจากต่างประเทศเข้ามาป้อนกับอุตสาหกรรมการประมง เพื่อลดผลกระทบที่เกิดขึ้น และยังไม่อาจประเมินได้ว่าสถานการณ์จะเป็นอย่างไรต่อไป

กรณีของการประมงไทยที่มีปัญหาเรื่องการทำประมงผิดกฎหมาย และการใช้แรงงานมนุษย์ในเรือประมง ซึ่งเป็นปัญหาที่มีมานาน แต่เมื่อสหภาพยุโรป(อียู)ดำเนินการเรื่องนี้อย่างจริงจังด้วยการตอบโต้ทางการค้าจากมาตรการไอยูยู ทำให้อุตสาหกรรมประมงไทยไม่มีทางเลือกมากนัก เพราะจำเป็นต้องพึ่งพาตลาดอียู ซึ่งมาตรการดังกล่าวชี้ให้เห็น การเปลี่ยนแปลงในโลกยุคใหม่ที่สำคัญประการหนึ่ง คือเริ่มมีการกำหนดกติกาให้ทุกประเทศจำเป็นต้องปฏิบัติร่วมกัน

การกำหนดกติกาดังกล่าว โดยเฉพาะที่มีผลต่อการค้าการลงทุน ย่อมส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของประชาชนที่เผชิญกับกติกาเหล่านี้และไม่อาจปฏิบัติตามกฎกติกาได้ แต่ดูเหมือนผู้ได้รับผลกระทบมีทางออกไม่มากนัก ดังนั้นจึงย่อมเกิดความขัดแย้งเกิดขึ้นระหว่างกฎกติกาสากลที่บังคับใช้ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกฎกติกาจากประเทศพัฒนาแล้ว กับการปฏิบัติของประชาชนในประเทศต่างๆ ซึ่งเป็นความขัดแย้งที่จะพบเห็นกันมากขึ้นหลายพื้นที่ทั่วโลก

หากเปรียบเทียบกรณีของการประมงไทยกับสถานการณ์นี้ในกรีซ อาจไม่มีความแตกต่างกันในเรื่องของความขัดแย้ง กล่าวคือ เป็นความขัดแย้งระหว่างกฎกติกาสากลที่ประเทศส่วนใหญ่ทั่วโลกใช้เป็นกติกามาตรการการติดต่อค้าขายระหว่างกัน กับความต้องการของประชาชนเจ้าของพื้นที่ที่ถูกมองว่ามีปัญหา ดังนั้น ทางออกอาจจะมีไม่มากนัก กล่าวคือ หากไม่ยอมรับกติกาดังกล่าวก็ต้องปฏิเสธไปเลย แต่ก็จำเป็นต้องรับผลกระทบที่เกิดขึ้นตามมาเช่นกัน

ดังนั้นความขัดแย้งที่เกิดขึ้นหากมองว่าเป็นผลมาจากกระแสโลกาภิวัตน์ ที่ต้องการสร้างกฎกติกาที่เป็นมาตรฐาน ในการปฏิบัติร่วมกันของประชาคมโลก เราอาจมีทางออกไม่มากนัก เพราะหากเราต้องการเกาะกระแสโลกาภิวัตน์ ซึ่งสำหรับไทยก็ไม่อาจปฏิเสธได้ เราจำเป็นอย่างยิ่งต้องทำตามกฎกติกาและเราเชื่อว่าในที่สุดแล้ว เรือประมงเหล่านี้จำเป็นต้องทำตามกฎกติกาสากล เพราะขณะนี้กระแสโลกาภิวัตน์เกิดขึ้นค่อนข้างแข็งแกร่งยากที่จะต้านทานได้ การหยุดเดินเรือเพื่อเป็นการประท้วงหรือไม่ก็ตาม เป็นสิ่งที่ทำได้ชั่วคราวเท่านั้น