'ชนชั้นกลาง' มีเงินแต่ไม่ใช้เงิน

'ชนชั้นกลาง' มีเงินแต่ไม่ใช้เงิน

ผ่าน “ครึ่งปีแรก” ไปเรียบร้อย สำหรับภาวะเศรษฐกิจไทย ที่ต้องบอกว่า ยังอยู่ในภาวะ “ชะลอตัว”

 จนสำนักประเมินเศรษฐกิจหลายค่าย ออกมาเปรยว่า อาจจะปรับประมาณการเศรษฐกิจ (จีดีพี) ในปีนี้อีกรอบ 

ล่าสุด สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ออกมาแถลงภาวะเศรษฐกิจเดือนพ.ค. โดยระบุว่า ตัวเลขเศรษฐกิจต่างๆ ขยายตัวลดลงเกือบทุกรายการ มีเพียง ภาคท่องเที่ยว ที่ยังพอจะเป็นความหวังในการผลักดันจีดีพีปีนี้ ทำให้เตรียมปรับลดประมาณการจีดีพีในปีนี้ ลงจากเดิม 3.7% 

นั้นคือภาพใหญ่ของเศรษฐกิจ ที่มีสภาพไม่ต่างจาก ภาคธุรกิจที่แท้จริง” หรือ เรียล เซ็กเตอร์ ที่บรรดานักธุรกิจต่างออกมาบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า สถานการณ์ “กำลังซื้อ” ในช่วงครึ่งปีแรก ยังคงอยู่ในอาการ “น่าเป็นห่วง" 

และทำท่าว่า อาจจะ “ซึมยาว” ไปทั้งปี เพราะครึ่งปีหลัง มองไปยังไม่เห็นปัจจัยบวกชัด  

เหตุใด “เศรษฐกิจไทย” จึงเข็นไม่ขึ้น !

ส่วนหลักเกิดจากตัวแปร เศรษฐกิจโลก ที่ยังอยู่ในภาวะชะลอตัว บวกกับ “ขีดความสามารถในการแข่งขัน” ของสินค้าไทยบางประเภท ไล่ไม่ทันกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี รวมถึงเทรนด์การตลาด จึงส่งผลกระทบต่อ “ภาคส่งออก” ที่ยังคงเป็น “ตัวหลัก” ในการขับเคลื่อนจีดีพีไทย ในสัดส่วน 60-70% 

โดยตัวเลขส่งออกในเดือน พ.ค. ยังคงฟ้องความวิกฤติ ด้วยมูลค่า “ติดลบ” ต่อเนื่อง โดยมีมูลค่าการส่งออก 18,428.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ “ลดลง 5.01% ” เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ติดลบต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 ของปีนี้ เมื่อแปลงเป็นเงินบาท พบว่ามีมูลค่า 592,524 ล้านบาท  “ลดลง 4.61%” 

ส่วนตัวเลขส่งออกในในช่วง 5 เดือน (ม.ค.-พ.ค.) พบว่า มีมูลค่า 88,694.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ “ลดลง 4.2%” เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แปลงเป็นเงินบาทมีีมูลค่า 2.873 ล้านล้านบาท “ลดลง 3.75%

ขณะที่ตัวแปรในประเทศ ภาคธุรกิจน้อย-ใหญ่ ยังคงในภาวะ “รีรอ” (wait and see) ไม่กล้าใช้ ไม่กล้าลงทุน กอดเงินไว้ในแบงก์ แม้อัตราดอกเบี้ยจะต่ำเตี้ย เนื่องจากโมเมนต์ของการ ขาดความเชื่อมั่น” ต่อรายได้ในอนาคต ยังมีสูง ! 

โดยเฉพาะกำลังซื้อของ ชนชั้นกลาง  ที่ไม่ใช่ไม่มีเงิน แต่ “กลัวจน” จึงขอเก็บเงินนอนไว้ในกระเป๋า 

สังเกตง่ายๆ จากแคมเปญ-กิจกรรมการตลาด ของห้างสรรพสินค้าน้อยใหญ่ ที่อัดแคมเปญกันคักคัดอย่างยิ่ง และคาดว่า จะมีต่อเนื่องไปจนถึงสิ้นปี เรียกว่า กระหน่ำ “ลด แลก แจก แถม” เรียกว่าเป็น “มหกรรมลดราคาสินค้า” เพื่อระบายสต็อก ไม่เว้นสินค้าที่จำเป็นต้องใช้ในการดำรงชีวิต อย่าง “คอนซูเมอร์ โปรดักส์”  

แต่กระนั้น “เป้าหมาย”ยอดขายในปีนี้ ยังเป็นโจทย์ที่ท้าทายเหล่าผู้ผลิตสินค้า และร้านค้าปลีก ไม่น้อย 

เพราะลดราคาก็ยังไม่ซื้อ ห้างสรรพสินค้าหลายแห่ง อยู่ในอาการเงียบเหงา เฝ้ารอลูกค้า  

ขณะที่ชนชั้นล่าง ก็กำลังเผชิญ “ภาวะหนี้ท่วม” เพราะเมื่อรายได้น้อยลงจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว สวนทางกับค่าครองชีพที่พุ่งขึ้น พวกเขาจึงมีทางเลือกไม่มากนักที่จะหาทางรอด หนึ่งในนั้นค่อการ “ก่อหนี้เพิ่ม” จนทำให้สัดส่วนหนี้ครัวเรือนพุ่งสูงขึ้น

ทำอย่างไร จึงจะเรียกความเชื่อมั่นคืนกลับมา ... ที่ยังเป็นกลุ่มคนที่มีกำลังซื้อ แต่ไม่ซื้อ

นี่คือ สิ่งที่รัฐกำลัง “กุมขยับ” ยังคิดไม่ตกจากปัญหาสารพัน

แม้ว่าจะเร่งเดินหน้าโครงการขนาดใหญ่ (เมกะโปรเจค) แต่เนื่องจากต้องดำเนินการด้วยความระมัดระวัง เพราะมูลค่าเงินลงทุนพูดกันที่ “แสนล้านบาท”  

สปีดในการดำเนินการจึงยังไม่ได้อย่างใจ ตราบใดที่โครงการยังไม่ตอกเสาเข็ม  เอกชนคงไม่ลงทุนตาม 

คิดแล้ว น่าปวดหัวแทน