ประเทศไทยกับกฎหมายหลักประกันทางธุรกิจ (ตอน 7)

ประเทศไทยกับกฎหมายหลักประกันทางธุรกิจ (ตอน 7)

วันนี้เรามาต่อกันด้วยเรื่องของการบังคับหลักประกันตามร่างกฎหมายหลักประกันทางธุรกิจกันค่ะ

ตามร่างกฎหมายหลักประกันทางธุรกิจ กำหนดวิธีการบังคับหลักประกันเอาไว้เป็น 2 ส่วน ได้แก่ (1) การบังคับหลักประกันที่เป็นทรัพย์สิน และ (2) การบังคับหลักประกันที่เป็นกิจการ

วันนี้เรามาศึกษาในส่วนของการบังคับหลักประกันที่เป็นทรัพย์สินกันก่อนค่ะ

การบังคับหลักประกันที่เป็นทรัพย์สินนั้น เป็นไปตามที่กำหนดไว้ในหมวด 5 ตั้งแต่มาตรา 37 ถึงมาตรา 55 ของร่างกฎหมายหลักประกันทางธุรกิจ หลักการโดยทั่วไปสำหรับการบังคับหลักประกันที่เป็นทรัพย์สินคือ การจำหน่ายทรัพย์สินออก หรือให้ทรัพย์สินที่เป็นหลักประกันนั้นหลุดเป็นสิทธิของเจ้าหนี้ ซึ่งกรณีเอาทรัพย์สินหลุดเป็นสิทธินี้ จะกระทำได้ก็ต่อเมื่อเข้าองค์ประกอบตามที่กฎหมายกำหนด กล่าวคือ ลูกหนี้ต้องค้างชำระต้นเงินเท่ากับหรือสูงกว่ามูลค่าทรัพย์สินที่เป็นหลักประกัน และลูกหนี้ขาดส่งดอกเบี้ยมาแล้วเป็นเวลา 5 ปี ตลอดจนต้องไม่มีหลักประกันรายอื่น หรือบุริมสิทธิอื่นจดทะเบียนไว้เหนือทรัพย์สินที่เป็นหลักประกัน

อนึ่ง ในการเอาทรัพย์สินหลุดเป็นสิทธินี้ ผู้เขียนขอตั้งเป็นข้อสังเกตว่าไม่ใช่ทุกกรณีที่ผู้รับหลักประกันจะใช้สิทธินี้ได้ เช่น หากผู้รับหลักประกันเป็นสถาบันการเงินที่ไม่ได้จดทะเบียนจัดตั้งในประเทศไทย และทรัพย์สินที่เป็นหลักประกันเป็นที่ดิน ผู้รับหลักประกันดังกล่าวก็ไม่สามารถใช้วิธีการบังคับหลักประกันโดยวิธีการหลุดเป็นสิทธิได้ เนื่องจากต่างชาติไม่สามารถถือครองที่ดินในประเทศไทยได้ เป็นต้น

ในการบังคับหลักประกันที่เป็นทรัพย์สินตามร่างกฎหมายหลักประกันทางธุรกิจนั้น ต้องอาศัยความยินยอมของผู้ให้หลักประกันด้วย จึงมีการกำหนดบทบัญญัติวิธีการบังคับหลักประกันที่เป็นทรัพย์สิน กรณีที่ผู้ให้หลักประกันยินยอม และกรณีที่ผู้ให้หลักประกันไม่ยินยอมเอาไว้ ดังนี้ค่ะ

