ยุทธศาสตร์ใหม่: กระจุกความเจริญ

ยุทธศาสตร์ใหม่: กระจุกความเจริญ

ในรอบสิบปีที่ผ่านมา รัฐบาลจีนมียุทธศาสตร์ “กระจายความเจริญ” โดยเน้นการสร้างเมืองขนาดใหญ่ทั่วประเทศ

มณฑลต่างๆ แข่งกันสร้างและขยาย “เมืองใหม่” ดูว่าใครสร้างใหญ่โตกว่าใคร ดูว่าใครสามารถสร้างถนนสะพานที่กว้างยาวที่สุดในจีน แต่เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา สถาบันวิจัยเศรษฐกิจจีนของมหาวิทยาลัยปักกิ่ง นำโดย ศาสตราจารย์โจวฉีเหริน นักเศรษฐศาสตร์ชื่อดังของจีน ได้เผยแพร่ผลงานวิจัยเรื่องอนาคตการสร้างเมืองโดยย้ำเน้นว่าถึงเวลาแล้วที่จีนจะต้องเริ่มเปลี่ยนยุทธศาสตร์การสร้างเมืองเสียใหม่ จากแนวคิด “กระจายความเจริญ” เปลี่ยนเป็นแนวคิด “กระจุกความเจริญ” !!

คนจีนมักคิดว่าเมืองที่แออัดไม่ใช่ของดี แต่นั่นเป็นความเข้าใจที่ผิด โจวฉีเหรินเสนอว่า คำถามที่ถูกต้องคือ จะทำอย่างไรให้เมืองที่แออัดเป็นเมืองที่มีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ มหานครสำคัญในโลกนี้ส่วนใหญ่ล้วนเป็นเมืองแออัด คือมีสัดส่วนประชากรต่อพื้นที่หนาแน่นมาก ใครเคยไปนิวยอร์กคงเห็นว่าถนนในนิวยอร์กมีความแคบมาก สามารถเดินเชื่อมระหว่างถนนได้อย่างง่ายดาย ถนนในนิวยอร์กโดยทั่วไปมีความกว้างเพียง 15- 25 ก้าว (ขณะที่เมืองที่สร้างใหม่ของจีน มาตรฐานถนนมักกว้างมากกว่า 70 ก้าว)

ในวงการผังเมือง นักวิชาการรุ่นใหม่เริ่มเห็นข้อดีของการกระจุกความเจริญอย่างมีคุณภาพ มีนักวิชาการรุ่นใหม่เสนอว่าเมืองใหญ่ที่สะดวกกับการอยู่อาศัยนั้น ในพื้นที่ 1 ตารางกิโลเมตรควรมีปากถนนใหญ่น้อยรวม 100 - 120 จุดเพื่อทำให้สามารถเดินเท้าไปมาสะดวก เส้นทางตัดและทับซ้อนกันเป็นตาข่ายใยแมงมุมเหมาะกับการตั้งร้านค้าและบริการ ซึ่งต่างจากความคิดในสมัยก่อนที่มองว่าการที่เมืองเก่าคับแคบแออัดเป็นเพราะขาดการวางแผนรองรับการโตของประชากร และมองว่าหากจะสร้างเมืองใหม่ในปัจจุบัน ควรทำให้ยิ่งกว้าง ยิ่งกระจาย จึงจะยิ่งดี

ตามหลักเศรษฐศาสตร์ การกระจุกความเจริญภายในพื้นที่เล็กๆ มีข้อดี 3 อย่าง

หนึ่ง คือ เมื่อความเจริญกระจุกตัว จะเกิดการแบ่งงานทางเศรษฐกิจที่ถี่และมีประสิทธิภาพขึ้น เมื่อจำนวนคนมากและเกิดอุปสงค์ในตลาด ย่อมทำให้เกิดร้านค้าและบริการหลากหลายตามโอกาสทางธุรกิจที่เพิ่มมากขึ้น

สอง คือ การกระจุกความเจริญทำให้ต้นทุนธุรกรรมในการค้นหาข้อมูลลดต่ำลง พูดง่ายๆ คือมีการสื่อสารและแลกเปลี่ยนข้อมูลทางธุรกิจได้ง่าย จะเห็นว่าภายในมหานครล้วนมีเขตการค้าไม่กี่แห่งที่บริษัทชั้นนำมักตั้งอยู่รวมกัน

