ระบบราชการ กับช่วงเวลาของคณะรัฐประหาร

ระบบราชการ กับช่วงเวลาของคณะรัฐประหาร

การใช้จ่ายเงินงบประมาณของรัฐกลายเป็นเครื่องยนต์เดียวที่ยังมีพลังในการกระตุ้นเศรษฐกิจของชาติ

 เพราะเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจอื่นๆ นั้นอาจจะเรียกได้ว่าดับหรือกำลังจะดับแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการส่งออกหรือการท่องเที่ยว แต่ขณะเดียวกัน ปัญหาที่กำลังเกิดขึ้น ก็คือ การเบิกจ่ายเงินงบประมาณของรัฐนั้นต่ำกว่าเป้าหมายที่วางไว้อย่างมากมาย โดยเฉพาะในส่วนของงบการลงทุน ที่ประมาณการเอาไว้ว่าจะใช้ให้ได้ถึงร้อยละ 55 แต่ในความเป็นจริงกลับใช้ไปเพียงร้อยละ 31.1 ซึ่งต่ำกว่าเป้าหมายถึงร้อยละ 23.9


แน่นอนว่าการใช้จ่ายเงินงบลงทุนจะมีผลโดยตรงต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งแตกต่างจากการใช้จ่ายงบประจำ เช่น เงินเดือนข้าราชการเพราะการใช้จ่ายเงินเดือนนั้นขึ้นอยู่กับปัจจัยส่วนบุคคลและเงื่อนไขความมั่นใจอื่นๆ อีกหลายด้าน


ในเมื่อการใช้จ่ายงบประจำต่ำกว่าประมาณการเช่นนี้ย่อมมีผลทำให้เงินไหลหมุนเวียนในตลาดยิ่งน้อยลงไปอีก ระบบเศรษฐกิจย่อมฝืดเป็นธรรมดา


การหาทางออกในการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยเงินงบประมาณจากภาครัฐ จึงหันเหไปสู่การเพิ่มเงินเดือนข้าราชการ เพราะหวังว่าจะทำให้เกิดการขยายตัวของการบริโภคเพื่อเป็นแรงขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจที่กำลังฝืดนี้ให้เดินหน้าต่อไปได้ ความหวังเช่นนี้ของรัฐบาลอาจมีส่วนเป็นจริงอยู่บ้างแต่ก็ไม่น่าจะมากอย่างที่รัฐบาลคาดหวังเอาไว้


ประเด็นที่จำเป็นต้องทำความเข้าใจ ก็คือ ทำไมการใช้จ่ายเงินงบลงทุนจึงต่ำกว่าเป้าหมายมาก


นี่คือความ “เขี้ยว” ของระบบราชการไทยครับ


ระบบราชการไทยมี “ช่องว่าง” ให้ผู้มีอำนาจในแต่ละหน่วยงานสามารถที่จะหา “เบี้ยบ้ายรายทาง” จากงบประมาณส่วนจัดซื้อจัดจ้าง ไม่ว่าจะเป็นการคอร์รัปชันตรงๆ (ก้อนใหญ่) หรืออยู่ในรูปของค่าคอมมิชชั่นระดับต่างๆ (ก้อนเล็กหน่อยแต่ไม่มีความเสี่ยงว่าอาจจะติดคุก) กระบวนการหารายได้จากงบประมาณด้านการลงทุนเป็น “ช่องว่าง” ที่ขยายตัวมากที่สุด (ซึ่งขยายตัวมากกว่าการใช้อำนาจการตัดสินใจในการอนุมัติต่างๆ เพราะการใช้อำนาจตัดสินใจนั้นหากไม่ดูตาม้าตาเรือให้ดีก็อาจจะก่อให้เกิดอันตรายแก่ตัวผู้ใช้อำนาจได้ในภายหน้า)


ในช่วงเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมา ถือได้ว่าการจัดความสัมพันธ์ระหว่างหน่วยราชการกับฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับงบลงทุนมีความลงตัวระดับหนึ่ง จนทุกๆ ฝ่ายสามารถรับรู้ได้ว่าบริษัทอะไรจะได้งบประมาณของหน่วยงานไหน หากมีการข้ามเส้นความสัมพันธ์นี้ก็จะต้องเป็นผู้ที่ “เส้นใหญ่” จริงๆ เท่านั้น ซึ่งหลายครั้งที่การ “ข้ามเส้น” นี้ก่อให้เกิดความขัดแย้งขึ้นมาในระบบความสัมพันธ์จนเกิดการฟ้องร้องกันในหลายกรณี


แม้ในช่วงที่พรรคการเมืองพรรคใดพรรคหนึ่งสามารถครองอำนาจได้นานหน่อย แต่หากนักการเมืองพรรคนั้นๆ อยากจะได้ส่วนแบ่งจากเงินงบลงทุนนี้ ก็จะต้องไปต่อรองเพื่อแบ่งบางส่วนมาจากระบบราชการ ไม่สามารถใช้อำนาจรัฐบาลหรือพรรคการเมืองเอามาทั้งหมดได้ หากระบบราชการประเมินแล้วว่าพรรคนั้นๆ จะอยู่ในอำนาจนานก็จะแบ่งผลประโยชน์ให้ในสัดส่วนที่มากหน่อย


กล่าวได้ว่าสภาพการจัดความสัมพันธ์ระหว่างหน่วยราชการกับผู้รับทำโครงการตามเงินงบประมาณการลงทุน (ผมไม่ค่อยอยากเรียกคนกลุ่มนี้ว่านักธุรกิจ) ทำให้กลายเป็นระบบของการแสวงหาค่าเช่าทางเศรษฐกิจ และทำให้เรียกระบบราชการได้ว่าสังคมของการแสวงหาค่าเช่า (Rent seeking system and rent seeking society)