(1) การบังคับหลักประกันที่เป็นทรัพย์สินและผู้ให้หลักประกันยินยอมส่งมอบการครอบครอง :ผู้รับหลักประกันมีหน้าที่ (ก) ส่งหนังสือแจ้งลูกหนี้และผู้ให้หลักประกันให้ชำระหนี้ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือบอกกล่าว (เว้นแต่กรณีที่ทรัพย์สินเป็นของสดไม่ต้องรอ 15 วัน แต่ต้องทำหนังสือแจ้ง) และต้องระบุด้วยว่าหากไม่ชำระหนี้ภายในเวลาที่กำหนด ผู้รับหลักประกันจะดำเนินการบังคับหลักประกัน โดยผู้รับหลักประกันต้องส่งหนังสือบอกกล่าวดังกล่าว ให้ผู้รับหลักประกันและเจ้าหนี้รายอื่นทราบด้วย เพื่อให้ขอเฉลี่ยทรัพย์สินหรือเงินที่ได้จากการขายทรัพย์สินที่เป็นหลักประกัน และห้ามไม่ให้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาอื่นยึดหรืออายัดทรัพย์สินที่เป็นหลักประกัน

(ข) กรณีทรัพย์สินที่เป็นหลักประกันเป็นสิทธิเรียกร้อง ห้ามไม่ให้ลูกหนี้แห่งสิทธินั้น ชำระหนี้ให้กับผู้ให้หลักประกัน

ในกรณีที่บังคับหลักประกันโดยการจำหน่ายทรัพย์สิน (ก) ถ้าเป็นทรัพย์สินทั่วไปให้ใช้วิธีการประมูลโดยเปิดเผย โดยผู้รับหลักประกันมีหน้าที่ส่งหนังสือแจ้งให้ผู้ให้หลักประกัน ตลอดจนผู้รับหลักประกันและเจ้าหนี้รายอื่นทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 7 วัน ก่อนวันจำหน่ายหลักประกัน

(ข) ถ้าเป็นเงินฝาก ผู้รับหลักประกันสามารถหักชำระหนี้ได้ทันที และมีหนังสือแจ้งให้ผู้ให้หลักประกันหรือผู้รับหลักประกันรายอื่นทราบภายใน 3 วัน นับจากวันที่ดำเนินการดังกล่าวแล้ว และถ้าเป็นเงินฝากของสถาบันการเงินอื่น ที่ไม่ใช่เงินฝากของสถาบันการเงินที่เป็นผู้รับหลักประกัน สถาบันการเงินอื่นสามารถหักชำระหนี้ได้ เมื่อได้รับหนังสือแจ้งการบังคับหลักประกันจากผู้รับหลักประกันแล้ว

ในกรณีที่บังคับหลักประกันในลักษณะที่หลุดเป็นสิทธิ (ก) ถ้าผู้ให้หลักประกันไม่คัดค้านภายใน 15 วันนับจากวันที่ได้รับหนังสือแจ้งให้ชำระหนี้ ผู้รับหลักประกันมีสิทธิเข้าครอบครองทรัพย์สินดังกล่าวได้ (ข) ถ้าผู้ให้หลักประกันมีหนังสือคัดค้านภายใน 15 วันนับจากวันที่ได้รับหนังสือแจ้งให้ชำระหนี้ กำหนดให้ผู้รับหลักประกันต้องใช้วิธีการจำหน่ายทรัพย์สินเป็นหลัก

(2) การบังคับหลักประกันที่เป็นทรัพย์สินและผู้ให้หลักประกันไม่ยินยอมส่งมอบการครอบครอง : ผู้รับหลักประกันต้องยื่นคำร้องให้ศาลมีคำพิพากษาให้บังคับหลักประกัน โดยต้องระบุในคำร้องว่า ประสงค์จะให้บังคับหลักประกันโดยวิธีใด (จำหน่ายทรัพย์สิน หรือหลุดเป็นสิทธิ) ตามร่างกฎหมายหลักประกันทางธุรกิจกำหนดให้ศาลต้องดำเนินการ

(ก) กำหนดวันพิจารณาโดยเร็ว และออกหมายเรียกไปยังผู้ให้หลักประกันหรือผู้ที่ยึดถือทรัพย์สินที่เป็นหลักประกัน

(ข) กำหนดให้ศาลต้องนั่งพิจารณาทุกวันจนกว่าจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่ง

