ล้มเพื่อ “รุก”

ล้มเพื่อ “รุก”

ประสบการณ์ที่ผมถ่ายทอดในหนังสือ “คิดต่างอย่างแจ็ค” มีทั้งด้านบวก คือ ความสำเร็จการบริหารธุรกิจต่างๆ

แต่ขณะเดียวกันผมเชื่อว่าประสบการณ์ด้านลบ คือ ความผิดพลาดและความล้มเหลวของผมก็เป็นประสบการณ์ที่มีค่าต่อผู้อ่านไม่แพ้กันเลยทีเดียว

ในหนังสือจะระลึกย้อนไปถึงปี 2536 ซึ่งนับเป็นช่วงที่ดีที่สุดของเศรษฐกิจไทย และเป็นช่วงที่ดีที่สุดของบริษัทหลายแห่ง เงินทุนสามารถหามาได้อย่างง่ายดายจากการกู้เงินต่างประเทศ ทำให้เกิดการลงทุนและเก็งกำไรอย่างกว้างขวาง เศรษฐกิจไทยเติบโตอย่างรวดเร็ว จนได้รับการจับตามองว่าไทย จะเป็น “เสือตัวที่ 5 แห่งเอเชีย”

ขณะที่เงินลงทุนหามาได้ง่ายต้นทุนต่ำ ทำให้ลงทุนเกินตัว ไม่อยู่บนพื้นฐานความจริง เป็นฟองสบู่เศรษฐกิจกระทั่งฟองสบู่แตกเมื่อปี 2540 เป็นวิกฤติ “ต้มยำกุ้ง” กระทบทั่วโลก

เอสวีโอเอ เป็นหนึ่งในบริษัทที่ได้รับผลกระทบ ขณะนั้นเป็นบริษัทไอทีที่เติบโตรวดเร็ว เป็นอันดับหนึ่งในธุรกิจไอทีครองส่วนแบ่งสูงสุดมีช่องทางจำหน่ายเข้าถึงลูกค้ากว้างขวาง

ปี 2539 เป็นปีที่ดีที่สุดของ เอสวีโอเอ ด้วยยอดขายในสมัยนั้นนับว่าสูงมากคือกว่า 6,800 ล้านบาท ผ่านการขายส่งคอมพิวเตอร์และการให้บริการกับองค์กรขนาดใหญ่ ภายใต้ความเชื่อมั่นจากลูกค้า คู่ค้า และพันธมิตรธุรกิจ

ความโดดเด่นที่สุดของเอสวีโอเอ คือ เป็นผู้นำในธุรกิจไอที ใครข้ามาทำธุรกิจไอทีในไทย ทั้งไมโครคอมพิวเตอร์ พีซี เทอร์มินัล หรือโน้ตบุ๊ก ต้องมาคุยกับเอสวีโอเอ เพราะเป็นผู้เล่นรายใหญ่ที่สุดในอุตสาหกรรมไอทีขณะนั้น และยังเป็นผู้นำไอเดียใหม่ๆ เข้าสู่ธุรกิจ เช่น แฟรนไชส์ เครือข่ายทำให้เอสวีโอเอโตอย่างรวดเร็ว

การเติบโตรวดเร็ว ทำให้เอสวีโอเอเป็นเสมือนต้นไม้ใหญ่ ที่ต้องยืนหยัดต้านลมพายุรุนแรงที่สุด เผชิญแรงกดดันมากที่สุด นั่นคือ วิกฤติต้มยำกุ้ง ธุรกิจไทยและประเทศไทยไม่เคยมีประสบการณ์เผชิญกับวิกฤต จึงไม่มีกลไกป้องกัน การตรวจสอบ และการกระจายความเสี่ยงที่ดีพอ เมื่อเกิดวิกฤติขึ้น เอสวีโอเอจึงเผชิญวิกฤติใน 2 ประการ

ประการแรก เมื่อเกิดสึนามิเศรษฐกิจ เงินบาทลดค่าลงจาก 25 บาทต่อดอลลาร์ เป็นกว่า 50 บาทต่อดอลลาร์ ผลกระทบคือหนี้ส่วนใหญ่ของเอสวีโอเอเป็นหนี้ต่างประเทศ ทั้ง ทำให้หนี้เพิ่มขึ้นอีก 1 เท่าตัว ประการที่สอง หนี้ที่เกิดจากในประเทศจากการที่บริษัทต่างๆ ก็ต้องเผชิญวิกฤติเช่นกันจึงสูญเสียความสามารถชำระหนี้