สาม คือ การกระจุกความเจริญเป็นผลดีต่อการวิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์ เพราะนักวิจัยหากอยู่รวมกันจำนวนมากหรือมีการแข่งขันกันภายในพื้นที่ ย่อมกระตุ้นให้เกิดผลงานใหม่ๆ


สาเหตุที่คนไม่ยอมย้ายออกจากเมืองหลวง เป็นเพราะเมืองหลวงมักเป็นเมืองที่สร้างมาแต่โบราณ ความเจริญกระจุกตัวอยู่ในพื้นที่คับแคบไม่กี่แห่ง แต่นั่นแหละคือข้อดีของเมืองหลวงในทางเศรษฐกิจ ขณะที่เมืองใหม่ความเจริญยังกระจัดกระจาย ถ้าเราต้องการจะสร้างเมืองใหม่เพื่อจะถ่ายเทคนออกจากเมืองเก่า และกระจายความเจริญอย่างยั่งยืน เราต้องสร้างเขตกระจุกความเจริญขึ้นภายในเมืองใหม่เหล่านั้น เพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจและชีวิตที่สะดวกสบายที่ผู้คนมักหาได้จากพื้นที่คับแคบแออัดในเมืองเก่า


พลังทางเศรษฐกิจของโลกล้วนอยู่ภายในเขตเมือง ถ้าเราแบ่งระหว่างเขตเมืองและชนบทตามเกณฑ์ทั่วไป เราจะพบว่าประชากรโลกอาศัยอยู่ในเขตเมืองมากกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนประชากรทั้งหมด ปัจจุบันประชากรจีนเกินครึ่งก็อาศัยอยู่ในเขตเมือง สถิติที่น่าสนใจก็คือ ประชากรครึ่งหนึ่งของโลกอาศัยอยู่ในพื้นที่คิดเป็นเพียง 1.5% ของพื้นที่ทางบกทั้งหมดของโลก, ในสหรัฐอเมริกา ประชากร 240 ล้านคนอาศัยอยู่ในเขตเมือง คิดเป็นพื้นที่เพียง 3% ของพื้นที่ทางบกทั้งหมดของสหรัฐฯ แต่ผลิตถึง 85% ของ GDP ทั้งประเทศ, ในฝรั่งเศส กรุงปารีสมีคนอยู่เพียง 3.4% ของประชากรทั้งหมด แต่ผลิต 24.5% ของ GDP ทั้งประเทศ, ในญี่ปุ่น เมืองใหญ่ที่สุดสามแห่งมีคนอยู่รวมกันคิดเป็น 69% ของประชากรทั้งประเทศ และผลิตถึง 74% ของ GDP ทั้งประเทศ


ประวัติการพัฒนาเมืองที่น่าศึกษา ก็คือการพัฒนาเมืองโตเกียว โตเกียวไม่ได้ใช้วิธีเหมือนกับปักกิ่ง การพัฒนาเมืองปักกิ่งใช้วิธีทุบรื้อตึกรามบ้านช่องของเก่าทิ้ง แล้วสร้างและขยายเมืองใหม่ขนาดมโหฬารขึ้นมา ส่วนโตเกียวใช้วิธีกระจุกความเจริญในบางพื้นที่ โดยการปรับปรุงพื้นที่นั้นทีละเล็กละน้อยจนกลายเป็นเขตเศรษฐกิจที่ทรงพลังแห่งใหม่


ตัวอย่างคือเขต Roppongi Hills ในโตเกียว ซึ่งเป็นความริเริ่มของมหาเศรษฐีชาวญี่ปุ่นชื่อ มิโนรุ โมริ เขาต้องการสร้างเขตเศรษฐกิจใหม่ในพื้นที่ชานเมือง พื้นที่แถบนั้นมีเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมประมาณ 400 ราย โมริใช้เวลากว่า 14 ปี เพื่อเจรจากับเจ้าของที่ดิน 400 แปลงนี้ จนสุดท้ายตกลงแบ่งผลประโยชน์การพัฒนาที่ดินให้กับเจ้าของที่ดินทุกราย และใช้เวลาการพัฒนาพื้นที่จริง 3 ปี จนแล้วเสร็จในปี ค.ศ. 2003 ตึกใหญ่ที่สุดซึ่งเป็นศูนย์กลางคือ ตึกโมริมีความสูง 54 ชั้นมีสวนขนาดใหญ่ มีคลินิกรักษาพยาบาล มีโซนที่เป็นออฟฟิซ โซนพักอาศัยกว่า 800 ครัวเรือน โซนศิลปวัฒนธรรมซึ่งมีพิพิธภัณฑ์ศิลปะและโรงละคร ตัวตึกเชื่อมติดกับรถไฟใต้ดินและกลายเป็นศูนย์กลางของเขตเศรษฐกิจแห่งใหม่ พื้นที่ของทั้งเขต Roppongi Hills มีเนื้อที่เพียง 100,000 ตารางเมตร แต่ภายในอาคารต่างๆ มีเนื้อที่ใช้สอยรวมถึง 760,000 ตารางเมตร แต่ละวันมีคนราวกว่า 100,000 คน สุดสัปดาห์อาจมีถึง 200,000 - 500,000 คน เข้ามาทำกิจกรรมต่างๆ ในพื้นที่แห่งนี้ ทำให้เกิดโอกาสทางเศรษฐกิจและการค้าขายมหาศาล


