'ติ๋ม ทีวีพูล'ไม่มีไม่หนีไม่จ่าย สัญญาณเสี่ยงทีวีดิจิทัลไทย

'ติ๋ม ทีวีพูล'ไม่มีไม่หนีไม่จ่าย สัญญาณเสี่ยงทีวีดิจิทัลไทย

“ติ๋ม ทีวีพูล” หรือ พันธุ์ทิพา ศกุณต์ไชย เจ้าของนิตยสารบันเทิงชื่อดัง “ทีวี พูล”

 ที่เกาะเทรนด์สื่อยุคใหม่ ขยับขยายมาทำธุรกิจทีวีก่อนหน้านี้หลายปี ผ่านช่องทางทีวีดาวเทียม และเป็นหนึ่งในผู้ประกอบการ ที่ตัดสินใจเข้าร่วมประมูลทีวีดิจิทัล โดยถือสัญญาทีวีดิจิทัลที่ประมูลจาก คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) มาได้ 2 ช่อง คือช่องข่าวและสาระ “ไทยทีวี”  และ “LOCA” ช่องรายการเด็กและเยาวชน มูลค่าการประมูลครั้งนี้กว่า 1,976 ล้านบาท โดยประมูล“ไทยทีวี”มาที่ราคา 1,328 ล้านบาท และ “LOCA” 648 ล้านบาท พร้อมความคาดหวังสู่ช่องข่าวบันเทิงอันดับ1 พร้อมแผนสวยหรูเตรียมเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ 

แต่แล้วสิ่งที่หลายคนกังวลก็เกิดขึ้นจริง เมื่อ“ติ๋ม ทีวีพูล” ตัดสินใจถอยทัพทีวีดิจิทัล โดยประกาศชัดเจน ไม่จ่ายค่าประมูลใบอนุญาตทีวีดิจิทัลงวด 2 เมื่อวันที่ 25 พค.2558 ที่ผ่านมา หลังเป็นข่าวออกมาก่อนหน้านั้นสักระยะ สร้างความปั่นป่วน และสะท้อนปัญหาธุรกิจทีวีดิจิทัลได้ระดับหนึ่ง ขณะที่ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลที่เหลือ แม้ยังคงจ่ายค่าประมูลฯงวด 2 ตามกำหนด แต่หลายรายก็สงวนสิทธิ์ที่จะฟ้องกสทช. ด้วยเหตุผลว่ากสทช.ไม่ได้ส่งเสริมการเปลี่ยนผ่าน ให้ทีวีดิจิทัลเข้าถึงผู้ชมทั่วประเทศได้อย่างที่ประกาศไว้

มาย้อนรอยดู ความคาดหวังของ “ติ๋ม ทีวีพูล” ก่อนจะมาถึงวันที่ถอดใจยืนยันหนักแน่น “ไม่มี ไม่หนี ไม่จ่าย” ซึ่งไม่น่าเชื่อว่าเวลาเพียงปีเดียว จะทำให้สถานการณ์พลิกผันได้ขนาดนี้ หากย้อนดูการให้สัมภาษณ์ของ “ติ๋ม ทีวีพูล” ที่พูดไว้เมื่อครั้งประมูล 2 ช่องทีวีดิจิทัลมาได้   