ในด้านหนึ่งของระบบการแสวงหาค่าเช่าทางเศรษฐกิจเช่นนี้ทำให้เงินงบประมาณไหลเวียนสะดวกและรวดเร็ว และมีผลทางเศรษฐกิจที่ทำให้เกิดการขยายตัวของการจ้างงานและ/หรือการบริโภค แต่ในอีกด้านหนึ่ง กลับเป็นการบั่นทอนการสร้างศักยภาพโดยรวมของผู้ประกอบการทั่วไป หากจะกล่าวอย่างตรงไปตรงมา ก็คือ สังคมไทยเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจมาได้ก็เพราะระบบการแสวงหาค่าเช่าทางเศรษฐกิจนี่แหละ (เพราะคนไทยขี้โกง จึงทำให้เศรษฐกิจเติบโต) แต่ก็ทำให้เกิดความชะงักงันเมื่อถึงเวลาที่จะต้องให้ผู้ประกอบการแข่งขันกับกลุ่มทุนอื่นๆ ในระบบเศรษฐกิจโลก เพราะการอยู่กับค่าเช่าทางเศรษฐกิจทำให้คนที่พัวพันอยู่ทั้งสองฝ่าย “ไม่ฉลาด” และ “ไม่สามารถ” ในการดำเนินธุรกิจมากขึ้นเลย


แต่เมื่อเกิดการรัฐประหารและมีรัฐบาลชั่วคราวขึ้นมา คณะทหารก็มักจะอ้างความชั่วร้ายของการแสวงหาค่าเช่านี้ว่าเป็นสาเหตุของการยึดอำนาจ และจะต้องแสดงความเด็ดขาดในการแก้ไขปัญหานี้ ซึ่งเป็นการสร้างความชอบธรรมให้แก่ความไม่ชอบธรรมในการรัฐประหาร (กรณีการขอคืนพื้นที่ป่าและจับกุมชาวบ้านก็เป็นเช่นเดียวกัน คนจน/คนตัวเล็กตัวน้อยก็กลายเป็นเหยื่อให้แก่การสร้างความชอบธรรมจอมปลอมนี้ จะขอเขียนเรื่องนี้ในคราวต่อไป)


ความพยายามจะแสดงความเด็ดขาดในการแก้ไขปัญหาระบบการแสวงหาค่าเช่าทางเศรษฐกิจได้ส่งผลกระทบต่อระบบราชการทั้งหมด เพราะระบบราชการรู้ดีว่าหากทำมาหากินแบบเดิมก็มีโอกาสที่จะถูก “เชือดคอไก่ ให้ลิงดู” ขณะเดียวกันก็ตระหนักดีว่าคณะทหารไม่สามารถจะครองอำนาจได้ยาวนานนัก ดังนั้น การงดใช้จ่ายเงินงบประมาณลงทุนชั่วคราวเพื่อรอรัฐบาลใหม่ที่ไม่กล้าเล่นเรื่องนี้หรือเจรจาแบ่งปันผลประโยชน์ได้ง่ายกว่าจึงเป็นทางเลือกที่ใช้กัน เพราะถึงอย่างไรรัฐก็ต้องลงทุนอยู่แล้ว แม้ในระบบราชการทหารเองก็เป็นแบบเดียวกันนี้ (รอไปอีกสักปีก็แล้วกันนะพรรคพวก)


ยิ่งรัฐบาลทหารแสดงความแข็งกร้าวในการจัดการกับการโกงกินมากเท่าไร ระบบราชการก็จะยิ่ง “นิ่ง” มากขึ้นในการใช้จ่ายงบประมาณการลงทุน ผมเชื่อว่ารัฐบาลทหารก็ตระหนักดีในเรื่องนี้ จึงพยายามหาทางออกด้วยการเพิ่มเงินเดือนในงบประมาณประจำ แต่รัฐบาลทหารจะแสดงความไม่ใส่ใจเรื่องนี้ก็ไม่ได้ เพราะต้องแสดงความชอบธรรมให้ปรากฏแก่สาธารณะ มันจึงเป็นสภาวะที่เรียกว่า “อยู่ระหว่างเขาควาย” (ภาษาอังกฤษใช้คำว่า Dilemma) ดังนั้น ผมคิดว่าจากนี้ไป ระบบราชการจะ “ใส่เกียร์ว่าง” มากขึ้นกว่าเดิม เพื่อรอรัฐบาลใหม่ที่มาจากการเลือกตั้งในการสานต่อระบบการแสวงหาค่าเช่าทางเศรษฐกิจต่อไป (ควรจะฮาหรือ “โฮ” ดีครับ)


ดังนั้น หากสังคมจะคิดเรื่องการยุติ/ปราบระบบการแสวงหาค่าเช่าทางเศรษฐกิจในระบบราชการทุกระดับก็ต้องคิดทางอื่นครับ หากหวังพึ่งคณะทหารผ่านการรัฐประหาร ก็จะพบว่ายิ่งทำให้ระบบเศรษฐกิจทรุดตัวลงไป คงต้องคิดถึงการตรวจสอบจากมุมอื่นๆ ให้มากขึ้น แล้วค่อยๆ ทำให้การตัดสินใจใช้งบประมาณในมุมมืดนั้นสว่างมากขึ้นๆ ครับ