สำนึกสื่อคือหัวใจของการปฏิรูป

สำนึกสื่อคือหัวใจของการปฏิรูป

เมื่อสัปดาห์ที่แล้วเป็นช่วงที่กำหนดให้มีการจ่ายค่าประมูลทีวีดิจิทัลช่องธุรกิจ ผู้ประกอบการจากเกือบทั้ง 24 ช่องรายการมายื่นชำระเงิน

ยกเว้นอยู่สองช่องซึ่งเป็นเจ้าของเดียวกันและปฏิเสธไม่จ่าย โดยอ้างว่าไม่มีเงิน ขาดทุน และขอเลิกกิจการทีวีดิจิทัล แถมยังทำเรื่องจะฟ้องกสทช.อีก ฐานที่ไม่สามารถนำการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลได้ตามแผนแม่บท ทำให้เกิดผลกระทบต่อผู้ประกอบการ 



สื่อต่างๆ หยิบเรื่องนี้มาทำเป็นประเด็นดราม่ากันยกใหญ่ ในมุมหนึ่งก็เพราะคุณพันธุ์ทิพา ศกุนต์ไชย หรือ “เจ๊ติ๋ม ทีวีพูล” เจ้าของบริษัท ไทยทีวี จำกัด เธอเป็นเจ้าแม่วงการวิจารณ์บันเทิงอยู่แล้ว ท่าทีดื้อแพ่งแนวนักเลงก็เลยไปเข้าธีมปุถุชนสนใจ ที่สื่อมักยึดเป็นจุดขาย แต่ในอีกมุมหนึ่ง ก็อดผิดหวังไม่ได้ว่า สื่อมวลชนไทยจำนวนมากยังไปได้ไม่ไกลพอและคงลักษณะ “แมลงวันไม่ตอมแมลงวัน” อย่างที่เคย


ไม่ว่าข้ออ้างจะคืออะไร แต่ประเด็นหนึ่งที่สะท้อนจากกรณีการจ่าย (และไม่จ่าย) ค่าประมูลทีวีดิจิทัล นอกเหนือจากภาวะทางธุรกิจของอุตสาหกรรมทีวีดิจิทัลแล้ว ก็คือสำนึกแห่งความรับผิดชอบของผู้ประกอบการสื่อ ซึ่งคนทั่วไปมักเหมารวมว่าเป็นนักวิชาชีพสื่อ


อย่างไรก็ดีสิ่ง ที่สะท้อนออกมารวมถึงกรณีนี้ด้วยก็คือ คนทำสื่อจำนวนมากไม่ใช่นักวิชาชีพ ซึ่งมักถูกคาดหวังว่าจะมีสำนึกทางจริยธรรมเพียงพอ หากเป็นเพียงคนทำธุรกิจที่หวังเพียงผลกำไรแต่ไม่ได้มีสำนึกใดๆ แห่งวิชาชีพสื่อ


สื่อวิชาชีพที่มีจริยธรรมจำเป็นต้องคำนึงถึงผลของเนื้อหาที่ผลิตต่อสังคมไม่น้อยไปกว่าตัวเลขกำไรขาดทุน ตามหลักการที่ควรจะเป็น การทำอาชีพสื่อถือว่าเป็นการลงทุนทางสังคมที่สำคัญเพราะสื่อมีบทบาทในการถ่ายทอดและปลูกฝังค่านิยม ความคิด ทัศนคติ ตลอดจนส่งอิทธิพลต่อพฤติกรรมของคนในสังคม


งานนี้คงไปโทษใครไม่ได้ เพราะการเข้าสู่การเป็นผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการทีวีดิจิทัลถูกกำหนดด้วยตัวเลขเงินประมูล ไม่ใช่คุณสมบัติหรือประสบการณ์ในการทำสื่อของผู้ประมูล จำได้ว่าตั้งแต่เจ๊ติ๋มประมูลได้ช่องรายการเด็กและครอบครัวไป หลายคนก็ตั้งข้อกังขากันมาก แล้วเวลาก็พิสูจน์ให้เห็นว่าข้อกังขานั้นมีมูลจริงๆ


อันที่จริง กรณีการจ่ายเงินค่าประมูลน่าจะเป็นเพียงยอดของภูเขาน้ำแข็งในแง่สำนึกของคนทำสื่อในยุคสมัยนี้ สิ่งที่สะท้อนให้เห็นชัดเจนกว่าน่าจะเป็นเรื่องของการผลิตเนื้อหาซึ่งเป็นหัวใจของอาชีพสื่อ ไม่ว่าจะเป็นข่าว โฆษณา ละคร วาไรตี้ หรือ เกมโชว์ ก็ปรากฏกรณีของความไม่รับผิดชอบทางจริยธรรมอยู่เนืองๆ แม้จะเป็นส่วนที่น้อยกว่า แต่หลายครั้งการที่ผู้ประกอบการรายใหญ่ทำผิดเสียเอง ก็ทำให้ศรัทธาต่อระบบสื่อสารมวลชนไทยไหวคลอนไปอย่างไม่ต้องสงสัย


