โทษใคร จะหนักกว่ากัน

โทษใคร จะหนักกว่ากัน

ช่วงนี้ ใกล้ฤดูกาลรับปริญญาบัตร ของสถาบันอุดมศึกษาต่างๆ ทำให้ผมนึกถึงเรื่องราวเกี่ยวกับการศึกษา 2 เรื่อง มาเล่าสู่กันฟัง

เรื่องแรก เป็นเด็กหนุ่มคนหนึ่ง ซึ่งมีโอกาสได้เข้าเรียนในมหาวิทยาลัยดังระดับโลกหลายแห่ง เช่น Stanford, Yale, U.C. Berkeley, Brown และเลยไปจนถึงมหาวิทยาลัยดังของแคนาดาอย่าง University of British Columbia และ McGill University

ที่สำคัญก็คือเด็กหนุ่มผู้มีนามว่า กิลลอม ดูมัส วัย 28 ปีคนนี้ ไม่ต้องจ่ายเงินค่าลงทะเบียน หรือค่าใช้จ่ายใดๆให้แก่มหาวิทยาลัยเลย นอกจากค่าเช่าอพาร์ตเม้นต์ใกล้ๆมหาวิทยาลัย และค่าอาหาร ซึ่งเขาต้องจ่ายตามปกติอยู่แล้ว เท่านั้นเอง

ในห้องเรียน เขาถามคำถามอย่างมีประเด็นเฉียบคม จนทำให้อาจารย์หลายคนมองว่าเขาเป็นนักเรียนดีเด่นในชั้นเรียน เพื่อนนักศึกษาด้วยกันก็ทึ่งในเนื้อหาสาระที่เขาถาม พอยามค่ำคืนนักศึกษามีงานปาร์ตี้ หรือชวนกันไปดื่มที่ผับบาร์ เขาก็ไปด้วย สนุกสนานแบบนักศึกษาทั่วไป 

คุณอาจคิดว่า กิลลอม เป็นนักศึกษาที่เรียนเก่ง จนได้ทุนเรียนฟรีจากมหาวิทยาลัยระดับโลกเหล่านี้ แต่ความจริงไม่ใช่เช่นนั้นครับ ที่กิลลอม ได้เรียนฟรี ก็เพราะเขาเดินเข้าไปเรียนเฉยๆ ไม่เคยสมัครเข้าเรียน และไม่เคยมีสถานภาพเป็นนักศึกษาที่มหาวิทยาลัยเหล่านั้นเลย!

เขาวนเวียนทำเช่นนี้เป็นเวลานานแรมปี จากปี 2008-2012 โดยบินไปทั่วประเทศ และข้ามประเทศ เพื่อไปเรียนในห้องเรียนของมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงที่ผมกล่าวถึงข้างต้น เขาเช่าห้องพักอาศัยใกล้มหาวิทยาลัย และในระหว่างเข้าเรียนที่นั่น ก็ไม่เคยมีใครรู้ความจริงเลยว่าเขาไม่ได้เป็นนักศึกษา ไม่ว่าจะเป็นอาจารย์ผู้สอน หรือเพื่อนนักศึกษาร่วมชั้นเรียนด้วยกัน เพราะอาจารย์ก็คิดว่าเขาเป็นนักศึกษาคนหนึ่ง ส่วนเพื่อนนักศึกษาด้วยกัน ก็คิดว่าเขาเป็นเพื่อนร่วมชั้นเรียน เพราะกิลลอม ทำตัวได้กลมกลืนอย่างมาก

หลังถูกจับได้ กิลลอม ให้สัมภาษณ์ว่าที่เขาทำได้ โดยไม่มีใครสงสัยเลย ก็เพราะเขาสนใจเนื้อหาของการเรียนจริงๆ จนทำให้อาจารย์ผู้สอนประทับใจและรักเขาด้วยซ้ำไป สิ่งหนึ่งที่เขาพูดซึ่งอาจจะทำให้บางคนซึมเศร้าได้พอสมควรก็คือ “นักศึกษาส่วนใหญ่ เขาไม่สนใจการเรียนกันมากนักหรอก เขาก็มาเรียนในชั้น เพื่อให้สอบผ่านและเพื่อให้ได้ปริญญาเท่านั้นเอง.....” แล้วกล่าวต่อว่า “...แต่ผมนั้นเข้าเรียนและตั้งใจเรียนจริงจัง ก็เลยกลายเป็นที่รักใคร่ของอาจารย์ เป็นนักศึกษาดีเด่นของห้อง ไม่เคยมีใครสงสัย บางทีผมก็ติวพวกเขาด้วยซ้ำไป”

จบเรื่องราวของกิลลอมไว้แค่นี้ก่อน  คราวนี้ผมจะเล่าเรื่องที่สอง ซึ่งเป็นเรื่องที่ อาจารย์ระดับดอกเตอร์ และ อดีตเจ้าหน้าที่ เอฟ บี ไอ ได้ร่วมกันเขียนหนังสือเล่มหนึ่งขึ้นมา ได้รับการตีพิมพ์เมื่อปี 2012

