ซินเจียง : ดินแดนแห่งมนต์ขลังบนเส้นทางสายไหม

ซินเจียง : ดินแดนแห่งมนต์ขลังบนเส้นทางสายไหม

ซินเจียง สำหรับคนไทยทั่วไปอาจจะดูเป็นดินแดนอันแสนไกล ด้วยทำเลที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ที่ห่างไกลจากไทย

และบางคนมองว่ายังมีความลึกลับยากจะเข้าถึงข้อมูลสภาพความเป็นอยู่ วัฒนธรรมและวิถีชีวิตของชาวท้องถิ่น โดยเฉพาะชาวจีนมุสลิม ที่อาศัยอยู่ในดินแดนสุดพรมแดนทางตะวันตกเฉียงเหนือของจีนแห่งนี้

หากแต่ในความเป็นจริงแล้ว ซินเจียงไม่ได้อยู่ไกลโพ้นหรือมีความลึกลับอย่างที่เราคิดนะคะ ช่วงวันที่ 23-30 มิถุนายนนี้ ดิฉันจะนำคณะของไทยที่มีทั้งนักวิจัยจากศูนย์วิจัยยุทธศาสตร์ไทย-จีน แห่งสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และสื่อมวลชนของไทยหลายสำนัก เดินทางบินไปลงพื้นที่ในซินเจียง เพื่อเรียนรู้พัฒนาการทางเศรษฐกิจและสัมผัสสภาพชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนในซินเจียง ตามคำเชิญจากสถานทูตจีนในประเทศไทยร่วมกับรัฐบาลซินเจียง

ดิฉันเองได้เคยไปลงพื้นที่สำรวจเส้นทางสายไหมในซินเจียงมาแล้วเมื่อหลายปีก่อน มาครั้งนี้ถือเป็นโอกาสอันดีที่ดิฉันและ ดร.หลี่ เหรินเหลียง ผู้เขียนร่วมในบทความนี้ จะได้เดินทางกลับไปเยือนดินแดนแห่งมนต์ขลังที่น่าค้นหาแห่งนี้ของจีนอีกครั้งหนึ่ง

มนต์เสน่ห์ของดินแดนจีนตะวันตกแห่งนี้ อยู่ที่ความหลากหลายของธรรมชาติที่สวยงาม และความหลากหลายทางวัฒนธรรม

ด้วยเนื้อที่มากถึง 1 ใน 6 ของพื้นที่ทั้งหมดในประเทศจีน ซินเจียงจึงครอบคลุมพื้นที่กว้างใหญ่ไพศาล มีทั้งเทือกเขาสูงและทะเลทราย หลายแห่งกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่สวยงาม มีทั้งทะเลสาบบนภูเขาสูง “ทะเลสาบเทียนซานเทียนฉือ” มีทั้งทะเลสาบที่มีน้ำใสสีเขียวมรกต “ทะเลสาบคานาสือ” ซึ่งได้รับฉายาว่า เป็นดินแดนสวรรค์บนโลกมนุษย์ มีทั้งระเบียงธรรมชาติสีเขียวของไร่องุ่นที่ “ถูลู่ฟาน” มีทั้งทุ่งหญ้าบนที่ราบสูงที่ “ทุ่งหญ้านาราถี”

สำหรับความงดงามทางธรรมชาติในซินเจียงที่ดิฉันเองประทับใจมิรู้ลืม คือ “ภูเขาเปลวเพลิง” ซึ่งรู้จักกันดีในหมู่นักอ่านนิยายเรื่องไซอิ๋ว ด้วยความอัศจรรย์ทางธรณีวิทยา ทำให้เทือกเขาแห่งนี้มีสีชมพูแดงและดูเสมือนเป็นเปลวเพลิงที่กำลังลุกโชน นอกจากนี้ ยังมีเนินทะเลทราย “หมิงซาซาน” ที่ธรรมชาติสรรสร้างให้มีสีสันมากถึง 5 สี และ “ทะเลสาบพระจันทร์เสี้ยว” อยู่กลางทะเลทราย แต่น่าอัศจรรย์ที่ไม่มีเคยโดนทรายพัดมาทับถม ให้น้ำในทะเลสาบต้องเหือดแห้ง ทั้งๆ ที่อยู่กลางทะเลทรายที่แสนแห้งแล้ง เป็นต้น

ซินเจียง ยังมีมนต์ขลังของอดีตที่เคยเป็นศูนย์กลางเส้นทางสายไหม ในประวัติศาสตร์ที่รู้จักกันทั่วโลก ทั้งเส้นทางแพรไหมสายใต้ สายเหนือ และสายกลาง ด้วยระยะทางยาว 5,000 กว่ากิโลเมตร บางช่วงยังคงมีสิ่งก่อสร้างที่หลงเหลือให้พบเห็น เช่น เมืองโบราณเจียวเหอ หรือเมืองโบราณเกาชาง ตลอดจนมีถ้ำแกะสลักพระพุทธรูปนับพันองค์ให้เข้าไปค้นหา ล่าสุด เมื่อปี 2014 องค์กรยูเนสโกได้ประกาศขึ้นทะเบียนมรดกโลกทางวัฒนธรรมให้กับเส้นทางสายไหมในซินเจียงรวม 6 รายการ 

ความเป็นดินแดนแห่งมนต์ขลังของซินเจียง ยังมีส่วนมาจากความหลากหลายด้านชนชาติ ภาษาและวัฒนธรรม จากประชากรทั้งหมดราว 19.6 กว่าล้านคน มีสัดส่วนของชนกลุ่มน้อยมากถึงร้อยละ 60 โดยเฉพาะชนกลุ่มน้อยชาวอุยกูร์ มีจำนวนมากถึง 9.6 ล้านคน ในขณะที่ ชาวจีนฮั่น มีอยู่ราว 8.2 ล้านคน นอกจากนั้น เป็นชาวคาซัค ชาวหุย ชาวคีร์กิซ และชาวมองโกล เป็นต้น 