กรณีหนึ่งที่ยังไม่ค่อยมีการพูดถึงในระดับสาธารณะเท่าใด ก็คือ การจัดเรทหรือระดับความเหมาะสมของเนื้อหา โดยเฉพาะเนื้อหาทางโทรทัศน์ ที่ทางกสทช.กำหนดให้ผู้ประกอบกิจการต้องมีการกำหนดเรทให้เหมาะสมตามเนื้อหาที่ปรากฏจริงในรายการ โดยมีเงื่อนไขการพิจารณาอยู่ในเรื่อง เพศ ภาษา และ ความรุนแรงเป็นสำคัญ เหล่านี้ ผู้ผลิตรายการเป็นคนให้เรท โดยมีสถานีเป็นผู้ดูแลอยู่อีกชั้นหนึ่ง และกสทช.คอยกำกับดูแลอยู่ถัดไป โดยเฉพาะเมื่อเกิดปัญหา เรทไม่ตรงกับเนื้อหา


อนึ่ง การให้เรทผูกพันอยู่กับช่วงเวลาของการออกอากาศ และกลุ่มอายุของประชาชนที่ควรเปิดรับ ตัวอย่างเช่น ถ้าเป็น เรท ท. ทั่วไปจะสามารถออกอากาศเวลาไหนก็ได้ในช่วงวัน ขณะที่เรท น. 13 (ผู้ใหญ่ควรให้คำแนะนำ และผู้ชมควรมีอายุ 13 ปีขึ้นไป) จะออกอากาศได้หลัง 20.30 น. จนถึง 05.00 น. ของวันถัดไป และ น.18 (ผู้ใหญ่ควรให้คำแนะนำ และผู้ชมควรมีอายุ 18 ปีขึ้นไป) จะออกอากาศได้หลัง 22.00 น. จนถึง 05.00 น. ของวันถัดไป


ทั้งนี้ กสทช.ได้มีการจัดพิมพ์คู่มืออย่างละเอียดเพื่อประกอบการพิจารณาการให้เรทของทางสถานี เช่น ในเรื่องของความรุนแรง จะมีแยกย่อยเป็นหัวข้อ การกระทำความรุนแรงต่อตนเอง ต่อผู้อื่น ต่อสัตว์หรือสิ่งมีชีวิตอื่น หรือ ความรุนแรงแนวจินตนาการ ถ้าเป็นเรท ท. การนำเสนอความรุนแรงจะต้องไม่เป็นองค์ประกอบหลักของเนื้อหา ไม่เน้นผลของการกระทำ ไม่เห็นเลือดหรือบาดแผล และจะต้องไม่แสดงถึงความโหดร้าย ผิดมนุษยธรรม เป็นต้น


ปัญหาที่เกิดขึ้นบ่อยๆ โดยเฉพาะตั้งแต่มีทีวีดิจิทัลมาก็คือ ผู้ผลิตรายการและสถานีมีแนวโน้มจะให้เรท ท. กับเนื้อหารายการกันจนเฟ้อ โดยเฉพาะรายการละคร ที่สามารถนำกลับมาฉายใหม่ได้ ทั้งนี้ก็เพราะ ช่วงเวลาของการนำเนื้อหาเดิมมาออกอากาศใหม่ หรือ การรีรัน (Rerun) มักทำในช่วงกลางวัน ซึ่งจำเป็นต้องอาศัย เรทท. เป็นฐาน ทว่าเนื้อหารายการละครจำนวนมาก “แรง” กว่าที่จะอยู่ในเรท ท. แต่ผู้ผลิตและสถานีก็ยังหลับตาข้างเดียวให้เรท ท. ไป เพราะเล็งผลไปถึงอนาคตของการรีรัน ยิ่งธุรกิจทีวีดิจิทัลต้นทุนสูงและรายได้ยังไม่เสถียร ก็ยิ่งต้องพยายามสร้างโอกาสในการลดต้นทุน โดยการรีไซเคิลเนื้อหา


ละครบางเรื่อง แม้จะมีการปรับฉากที่แรงๆ ให้เบาลง แต่พล็อตหรือธีมสำคัญของเรื่องก็คงไม่น่าจะจัดเป็นเรท ท.อยู่ดี อย่างละครไพรม์ไทม์ “ไม่สิ้นไร้ไฟสวาท” ของสถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 7 ที่เพิ่งจบไปและมีเนื้อเรื่องพัวพันกับการใช้ความรุนแรงกับผู้หญิงโดยตลอด ถูกให้เรท “ท.” ทั้งๆ ที่ออกอากาศอยู่ในช่วงของน.13 ก็คงไม่ต้องสงสัยว่า แรงจูงใจน่าจะอยู่ในเรื่องการนำไปรีรันเป็นสำคัญ


อาจฟังดูเหมือนไม่ใช่เรื่องใหญ่โตอะไร แต่นี่ก็เป็นบททดสอบสำนึกทางจริยธรรมแบบง่ายๆ ของคนทำสื่อว่ารับผิดชอบกับคนดูเพียงใด หลักการสำคัญของการกำหนดให้มีเรทก็คือเพื่อคุ้มครองเด็กและเยาวชนจากการเปิดรับเนื้อหาที่ไม่เหมาะสมและไม่ส่งเสริมการพัฒนาตามวัย


บางที อาจจะต้องลองให้ทางผู้ (ไม่) รับผิดชอบในการให้เรทเนื้อหารายการในลักษณะดังกล่าว เปิดเนื้อหาที่ได้เรท ท. (แบบเทียมๆ) ที่เต็มไปด้วยเนื้อหาอันล่อแหลมเหล่านี้ ให้ลูกหลานเด็กเล็กของตัวเองดูซัก 4 - 5 ชั่วโมง อาจจะดึงสำนึกคืนมาได้บ้าง