ข้อคิดที่สำคัญมีสองข้อ อย่างแรกคือ ถ้าวางแผนดี การกระจุกความเจริญ สามารถนำไปสู่การกระจายความเจริญ พื้นที่ในเขต Roppongi Hills นำความเจริญสู่ชานเมืองโตเกียว มีการพัฒนาพื้นที่บริเวณใกล้เคียงเขตดังกล่าว ช่วยลดการแออัดภายในตัวเมืองโตเกียวได้เป็นอย่างดี,ข้อคิดอีกอย่างก็คือ การกระจุกความเจริญไม่ใช่เพียงสร้างตึกขนาดใหญ่ในพื้นที่แคบ แต่ต้องเน้นส่งเสริมคุณภาพชีวิต เชื่อมโยงระบบขนส่งสาธารณะ โรงพยาบาล สวนธรรมชาติ และพิพิธภัณฑ์ ตลอดจนโรงละครในทางศิลปวัฒนธรรมเข้าด้วยกันในพื้นที่เดียว ทั้งหมดนี้แตกต่างจากการพัฒนาเมืองของจีนที่ผ่านมา ที่เน้นแต่ขยายเมืองคอนกรีตออกไปให้ใหญ่ให้กว้าง โดยคิดว่าจะหลีกเลี่ยงปัญหาความแออัด ผลคือภาพเมืองร้าง ตึกร้าง และโอกาสทางธุรกิจที่ไม่สามารถพัฒนาได้เต็มที่ สุดท้ายก็ค่อยเริ่มมากระจุกตัวทีหลังตามกลไกทางเศรษฐกิจ ซึ่งกลับทำให้การใช้สอยพื้นที่ขาดประสิทธิภาพและผู้คนขาดคุณภาพชีวิตที่ดี เพราะตัวเมืองไม่ได้วางแผนรองรับการกระจุกตัวอย่างครบวงจรมาตั้งแต่ต้น


ยุทธศาสตร์ใหม่ที่ทีมวิจัยของ ม.ปักกิ่ง เสนอ และเริ่มได้รับการตอบรับจากภาคนโยบายของจีนคือการเปลี่ยนวิธีคิดใหม่ คือเปลี่ยนจากกระจายความเจริญผ่านการเทคอนกรีตอย่างไร้ทิศทาง เป็น “กระจุกความเจริญ” อย่างมีแผนการ (พยายามให้มีเขต “กระจุกความเจริญ” ให้กระจายมากขึ้นทั่วประเทศ) และเปลี่ยนจากการเน้นความกว้างใหญ่ มาเน้นความแออัดแต่มีคุณภาพชีวิตที่ดี


ย้อนกลับมาดูไทย ปัญหาของกรุงเทพฯ จึงไม่ใช่ว่ากรุงเทพฯ หนาแน่น เท่ากับกรุงเทพฯ หนาแน่นอย่างขาดคุณภาพชีวิตและการเชื่อมโยงที่ดี ส่วนในระดับประเทศ ถ้าเราต้องการกระจายความเจริญออกจากกรุงเทพฯ เราต้องเริ่มจากกระจุกความเจริญขึ้นในบางพื้นที่อย่างมีแผนการไม่ใช่กลัวแออัด กลัวจะผิดพลาดอย่างกรุงเทพฯ ที่ขาดการวางแผนที่ดี แล้วกลายเป็นโรคกลัวความเจริญจะกระจุก จนสุดท้ายปฏิเสธความเจริญ