มิติทางสังคมและความยั่งยืนของธุรกิจ

 มิติทางสังคมและความยั่งยืนของธุรกิจ

การบริหารจัดการธุรกิจในยุคของการแข่งขันและต้องการขึ้นไปอยู่แถวหน้า ทำให้ปัญหาต่างๆ เกิดขึ้นตามมามากมาย

ไม่ว่าจะเป็นการที่ธุรกิจสร้างผลกระทบต่อสังคม หรือปัญหาด้านจริยธรรม จนเป็นเหตุให้ผู้บริหาร ต้องหันกลับมาให้ความสนใจเกี่ยวกับการพัฒนาความยั่งยืนของธุรกิจ เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาระยะสั้นที่อาจเป็นบ่อนทำลายธุรกิจโดยไม่คาดคิด

ในศาสตร์ของการบริหารธุรกิจสู่ความยั่งยืน ผู้บริหารจำเป็นต้องให้ความสนใจในมิติต่างๆ อย่างน้อย 3 ด้าน ได้แก่ ด้านการกำกับดูแลกิจการที่ดี การดูแลทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมถึง มิติด้านผลกระทบต่อสังคม

มิติด้านสังคมที่ใกล้ชิดกับธุรกิจมากที่สุดจนผู้บริหารบางท่านอาจลืมนึกถึง ได้แก่ การดูแลพนักงานของตนเอง

พนักงานมีส่วนสำคัญในการสร้างธุรกิจให้ประสบความสำเร็จและเติบโต ดังนั้น การเอาใจใส่ดูแลพนักงานให้มีความมุ่งมั่นในการทำงานและมีความมั่นใจต่อสถานภาพในการดำรงชีวิตของตนเองและครอบครัว จึงเป็นเรื่องที่ต้องทำเป็นอันดับต้นๆ หากต้องการให้ธุรกิจสามารถพัฒนาไปสู่ความยั่งยืนได้

แนวทางการปฏิบัติต่อพนักงานเพื่อให้เกิดความรักและเชื่อมั่นในธุรกิจ พื้นฐานต้องเริ่มจากการเคารพในสิทธิมนุษยชนของพนักงาน

เรื่องของสิทธิมนุษยชน เป็นเรื่องที่นานาชาติให้ความสนใจจนมีการประกาศ “ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน” ขึ้น โดยองค์การแรงงานโลก ซึ่งเป็นองค์กรหนึ่งภายใต้สหประขาชาติ เพื่อให้องค์กรต่างๆ ทั้งองค์กรของรัฐและองค์กรภาคเอกชน ได้นำมาใช้เป็นต้นแบบในการกำหนดกฎเกณฑ์และระเบียบในการทำงานขององค์กรหรือของประเทศ

สำหรับประเทศไทย ก็มีกฎหมายที่พยายามควบคุมการใช้แรงงานในธุรกิจให้เป็นไปตามกรอบของปฏิญญานี้ เช่น พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน และพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์

ดังนั้น เป้าหมายแรกของธุรกิจที่ต้องการพัฒนาไปสู่ความยั่งยืน จะต้องปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมายแรงงานอย่างเคร่งครัด และมีการปรับปรุงให้มีการคุ้มครองพนักงาน หรือให้สวัสดิการ การอบรมเพิ่มพูนความรู้ความสามารถในการปฏิบัติงานให้ดียิ่งขึ้นไปกว่าระดับที่กฎหมายกำหนด

เพื่อสร้างขวัญและกำลังใจในการทำงานและการฝากผีฝากไข้ให้กับบริษัทอย่างยั่งยืน เช่นกัน

ตัวอย่างในเชิงการปฏิบัติในด้านระเบียบปฏิบัติงาน เช่น การให้ความเสมอภาคในการก้าวหน้าในการปฏิบัติงาน และได้ให้ค่าตอบแทนที่เท่าเทียมกันระหว่างชายและหญิง การให้สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นที่จะพัฒนางานในทางที่เป็นไปได้และเหมาะสม และการเลิกจ้างงานที่ยุติธรรม เป็นต้น

