หวั่นหนี้ทีวีดิจิทัลขึ้นแท่นเอ็นพีแอล

หวั่นหนี้ทีวีดิจิทัลขึ้นแท่นเอ็นพีแอล

ช่วงเดือนที่ผ่านมาประเด็นเรื่อง บริษัทไทยทีวี ไม่สามารถจ่ายค่าธรรมเนียม ใบอนุญาตทีวีดิจิตัลส่วนที่เหลือ 1.6 พันล้านบาท

ทำให้เป็นที่ฮือฮาของคนในสังคม และจำนวนไม่น้อยให้ความสนใจจำนวนมาก ซึ่งผลกระทบที่เห็นได้ชัดในวงการตลาดทุนสะท้อนให้เห็นในทันที

คือการที่ราคาหุ้นแบงก์กรุงเทพ (BBL) ราคาหุ้นปรับลดลง แตะระดับต่ำสุดรอบปีที่ราคา 177 บาท และยังพบว่ามูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (มาร์เก็ตแคป) ช่วงเวลาเดียวปรับลดลง 1.6 หมื่นล้านบาท จากระดับ 3.59 แสนล้านบาทเหลือ 3.43 แสนล้านบาท

ผลกระทบในครั้งนี้ มีนักวิเคราะห์หลักทรัพย์หลายๆแห่งลงความเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า หนี้ก้อนนี้อาจจะเป็นเอ็นพีแอลที่กำลังจากเกิดขึ้นในไม่ช้า

ล่าสุดนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.กรุงศรี ประเมินว่า แบงก์กรุงเทพจะต้องเผชิญปัจจัยลบหลายด้าน อาจจะต้องสำรองจากการค้ำประกันใบอนุญาตทีวีดิจิทัล ซึ่งฝ่ายวิจัยได้คุยกับนักลงทุนสัมพันธ์ ( IR) ของแบงก์กรุงเทพ เพื่อขอให้ช่วยชี้แจงถึงผลกระทบที่จะเกิดกับธนาคารถ้าหากบริษัทไทย ทีวี ไม่สามารถจ่ายค่าธรรมเนียมใบอนุญาตทีวีดิจิทัล ส่วนที่เหลืออีก 1.6 พันล้านบาทให้กับคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ในกรณีที่เลวร้ายที่สุดแบงก์กรุงเทพในฐานะผู้ค้ำประกันต้องเป็นผู้ชำระเงิน 1.6 พันล้านบาทให้กับ กสทช. และธนาคารมีแผนที่จะแปลงเงินก้อนนี้ให้อยู่ในรูปของสินเชื่อในงบดุล

ถึงแม้ธนาคารจะบอกว่าธุรกรรมนี้มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน แต่มองเห็นความเป็นไปได้ที่หนี้ก้อนนี้จะกลายเป็นเอ็นพีแอล และต้องมีการตั้งสำรองตามมาในที่สุด และยังสงสัยว่าแบงก์กรุงเทพจะตั้งสำรองเต็มจำนวน 1.6 พันล้านบาทหรือไม่เพราะยังมีหลักทรัพย์ค้ำประกันอยู่ด้วย ถ้าตั้งสมมติฐานแบบอนุรักษ์นิยมว่ามีการตั้งสำรองเต็มจำนวน ก็จะส่งผลกระทบต่อกับประมาณการกำไรสุทธิปีนี้ 3.8%

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าแบงก์กรุงเทพ จะมีสัดส่วน NPL coverage สูงที่สุดในกลุ่มธนาคาร แต่มองเห็นความเสี่ยงที่จะเกิดเอ็นพีแอลใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากลูกค้าเอสเอ็มอี ขนาดเล็ก ซึ่งถือเป็นความเสี่ยงต่อประมาณการปี 2558

นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) กล่าวว่า การที่หุ้นแบงก์กรุงเทพได้เข้าไปค้ำประกันให้บริษัทไทยทีวี มูลค่า 1.6 พันล้านบาท ขณะนี้บริษัทไทยทีวีกำลังมีประเด็นเรื่องการจ่ายค่างวดใบอนุญาตที่ 2 ของทีวีดิจิทัลกับกสทช.ว่าจะไม่ขอจ่ายและต้องการยุติการดำเนินธุรกิจทีวีดิจิตอลหลังขาดทุน300กว่าล้านบาท แต่กสทช.ย้ำว่าไทยทีวีต้องจ่ายให้ครบแม้ปิดสถานี ซึ่งความขัดแย้งนี้ทำให้ความเสี่ยงของแบงก์กรุงเทพในฐานะผู้ค้ำประกันมีมากขึ้น

“ทั้งนี้ เงินจำนวน 1.6 พันล้านบาทนั้น คิดเป็น 4% ของประมาณการกำไรปี2558 ของแบงก์กรุงเทพซึ่งปัจจุบันบล.ดีบีเอสประมาณการกำไรไว้ที่ 3.7 หมื่นล้านบาท”

นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.เคจีไอ มองว่า ประเด็นดังกล่าว นับเป็นความเสี่ยงกับแบงก์กรุงเทพในฐานะเป็นผู้ออกจดหมายค้ำประกัน ซึ่งขั้นตอนจากนี้จะเป็นการเจรจาระหว่าง NBTC กับ Thai TV เพื่อบริษัทกลับมาเป็นผู้ดำเนินธุรกิจต่อไป อย่างไรก็ตาม หากไม่สำเร็จจะทำให้เกิดความเสียหายกับแบงก์กรุงเทพ ซึ่งธนาคารมีสิทธิที่จะฟ้องไล่เบี้ยต่อกับบริษัทไทยทีวีอีกทอดหนึ่ง โดยจำนวนเงิน 1.6 พันบาท คิดเป็น 3.5% ของกำไรสุทธิของธนาคาร

จากผลการประเมินของบรรดาโบรกเกอร์สามารถเป็นตัวสะท้อนให้เห็นว่า ปัจจัยความเสี่ยงที่มีผลกระทบต่อกลุ่มธนาคารอีกเรื่องคือ หนี้ทีวิดิจิทัลกำลังจะขยับชั้นเป็นเอ็นพีแอลให้เห็นกันมากขึ้นในไม่ช้า