สำหรับภาษาและตัวอักษรที่ใช้อยู่ในซินเจียงมีมากถึง 10 ภาษา ในทางราชการมีนโยบายส่งเสริมการเรียนการสอนโดยใช้ 2 ภาษา คือ ภาษาจีนกลางและภาษาของชนกลุ่มน้อย หากเราเปิดดูสถานีโทรทัศน์ท้องถิ่นของซินเจียง จะได้ยินถึง 4 ภาษา ได้แก่ ภาษาจีนกลาง ภาษาอุยกูร์ ภาษาคาซัค และภาษามองโกลเป็นต้น

นอกจากนี้ ซินเจียงยังมีความหลากหลายด้านศาสนา แม้ว่าประชากรส่วนใหญ่จะนับถือศาสนาอิสลาม แต่ก็ยังมีศาสนาสำคัญอื่นๆ เช่น ศาสนาพุทธ ลัทธิเต๋า ศาสนาคริสต์ เป็นต้น

ในแง่การปกครอง รัฐบาลกลางของจีนได้มีนโยบายพิเศษสำหรับเขตปกครองชนกลุ่มน้อย ซึ่งในฐานะ “เขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์(Xinjiang Uygur Autonomous Region) ประชากรที่เป็นชนกลุ่มน้อยในซินเจียง จึงได้รับสิทธิพิเศษต่างๆ เช่น สิทธิประโยชน์พิเศษสำหรับนักเรียนชนกลุ่มน้อย หากจะเข้าศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัย ก็จะได้รับคะแนนเพิ่มบวกให้เป็นพิเศษ และในกรณีหากมีผลคะแนนสอบเท่ากัน จะรับนักเรียนชนกลุ่มน้อยเป็นกรณีพิเศษก่อน เป็นต้น รวมไปถึงการทุ่มเทงบประมาณเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบคมนาคมขนส่ง เพื่อเชื่อมโยงและกระจายความเจริญทางเศรษฐกิจไปให้มากขึ้น

จุดเด่นอีกด้านที่สำคัญของซินเจียง คือ นอกเหนือจากการมีเนื้อที่มากที่สุดในจีนแล้ว ยังมีพรมแดนที่ยาวที่สุดในประเทศจีนกว่า 5,600 กิโลเมตร และอยู่ติดกับประเทศเพื่อนบ้านมากที่สุดถึง 8 ประเทศ ได้แก่ มองโกเลีย รัสเซีย คาซัคสถาน คีร์กีซสถาน ทาจิกิสถาน อัฟกานิสถาน ปากีสถาน และอินเดีย

 ซินเจียงจึงมีความสำคัญเชิงยุทธศาสตร์ เป็นดินแดนในจีนที่มีขนาดพื้นที่ที่ใหญ่ที่สุด มีพรมแดนติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้านมากที่สุด และมีชายแดนพรมแดนยาวที่สุดของจีน และการเป็นจุดสำคัญบนเส้นทางสายไหมโบราณในขณะนี้  จึงได้ถูกผลักดันโดยรัฐบาลของสีจิ้นผิงให้เป็นจุดสำคัญเชื่อมโยงกับ เอเชียกลาง และยุโรปในยุค New Silk Road     

อย่างไรก็ดี แม้ว่าซินเจียงจะเป็นดินแดนแห่งมนต์เสน่ห์ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า ดินแดนแห่งนี้ยังคงมีปัญหาและจุดอ่อนในหลายด้าน โดยเฉพาะจุดอ่อนจากความห่างไกลจากชายฝั่งทะเล ในขณะที่มีพื้นที่กว้างใหญ่ หากแต่มีประชากรไม่มาก และยังคงมีรายได้ต่ำ จึงไม่สามารถจูงใจให้มีการค้าการลงทุนมากเท่าที่รัฐบาลคาดหวังหรือผลักดัน ที่สำคัญด้วยความหลากหลายทางด้านชนชาติ ทำให้เกิดความไม่สงบระหว่างชนชาติที่เกิดขึ้น ดังที่ปรากฏเป็นข่าวในหนังสือพิมพ์ 

รัฐบาลกลางของจีนตระหนักถึงปัญหาและจุดอ่อนเหล่านั้น จึงได้พยายามที่จะกำหนดยุทธศาสตร์หลายด้านเพื่อการพัฒนาและยกระดับคุณภาพชีวิตของซินเจียง รวมทั้งการผลักดันยุทธศาสตร์ New Silk Road เพื่อจะเปลี่ยนจุดอ่อนให้กลายเป็นจุดแข็ง บางส่วนเริ่มเห็นผลเป็นรูปธรรมโดยเฉพาะด้านทางกายภาพ ในขณะนี้ แม้ว่าซินเจียงจะอยู่ห่างไกลจากชายฝั่งทะเล แต่ก็สามารถเชื่อมโยงผ่านเส้นทางรถไฟไปเชื่อมต่อกับเอเชียกลางและยุโรป และล่าสุดมีการผลักดันแนวคิดAsia - Europe Land Bridge เพื่อให้ซินเจียงเป็นด่านหน้าสู่ยุโรปบนเส้นทาง New Silk Road ต่อไป  

สำหรับผลการเดินทางไปเยือนดินแดนซินเจียงของดิฉันและคณะจากประเทศไทย จะขอนำมาเล่าสู่กันฟังในบทความตอนต่อไปในเดือนหน้าค่ะ