ตอนที่ประมูลทีวีดิจิตอลทุกคนรอบข้างถามว่าเรา โง่หรือเปล่ามีเงินสดๆ เก็บไว้ 2,000-3,000 ล้าน จะเอาไปลงทุนขนาดนั้นทำไม แต่เราคิดว่าเงิน 7 หมื่นล้าน ที่หมุนเวียนอยู่ในตลาด และยังขึ้นอยู่ทุกปี แต่ไปอยู่ที่ช่อง 3 และช่อง 7 ซะ 80% แล้ว ช่อง 5 กับช่อง 9 อีก 20% ขณะที่อนาล็อกต้องจบลงแน่ในเร็วๆ นี้ ถ้าจบลงเมื่อไหร่ วันนั้นงบ 7 หมื่นล้านจะไปอยู่กับ 24 ช่องดิจิตอล หากหารกันก็ตกช่องละ 2,900 ล้านต่อช่องต่อปี เดือนหนึ่งก็ตกประมาณ 200 กว่าล้าน ทำงานสบายๆ กำไรเยอะมาก จะเปิดบริษัทลูกให้มันเจ๊งเท่าไหร่ยังได้เลย เพราะกำไรเยอะมาก และคิดว่าจะมีเงินเข้าตลาดหลักทรัพย์ไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นล้านภายใน 3 ปีนี้ 

คำกล่าวของ “ติ๋ม ทีวีพูล” แสดงความมั่นใจเต็มที่ว่า ธุรกิจทีวีของไทย จะต้องเปลี่ยนผ่านจากยุคอนาล็อกไปสู่ดิจิทัลแน่นอน แต่ในความเป็นจริงไม่ใช่อย่างนั้น เม็ดเงินโฆษณามหาศาล 7 หมื่นล้านบาท ที่เจ้าของทีวีพูล มองว่าจะกระจายจากช่องทีวีอนาล็อกเดิม 2 ช่องหลักกับอีก 2 ช่องรอง มาสู่ทีวีดิจิทัล 24 ช่อง ไม่ใช่สมการชั้นเดียวแบบ 1+1 =2 หรือ 2x2 =4  ไม่ใช่แค่นับถอยหลังวันสิ้นสุดของระบบทีวีอนาล็อก ซึ่งดูเหมือนยังห่างไกลความเป็นจริง และเม็ดเงินโฆษณา ในวันนี้ ยังฝังอยู่ในทีวีช่องหลัก แม้จะลดน้อยลงบ้างแต่ก็ยังไม่ถึงครึ่ง 

อีกทั้งช่องหลักในระบบเดิม ก็ขยายมาร่วมวงทีวีดิจิทัล ย่อมมีความได้เปรียบ ในการดึงลูกค้าตามไปด้วย อย่างไม่ต้องสงสัย.. 

ทีวีดิจิทัล 24 ช่อง จากนี้ไป คงไม่ได้มีแค่ “ติ๋ม ทีวีพูล”เท่านั้นที่ถอดใจ แต่อีกหลายช่องที่อยู่ในสภาพขาดทุนหนัก เม็ดเงินในการบริหารต้องดึงจากธุรกิจเดิมมาเสริม ขณะที่ยอดขายทีวีดิจิทัล ทั้งแข่งขันกันสูง และยังมีตัวแปรสื่อใหม่ ที่ต้นทุนถูกกว่าเข้าถึงคนได้มากกว่า อย่าง สื่อออนไลน์ ในเว็บไซต์ และโซเชียลมีเดีย ดึงเม็ดเงินไปอีกทาง 

มองไปข้างหน้า เห็นภาพค่อนข้างชัด ท้องฟ้าสำหรับดิจิทัลทีวีไทย ไม่ได้โปร่งใสเหมือนอากาศในกรุงเทพฯยามนี้ แต่มันเต็มไปด้วยเมฆหมอก เงาทมึนที่พร้อมจะเกิดพายุกระหน่ำลงมาได้ทุกเมื่อ ต้องบอกว่า ธุรกิจทีวีดิจิทัลไทยวันนี้ยังเหนื่อย และคงต้องหนักต่อไปอีกไม่น้อยกว่า 2-3 ปี ไม่แน่เหมือนกัน การเปลี่ยนผ่านความเป็นเจ้าของทีวีดิจิทอล จากกลุ่มหนึ่งไปอยู่อีกกลุ่มหนึ่ง อาจมีมากกว่า การเปลี่ยนผ่านจากระบบอนาล็อกไปสู่ดิจิทัลก็เป็นได้