เมื่อข่าวมีไว้ขาย...ดราม่าแบบไทยๆ จึงบังเกิด

เมื่อข่าวมีไว้ขาย...ดราม่าแบบไทยๆ จึงบังเกิด

หากจำกันได้ เมื่อปีที่แล้วหลังจากทดลองออกอากาศทีวีดิจิทัลกันอย่างครึกโครม สงครามแย่งชิงตัวนักข่าวกลายเป็นเรื่องที่หลายๆ คนจับตามอง

กลุ่มผู้ประกาศและนักข่าวที่เป็นแม่เหล็กดึงดูดคนดูต่างเป็นที่หมายปองของช่องต่างๆ เพื่อปักหมุดในใจของผู้บริโภคให้หันมาติดตามช่องของตัวเอง


ความกระตือรือร้นของอุตสาหกรรมทีวีดิจิทัลเริ่มชะงักงัน เมื่อต้องเผชิญกับสภาพความเป็นจริงของความฝืดเคืองในกลุ่มคนดู ส่วนหนึ่งก็เนื่องมาจากการเปลี่ยนผ่านแพลตฟอร์มของเทคโนโลยีในการย้ายคนดูจากช่องอนาล็อกไปสู่ช่องดิจิทัลไม่เป็นไปตามแผนที่คาดการณ์ไว้ โดยล่าสุด สถานการณ์ย่ำแย่ขนาดที่ผู้บริหารสถานีไทยทีวีขอยุติการออกอากาศและอยากจะคืนใบอนุญาตให้กับ กสทช. ด้วยเหตุผลของการขาดทุนที่มีมาอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งยังไม่เห็นโอกาสการทำเงินในโทรทัศน์แพลตฟอร์มดิจิทัลในอนาคตแต่อย่างใด


อย่างที่ทราบกันดีว่า นอกจากเนื้อหาละครจะเป็นที่นิยมในหมู่ผู้ชมคนไทยแล้ว รายการข่าวยังเป็นเนื้อหาอีกหนึ่งประเภทที่เรียกเรตติ้งให้กับสถานี การทำข่าวของสื่อพาณิชย์ในปัจจุบันจึงหลีกหนีไม่ได้ที่จะต้องแข่งขันเพื่อแย่งชิงผู้ชม เรียกความนิยมให้บังเกิดกับช่องสถานีของตัวเอง ซึ่งไม่เพียงแต่ต้องแข่งขันกับเนื้อหาข่าวจากสถานีช่องอื่นๆ แต่เพียงเท่านั้น หากยังต้องแข่งขันกับเนื้อหาข่าวจากแพลตฟอร์มอื่นๆ อย่างสื่อสังคมออนไลน์และอินเทอร์เน็ตอีกด้วย


การทำข่าวในปัจจุบัน นอกจากจะต้องคำนึงถึงคุณค่าข่าวที่เลือกหยิบยกประเด็นหรือเหตุการณ์ต่างๆ มาให้สังคมรับรู้แล้ว ยังต้องคำนึงถึงการ ‘ขาย’ ที่จะทำให้คนดูติดตาม โดยอาจวางกลยุทธ์ในการล่อคนดูประหนึ่งวางเหยื่อปลาให้ติดเบ็ด ด้วยรูปแบบการนำเสนอที่เร้าใจ กระตุกต่อมดราม่า ให้เกิดอารมณ์ร่วมไปกับเนื้อหาข่าว


การวางเหยื่อล่อให้ผู้ชมติดเบ็ด แล้วหันมาสนใจกับเนื้อหาข่าวนั้นดูจะเป็นเรื่องที่ขาดไม่ได้ไปเสียแล้วในการทำข่าวปัจจุบัน เพราะในยุคที่ข้อมูลข่าวสารล้นเกินเช่นนี้ การที่จะให้คนดูหยุดไถหน้าจอมือถือ แล้วมาจดจ่อกับเนื้อหาข่าวของตัวเองดูจะเป็นเรื่องที่แทบจะเป็นไปไม่ได้ ดังนั้น ความดราม่าในข่าวจึงบังเกิด ผ่านพาดหัว คำโปรย รวมถึงลีลาท่าทางของผู้สื่อข่าว


พาดหัวข่าวตามเว็บที่เน้นต่อมอยากรู้อยากเห็นของคนอ่าน ด้วยท่อนฮุก เช่น ‘ไปดูกัน...ทำอย่างไรเมื่อต้อง...’ หรือ ‘คุณต้องไม่เชื่อแน่ๆ…เมื่อ…’ เริ่มกลายเป็นแนวโน้มใหม่ของการเขียนข่าว ซึ่งไม่ได้มีแต่เฉพาะสำนักข่าวในประเทศไทยเท่านั้นที่ล่อคนอ่านด้วยวิธีการนี้


