คดีความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่:ควรอยู่ในเขตอำนาจศาลใด

คดีความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่:ควรอยู่ในเขตอำนาจศาลใด

การฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนจากผู้กระทำละเมิด เป็นไปตามบทบัญญัติของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 2 ลักษณะ 9

ละเมิด เป็นความรับผิดทางแพ่งเมื่อมีข้อพิพาท จึงต้องฟ้องต่อศาลบุติธรรม ในกรณีที่ผู้ทำละเมิดเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ หากมีการฟ้องก็จะฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนจากเจ้าหน้าที่ผู้กระทำละเมิดโดยตรง ไม่ต้องคำนึงว่าเป็นการกระทำตามหน้าที่หรือไม่

การที่เจ้าหน้าที่ของรัฐที่ดำเนินกิจการต่างๆ ของหน่วยงานของรัฐ อันเป็นกระทำตามหน้าที่ และถูกฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทน ซึ่งบางกรณีมีวงเงินที่สูงมาก เป็นการบั่นทอนการทำงานของเจ้าหน้าที่ ทำให้บางกรณีไม่กล้าตัดสินใจ เพราะเกรงว่าอาจถูกฟ้องเรียกค่าเสียหายได้ ทำให้เกิดผลกระทบต่อการปฏิบัติงานของหน่วยงานของรัฐไม่น้อย

ในปี 2539 จึงได้มีการตราพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 ออกใช้บังคับ เพื่อคุ้มครองการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานตามหน้าที่ โดยมีหลักการสำคัญคือ

กำหนดให้เจ้าหน้าที่ต้องรับผิดทางละเมิด ในการปฏิบัติงานตามหน้าที่เฉพาะเมื่อเป็นการจงใจกระทำเพื่อการเฉพาะตัว หรือจงใจให้เกิดความเสียหายหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงเท่านั้น เมื่อมีพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มีผลใช้บังคับ การฟ้องร้องเรียกค่าสินไหมทดแทนจากการทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ของรัฐที่กระทำตามตามหน้าที่ ต้องเป็นไปตามพระราชบัญญัติดังกล่าว ซึ่งมีหลักการที่สำคัญคือ

หากเจ้าหน้าที่เป็นผู้ทำละเมิด อันเนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่ หน่วยงานของรัฐต้องเป็นผู้รับผิดต่อผู้เสียหายในผลแห่งละเมิดที่เจ้าหน้าที่ของหน่วยงานของรัฐนั้นได้กระทำไป ผู้เสียหายต้องฟ้องหน่วยงานของรัฐ จะฟ้องเจ้าหน้าที่ไม่ได้ แต่ถ้าไม่ใช่การปฏิบัติหน้าที่ ผู้เสียหายอาจฟ้องเจ้าหน้าที่ได้โดยตรง จะฟ้องหน่วยงานของรัฐไม่ได้           

หลักการที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ เขตอำนาจศาล อันเนื่องมาจากการดำเนินการเพื่อให้มีการการชดใช้ค่าสินไหมทดแทน จากการการทำละเมิดของเจ้าหน้าที่จากการปฏิบัติหน้าที่ หรือการไล่เบี้ยจากเจ้าหน้าที่ผู้ทำละเมิด เข้าข่ายเป็นคำสั่งทางปกครอง เมื่อต้องมีการฟ้องคดี คดีส่วนมากจะอยู่ในเขตอำนาจของศาลปกครอง มีกรณีที่เป็นคดีที่อยู่ในเขตอำนาจของศาลยุติธรรม เฉพาะกรณีที่การทำละเมิดของเจ้าหน้าที่เกิดจากการปฏิบัติงาน อันไม่เกี่ยวกับการใช้อำนาจตามกฎหมาย ซึ่งไม่อยู่ในเขตอำนาจของศาลปกครอง

อย่างไรก็ตาม จากการใช้บังคับพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 ช่วงที่ผ่านมา มีปัญหาในทางปฏิบัติ และมีความไม่ชัดเจนในหลายประเด็น รัฐบาลจึงได้ยกร่างพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ฉบับใหม่ เพื่อใช้แทนพระราชบัญญัติฉบับเดิมที่จะถูกยกเลิก ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ตรวจพิจารณาเสร็จแล้ว สาระที่สำคัญของร่างที่ผ่านการตรวจพิจารณาคือ

คำนิยามของคำว่า “เจ้าหน้าที่” มีการขยายความเพิ่มเติม ให้หมายความรวมถึงลูกจ้างทุกประเภทที่หน่วยงานของรัฐจ้างให้ปฏิบัติงานด้วย คำนิยาม “หน่วยงานของรัฐ” ขยายความกว้างมากขึ้น โดยขยายความให้หมายความถึง องค์กรตามรัฐธรรมนูญ องค์การมหาชน มหาวิทยาลัยหรือสถาบันอุดมศึกษา ซึ่งไม่เป็นส่วนราชการ และอยู่ในกำกับของรัฐ องค์กรควบคุมการประกอบวิชาชีพ และหมายความรวมถึงหน่วยงานหรือองค์กรที่ใช้อำนาจรัฐทำนองเดียวกันด้วย