ดร. จอห์น แบร์ และ อัลเลน อีเซล เขียนหนังสือชื่อว่า Degree Mills: The Billion Dollar Industry หนังสือเล่มนี้เปิดเผยข้อมูลอันน่าตื่นเต้น ซึ่งผมคิดว่าคุณผู้อ่านจะต้อง ตื่นตาตื่นใจ และอาจเลยเถิดไปจนถึงตื่นตระหนก ก็ได้ เมื่อได้ทราบข้อมูลต่อไปนี้

แบร์ กับ อีเซล ตั้งคำถามว่า เราเคยรู้ไหมว่า หมอ ทนายความ วิศวกร นักบริหาร อาจารย์ ฯลฯ ที่ให้บริการวิชาชีพแก่เราตลอดมานั้น ได้เรียนสำเร็จวิชาแพทย์ วิชากฎหมาย วิชาวิศวกรรม วิชาบริหาร ฯลฯ จริงหรือเปล่า เพราะว่าสถิติที่ทั้งสองคนค้นพบก็คือ ทุกปีจะมีผู้ที่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอก จากสหรัฐอเมริกา 90,000 คน ในจำนวนนั้น ที่จบปริญญาเอกจริงๆ มีเพียง 40,000 คน เท่านั้น ที่เหลืออีก 50,000 คน คือพวกที่ “ซื้อ” ปริญญาเอก มาจาก “โรงพิมพ์ปริญญา” ทั้งนั้น.......!

สรุปก็คือ ดอกเตอร์เก๊ มีมากกว่า ดอกเตอร์จริง

นอกจากนี้รัฐสภาอเมริกา ก็เคยออกรายงานว่า มี หมอปลอม ที่ไม่ได้เรียนจบจากโรงเรียนแพทย์จริงๆ แต่ทำมาหากินในวิชาชีพนี้อยู่ในอเมริกา ไม่น้อยกว่า 5,000 คน
ทั้งสองคนเปิดเผยว่าธุรกิจโรงพิมพ์ปริญญานั้นเฟื่องฟูมาก และได้ขยายออกสู่ระดับนานาชาติแล้ว เพราะมีบุคคลจากชาติต่างๆมากมาย ที่เข้ามาแสวงหาปริญญาในอเมริกา เอาไว้เชิดหน้าชูตาตนเอง ธุรกิจนี้จึงมีมูลค่ารวมกันถึงปีละมากกว่า 500 ล้านเหรียญ หรือ 15,000 ล้านบาท ซึ่งโดยหลักสถิติแล้ว คนต่างชาติที่ชุบตัวด้วยวิธีนี้ ผมว่าก็น่าจะมีคนไทยรวมอยู่ด้วย จำนวนหนึ่งนั่นแหละ

ข้อมูลเหล่านี้ อาจทำให้บางคนรู้สึกเหมือนอยากจะเป็นลม แต่ถ้าหากทางการไทย เกิดทำการศึกษาจนได้ข้อมูลที่แท้จริงว่า คนไทยที่บอกว่าสำเร็จปริญญาเอกมาจากที่นั่น ที่นี่ สาขานั้น สาขานี้ จนมีหน้ามีตา ได้รับการยกย่องมาเป็นเวลานานนั้น มีจำนวนเท่าใด และเป็นใครกันบ้าง ที่เป็นของ “ปลอม” เราอาจจะเป็นลมกันจริงๆก็ได้ หรืออย่างน้อย เจ้าตัว ก็อาจจะมีอาการเป็นคนแรก เมื่อความจริงได้ถูกเปิดเผยออกมา

ผมจึงขอกลับไปที่ กิลลอม อีกครั้งหนึ่ง และอยากถามคุณผู้อ่านว่าสิ่งที่กิลลอมได้ทำไปนั้น เขาสมควรได้รับโทษมากน้อยเพียงใดและอย่างไร เขาควรจ่ายเงินค่าเล่าเรียนคืนให้แก่มหาวิทยาลัยเหล่านั้นหรือไม่ ในฐานะที่เขาแอบไปใช้สิทธิในชั้นเรียนทั้งที่ไม่ได้จ่ายค่าหน่วยกิต และควรได้รับโทษอื่นใดอีกหรือไม่ อย่างไรก็ตาม มีข้อน่าคิดว่าเขาเป็นนักเรียนที่มุ่งมั่น และตั้งใจเรียนมากกว่านักเรียนปกติเสียอีก และ ไม่เคยเอาเครดิตจากมหาวิทยาลัยใด ไปอ้างใช้เพื่อประโยชน์ส่วนตัวที่ไหน แถมไม่เคยแอบขอรับปริญญาจากที่ใด เพราะที่เข้าไปเรียน ก็อยากเรียนจริงๆ เรียนเพราะอยากรู้ เท่านั้นเอง

โทษของกิลลอมควรจะหนักเพียงใด เมื่อเทียบกับโทษของ ดอกเตอร์เก๊ ที่ไม่ได้ไปเรียน หรือไม่ได้เรียนอย่างจริงจัง แต่กลับซื้อปริญญามาเชิดชูวิชาชีพ เพิ่มเงินเดือนและความก้าวหน้าให้แก่ตนเอง

ผิดทั้งคู่นั่นแหละครับ แต่โทษของใคร ควรจะหนักกว่ากัน?