ผลที่เกิดขึ้นจากที่มีหนี้เพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว และประสบปัญหาจากหนี้ในประเทศ ผมต้องเลือกแก้ไขปัญหาตอนนั้นมีทางเลือกให้ 3 ทาง คือ ปิดบริษัท เหนียวหนี้ไม่ยอมจ่าย หรือ ยอมเสียสิทธิความเป็นเจ้าของให้เจ้าหนี้ ใน 3 ทางเลือกนี้ ทางแรกปิดบริษัทตัดทิ้งไป เพราะมีพนักงานกว่า 1,000 คน และแต่ละคนมีครอบครัวต้องรับผิดชอบ ทางเลือกที่สอง เหนียวหนี้ ซึ่งไม่ใช่ทางแก้ปัญหา แต่เป็นการยื้อปัญหาให้ยาวออกไป สุดท้ายแล้วธุรกิจก็จะมีปัญหา เจ้าหนี้ก็มีปัญหาทำให้ต้องเลือกทางเลือกที่สาม

เอสวีโอเอเดินเข้าสู่ศาลล้มละลาย เพื่อเจรจาประนอมหนี้กับเจ้าหนี้ และเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ โดยได้หารือกับผู้ถือหุ้นส่วนใหญ่ในสมัยนั้นให้พิจารณาร่วมกัน เท่ากับยอมสูญเสียความเป็นเจ้าของบริษัทให้กับเจ้าหนี้ และเปลี่ยนเจ้าหนี้เป็นผู้ถือหุ้น ยอมสละสิทธิ์ความเป็นเจ้าของ เพื่อให้บริษัทเดินหน้าต่อไปได้ ซึ่งเจ้าหนี้เองก็ไม่อยากได้บริษัทเรา เพราะไม่เชี่ยวชาญ แต่เขาต้องเลือกเป็นผู้ถือหุ้นและให้เราเป็นผู้บริหาร เพราะเรารู้ธุรกิจของเรามากที่สุด ความสามารถ และความเข้าใจธุรกิจทำให้เราสามารถฟื้นธุรกิจให้กลับคืนมาได้

วิกฤติปี 2540 ปัญหาที่เกิดขึ้นนับว่าเกิดจากความผิด 2 ส่วน ของบริษัทเพียงส่วนหนึ่ง คือ บริษัทไม่มีระบบป้องกันที่ดีพอ ไม่ป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน อีกส่วนที่ผิดคือ สภาพแวดล้อม บริษัทมีปัญหามากมาย ธนาคารทุกรายมีปัญหา บริษัทเงินทุนปิดตัวลงมากมาย ถ้าเรายึดติดกับความเป็นเจ้าของ สุดท้ายจะไม่เหลืออะไร

การเข้ากระบวนการประนอมหนี้ คือ เรายอมเสียความเป็นเจ้าของทรัพย์สินให้กับเจ้าหนี้ แต่ยังเหลือเวทีแสดงความสามารถเมื่อมีเวทีก็ยังมีโอกาส เราเลือกเจรจากับเจ้าหนี้ เสนอแผนฟื้นฟูกิจการ บอกเล่าแรงบันดาลใจในการทำธุรกิจ

เอสวีโอเอก็เป็นบริษัทที่มีฐานความรู้ เป็นบริษัทที่แข็งแกร่ง พนักงานมีความรู้ในธุรกิจและอุตสาหกรรม มีความสามารถบริหารจัดการ ดูแลคู่ค้า ดูแลช่องทางจัดจำหน่าย เหล่านี้เป็นทรัพย์สินที่สำคัญที่สุด ในการพลิกฟื้นบริษัทกลับคืนมา

เพราะวันนั้น ผมกล้าที่จะเสียจึงได้มีวันนี้ ถ้าผมไม่ยอมเสียในวันนั้น ก็อาจไม่มีอาณาจักรเอสวีโอเออย่างปัจจุบัน แต่เมื่อเราได้โอกาสจากเจ้าหนี้ เราก็ต้องตอบแทนด้วยการทำให้ดีที่สุด ให้ผู้ถือหุ้นเสียหายน้อยที่สุด และได้ผลตอบแทนจากการร่วมเป็นเจ้าของธุรกิจอย่างเร็วที่สุด