ล่าสุดหากใครยังจำได้กับกรณีชุดกระโปรงที่คนต่างแชร์กันทั่วโลกเพื่อดูว่าแต่ละคนเห็นสีของชุดเหมือนหรือต่างกันอย่างไร หรือเราเรียกว่า กรณี ‘The dress’ ซึ่งแย่งชิงพื้นที่ข่าวสำคัญๆ อื่นๆ ไปโดยสิ้นเชิง จนกระทั่งสำนักข่าว Independent ของอังกฤษได้ตอกกลับประเด็นนี้ด้วยการโปรยพาดหัวเกี่ยวกับ The dress เพื่อนำพาผู้อ่านไปสู่ประเด็นข่าวที่สำคัญและผู้คนในโลกควรรู้มากกว่าอีก 5 ประเด็นด้วยการพาดหัวข่าวว่า ‘Forgot “The dress”: Here are five of the biggest news stories you might have missed’


วิธีการดราม่ากับข่าว เพื่อล่อให้คนรับสารติดเบ็ด เบนความสนใจใคร่รู้มาสู่ประเด็นข่าวสาธารณะจึงเป็นเรื่องปกติที่บรรดาสำนักข่าวทำกันท่ามกลางการแข่งขันที่ยิ่งยวด ไม่เพียงแต่เฉพาะกับรายการข่าวด้วยกัน แต่ยังต้องแข่งขันกับเนื้อหาอื่นๆ จากหลากหลายแพลตฟอร์ม


สำหรับเมืองไทย การดราม่าผ่านกระบวนการนำเสนอข่าวเพื่อสร้างจุดขายและความนิยมเป็นจารีตที่ทำกันมานาน ตั้งแต่สื่อหนังสือพิมพ์ไปจนถึงสื่อโทรทัศน์ ซึ่งต้องถือว่าถูกจริตกับผู้รับสารคนไทยค่อนข้างมาก ดังจะเห็นได้จากยอดขายของบรรดาหนังสือพิมพ์หัวสี ความนิยมของรายการเล่าข่าว รวมถึงความดังของบรรดานักข่าวภาคสนามที่เกาะติดสถานการณ์แบบดราม่าๆ จนกลายเป็นเซเลปที่เรารู้จัก


อย่างไรก็ตาม กรณีล่าสุดของการลงพื้นที่ทำข่าวผู้อพยพชาวโรฮิงญาของนักข่าวภาคสนามชื่อดัง ซึ่งแสดงอารมณ์ร่วมจนกลายเป็นเรื่องดราม่านอกจอของผู้ชมชาวไทยที่ออกอาการไม่พอใจในความเอื้ออาทรของนักข่าวที่มีต่อชาวต่างชาติจนเกินเหตุ อันนำมาสู่การตั้งคำถามต่อการปฏิบัติหน้าที่ของนักข่าวที่เอาอารมณ์ส่วนตัวเข้าไปในเนื้อหาข่าวด้วยนั้น ถือเป็นเรื่องน่าคิดต่อ ถึงความย้อนแย้งในการวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของนักข่าวคนดังกล่าว ซึ่งด้วยวิธีการทำข่าวแบบดราม่ากับชาวประมงคนไทยที่ตกระกำลำบากอยู่ต่างประเทศกลับได้รับคำชื่นชม ในขณะที่พอจะดราม่าแบบเดียวกันกับผู้ลี้ภัยไร้ที่พักกลับได้รับคำด่าทอ


แม้จรรยาบรรณสื่อจะมีข้อติงเตือนไม่ให้ผู้สื่อข่าวใส่สีใส่ไข่ ทำข่าวด้วยอคติ เอาอารมณ์ส่วนตัวเป็นตัวตั้ง แต่ดูเหมือนว่ากระบวนการสร้างอารมณ์ในข่าวเพื่อฮุกคนดูให้ติดเบ็ดจะกลายเป็นวิถีปกติของการทำข่าวในปัจจุบัน ความดราม่าที่สร้างเรตติ้งของนักข่าวภาคสนาม ซึ่งพร้อมลุยให้เรารู้สึกว่าเราเป็นส่วนหนึ่งของสถานการณ์กลายเป็นเรื่องเล็กน้อยเมื่อเทียบกับ ‘ดราม่าชาตินิยม’ ของคนไทยที่มีต่อผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญา จนกลายเป็นประเด็นด่าทอระดับชาติที่ลุกลามชั่วข้ามคืนแล้วก็หายไป กลายเป็นกลลวงในยุคข้อมูลข่าวสารล้นเกินที่ทำให้เราเข้าไม่ถึงแก่นและประเด็นของเรื่องสำคัญที่ควรจะตระหนัก วนเวียนกับข้ออ้างทางจริยธรรมแบบขอไปที จนมองไม่เห็นความย้อนแย้งของการถกเถียงดังกล่าว


ท้ายสุด เชื่อได้ว่า ความดราม่าในข่าวก็ยังดำรงอยู่และทำหน้าที่กระตุกเบ็ดคนดูจนเรตติ้งกระฉูดต่อไป เพียงแต่บทเรียนนี้คงสอนให้นักข่าวรู้ว่า จะดราม่ายังไงก็อย่าก้าวล่วงขอบเขตชาตินิยมของบ้านนี้เมืองนี้ เพราะ ความเป็นชาติอยู่เหนือมนุษยธรรมและคุณค่าข่าวที่คนไทยควรรับรู้