สำหรับบทบัญญัติส่วนที่เป็นเนื้อหา ส่วนใหญ่ยังคงหลักการเดิม เช่น มาตรา 6 ถึง มาตรา 12 หลักการคล้ายบทบัญญัติตามมาตรา 5 มาตรา 6 มาตรา 7 มาตรา 8 มาตรา 10 ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน

มาตรา 13 เป็นบทบัญญัติในกรณีที่การละเมิดในการปฏิบัติหน้าที่ เกิดจากการจงใจหรือทุจริตจะไม่ได้รับประโยชน์จากบทบัญญัติมาตรา 10 มาตรา 11 มาตรา 12 คือสามารถหักส่วนแห่งความรับผิดที่หน่วยงานบกพร่อง การพิจารณาระดับความร้ายแรงแห่งการกระทำและความเป็นธรรมแก่กรณี และข้อยกเว้นเรื่องมิให้ถือเป็นลูกหนี้ร่วม ในการกำหนดความรับผิด

มาตรา 14 คล้ายมาตรา 11 ของฉบับเดิม แต่ระบุเพิ่มเติมไว้ชัดเจนว่า คำวินิจฉัยของหน่วยงานของรัฐเรื่องการจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้เอกชน ไม่ถือว่าเป็นคำสั่งทางปกครอง

วิธิปฏิบัติของหน่วยงานของรัฐ อันเกี่ยวกับการสอบสวนหาผู้รับผิดทางละเมิดและกำหนดความรับผิด ได้บัญญัติไว้ในมาตรา 17 ถึงมาตรา 18 ที่สำคัญคือ ตามมาตรา18 บัญญัติให้การกำหนดหลักเกณฑ์ในการพิจารณาหาตัวผู้รับผิดทางละเมิดให้ทำเป็นกฎกระทรวงตรา 18 แทนการให้คณะรัฐมนตรีเป็นผู้กำหนดเป็นระเบียบตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายเดิม 

มาตรา 19 ให้กระทรวงการคลังมีอำนาจออกประกาศกำหนดหลักเกณฑ์ เช่น การผ่อนชำระค่าสินไหมทดแทน การชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้เอกชน เป็นต้น

มาตรา 20 เมื่อสอบสวนจนรู้ตัวเจ้าหน้าที่ที่ต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน และจำนวนค่าสินไหมทดแทนแล้ว ให้หน่วยงานผู้เสียหายมีหนังสือแจ้งให้เจ้าหน้าที่ชำระค่าสินไหมในเวลาที่กำหนด ถ้าชำระครบ ให้ยุติเรื่อง ถ้าไม่ชำระหรือชำระไม่ครบ ให้หน่วยงานของรัฐฟ้องคดีต่อศาลยุติธรรม

หมวด 3 เป็นเรื่องการฟ้องคดี ตามที่บัญญัติในมาตรา 22 ถึงมาตรา 26 หลักการที่สำคัญคือ ศาลที่มีเขตอำนาจพิจารณาคคีความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ ไม่ว่าจะเป็นกรณีเอกชนฟ้องหน่วยงานของรัฐ หรือหน่วยงานของรัฐฟ้องเจ้าหน้าที่ เป็นคดีที่อยู่ในเขตอำนาจของศาลยุติธรรมเท่านั้น

หมวด 4 เป็นเรื่องอายุความตามที่บัญญัติในมาตรา 29 ถึง 31 โดยสรุปคือ การเรียกค่าสินไหมทดแทนจากเจ้าหน้าที่จากมูลละเมิด กรณีที่หน่วยงานของรัฐเป็นผู้เสียหายมีกำหนดสองปี นับแต่รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวเจ้าหน้าที่ผู้รับผิด ถ้ามูลละเมิดเป็นความผิดทางอาญา และอายุความทางอาญายาวกว่า ให้ถือตามอายุความทางอาญา และอายุความตามมาตรานี้ใช้บังคับแก่เอกชน ที่มีส่วนร่วมรับผิดกับเจ้าหน้าที่ที่ทำละเมิดด้วย

บทสรุป หากร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้มีผลใช้บังคับ หลักการสำคัญที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจนคือ คดีความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ทั้งปวง จะเป็นคดีที่อยู่ในเขตอำนาจของศาลยุติธรรม และอายุความของคดีแม้เป็นคดีที่มีเอกชนร่วมรับผิดกับเจ้าหน้าที่ด้วย จะมีอายุความสองปีทุกคดี