(ค) กรณีถ้าศาลเห็นเหตุที่จะบังคับหลักประกันตามสัญญาหลักประกันไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยฯ ให้ศาลพิพากษาบังคับหลักประกันตามวิธีการที่ผู้รับหลักประกันร้องขอ เว้นแต่กรณีที่ขอในลักษณะที่ให้หลุดเป็นสิทธินั้น ไม่เข้าเงื่อนไขตามที่กฎหมายหลักประกันทางธุรกิจกำหนด ให้ศาลมีคำพิพากษาให้ขายทอดตลาดทรัพย์สินแทน

(ง) กรณีที่ศาลเห็นว่าไม่มีเหตุที่จะบังคับหลักประกันตามสัญญา หรือเหตุดังกล่าวขัดต่อความสงบเรียบร้อยฯ กำหนดให้ศาลยกเลิกคำร้องของผู้รับหลักประกัน

(จ) คำพิพากษาของศาลหรือคำสั่งของศาลสามารถอุทธรณ์ได้ภายใน 15 วัน และกำหนดให้นำบทบัญญัติว่าด้วยการทุเลาการบังคับตามคำพิพากษามาใช้บังคับแก่การอุทธรณ์โดยอนุโลม และให้ถือคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์เป็นที่สุด

นอกจากนั้น ผู้รับหลักประกันสามารถยื่นคำขอให้ศาลมีคำสั่งยึดหรืออายัดทรัพย์สินที่เป็นหลักประกันไว้เป็นการชั่วคราวได้ (โดยยื่นพร้อมกับคำร้องขอให้บังคับหลักประกัน) โดยต้องวางเงินประกันหรือให้หลักประกันเพื่อป้องกันความเสียหาย จากการยึดหรืออายัดทรัพย์สินดังกล่าวตามจำนวนที่ศาลกำหนด แต่ต้องไม่น้อยกว่าร้อยละ 25 ของวงเงินที่กำหนดไว้ในสัญญาหลักประกัน

ทีนี้เรามาพิจารณากันต่อในเรื่องของการจัดสรรเงินที่ได้รับจากการจำหน่ายทรัพย์สิน ตามร่างกฎหมายหลักประกันทางธุรกิจกำหนดให้มีการจัดสรรเงินที่จำหน่ายได้ตามลำดับดังนี้ คือ

(1) ค่าใช้จ่ายในการสงวนรักษาทรัพย์สินที่เป็นหลักประกัน

(2) ค่าใช้จ่าย ค่าธรรมเนียมที่เกิดจากการบังคับหลักประกัน

(3) ชำระหนี้ให้แก่ผู้รับหลักประกัน และเจ้าหนี้อื่นที่มีบุริมสิทธิเหนือทรัพย์สินที่เป็นหลักประกัน และ

(4) ชำระหนี้ให้กับเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาอื่นที่มาขอเฉลี่ยทรัพย์สิน ทั้งนี้ ในกรณีที่มีเงินเหลือให้คืนแก่ผู้ให้หลักประกันไป ส่วนเงินที่ยังขาดสามารถเรียกเพิ่มจากลูกหนี้ได้ แต่ไม่สามารถเรียกเพิ่มได้จากผู้ให้หลักประกันที่ไม่ได้เป็นลูกหนี้ชั้นต้นค่ะ

ส่วนในกรณีที่บังคับหลักประกันโดยเอาทรัพย์สินหลุดเป็นสิทธินั้น เมื่อผู้รับหลักประกันบังคับหลักประกันโดยเอาทรัพย์สินหลุดเป็นสิทธิแล้ว ให้ถือว่าหนี้ประธานและหนี้ตามสัญญาหลักประกันทางธุรกิจระงับสิ้นไป

ฉบับหน้าเราจะศึกษากันในเรื่องของการบังคับหลักประกันที่เป็นกิจการกันต่อค่ะ

---------------------------

กุลชา จรุงกิจอนันต์

บริษัท อัลเลน แอนด์ โอเวอรี่ (ประเทศไทยจำกัด

บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียนอันเป็นความเห็นในทางวิชาการ และไม่ใช่ความเห็นของบริษัท อัลเลน แอนด์ โอเวอรี่ (ประเทศไทย) จำกัด ที่ผู้เขียนทำงานอยู่