ตัวอย่างในด้านการส่งเสริมและพัฒนาพนักงานให้มีความสามารถและมีโอกาสได้รับผลตอบแทนที่ดีขึ้น เช่น การมีระบบการประเมินผลงานและขึ้นค่าแรงที่เป็นธรรม ชัดเจน โปร่งใน ตรวจสอบได้ การจัดหาทรัพยากรและงบประมาณที่เพียงพอในการพัฒนาพนักงาน การมีกระบวนการสรรหาพนักงานที่มีความสามารถเข้ามาร่วมงาน และมีระบบการรักษาพนักงานที่มีคุณค่าให้อยู่กับบริษัทได้อย่างมั่นคง

นอกจากนั้น ควรมีระบบที่คอยตรวจวัดความพึงพอใจ และรับฟังความคิดเห็นของพนักงาน เช่น การกล่องรับความคิดเห็น การสำรวจความพึงพอใจ หรือการประชุมที่เปิดโอกาสในพนักงานได้แสดงความคิดเห็นในเรื่องต่างๆ เป็นต้น

นอกจากเรื่องการดูแลพนักงานซึ่งถือว่าเป็นสังคมที่ใกล้ชิดที่สุดของธุรกิจแล้ว การดูแลชุมชนแวดล้อม และสังคมทั่วไปในวงกว้าง ก็เป็นสิ่งที่ธุรกิจและผู้บริหารควรให้การดูแล

ซึ่งหมายถึง การช่วยเหลือสังคมและชุมชนในรูปแบบต่างๆ เช่น บริจาคทรัพย์หรือสิ่งของเพื่อช่วยพัฒนาความเป็นอยู่ของชุมชนให้ดีขึ้น ช่วยพัฒนาเยาวชนให้ได้รับการศึกษา หรือบูรณะศาสนาที่เป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของคนในชุมชน

ในการบริหารจัดการสมัยใหม่ อาจให้ความสนใจเพิ่มไปที่ การที่ธุรกิจนำเสนอสินค้าหรือการบริการที่จะช่วยเสริมสร้างสังคมให้ดีขึ้น เช่น สถาบันการเงินจัดหาบริการทางการเงินที่คนด้อยโอกาส สามารถเข้าถึงแหล่งสนับสนุนทางการเงินได้ง่ายขึ้น การพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

ซึ่งการดำเนินการธุรกิจที่จุนเจือสังคมในรูปแบบนี้ ในขณะที่สังคมได้รับประโยชน์เพิ่มขึ้น ธุรกิจก็สามารถสร้างยอดขายได้เพิ่มขึ้นด้วย ในลักษณะของการได้รับผลตอบแทนร่วมกัน ซึ่งจะนำความยั่งยืนต่อธุรกิจได้ในระยะยาว
นอกจากการนำเสนอผลิตภัณฑ์หรือการบริการที่ให้ประโยชน์ต่อสังคมแล้ว การใช้ธุรกิจเป็นสื่อกลางเพื่อให้สังคมได้รับประโยชน์ขึ้นในวงกว้าง ก็ถือเป็นวิธีการบริหารจัดการสู่ความยั่งยืนได้อีกทางหนึ่ง

โดยทั่วไปแล้ว ธุรกิจหนึ่งๆ มักจะมีคู่ค้า และลูกค้าร่วมอยู่ในกระบวนการจำนวนมาก การเผยแพร่แนวคิดหรือชัดชวนให้คู่ค้าและลูกค้าที่ทำธุรกิจร่วมกันให้ได้รับทราบวิธีการพัฒนาธุรกิจสู่ความยั่งยืน ก็จะช่วยทำให้แนวคิดดีๆ นี้กระจายต่อไปเป็นวงกว้างได้อย่างรวดเร็ว และทำให้สังคมได้รับประโยชน์ได้เพิ่มมากขึ้น

ดังนั้น ผู้บริหารที่ต้องการพัฒนาธุรกิจไปสู่ความยั่งยืน จึงไม่ควรที่จะมองข้ามมิติเหล่านี้

เพราะชุมชนและสังคม เป็นปัจจัยสำคัญต่อความยั่งยืนและเติบโตของธุรกิจ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ หากธุรกิจแสดงความห่วงใยดูแลสังคม สังคมก็ย่อมที่จะอุดหนุนจุนเจือให้ธุรกิจดำเนินไปได้เช่นกัน