คนไทยเสพติด 'แอพ' ...ติดอันดับโลก

คนไทยเสพติด 'แอพ' ...ติดอันดับโลก

ไทยเป็นประเทศที่มีตลาดสมาร์ทโฟนใหญ่เป็นอันดับ 2 ในภูมิภาคอาเซียน ด้วยจำนวนผู้ใช้งานมือถือบนเครือข่าย 3จี

 และ 4จี ที่รวมกันทั้งสิ้น 87.5 ล้านเลขหมาย ส่งผลให้ตลาดคอนเทนท์บนมือถือ มีศักยภาพในการเติบโตสูงและเป็นตลาดที่น่าลงทุน สำหรับผู้พัฒนาแอพพลิเคชั่นในไทยและจากต่างประเทศ

ไม่แปลกที่ “ยูทูบ” ซึ่งเพิ่งจะฉลองครบรอบการก่อตั้ง ยูทูบ ประเทศไทย ครบ 1 ปี ไปเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา จะทำสถิติที่น่าสนใจในไทยมากมาย โดยเฉพาะการใช้งานที่ติดอันดับโลก (อีกแล้ว) ยูทูบ บอกว่า ไทย ติด 1 ใน 10 ประเทศที่เข้าใช้งานยูทูบมากที่สุดของโลก และมีการเข้าใช้งานยูทูบผ่านอุปกรณ์โมบาย เช่น สมาร์ทโฟน แทบเล็ต เกิน 50%

ยูทูบไม่ใช่แอพ หรือแพลตฟอร์มโซเชียลแรกๆ ที่คนไทยใช้งานติดอันดับโลก ยังมี เฟซบุ๊ค, ไลน์ รวมถึงอาจมีโซเชียล แพลตฟอร์มอื่นๆ ที่คนไทยใช้งานติดอันดับโลกเช่นกัน  

เมื่อเร็วๆ นี้ ไอดีซีได้ประเมินตลาดคอนเทนท์และโมบายแอพพลิเคชั่นในไทย ซึ่งข้อมูลพบว่า ยังสามารถโตได้อีกมหาศาล ไอดีซี บอกว่า ไทยเป็นตลาดที่มีจำนวนผู้เข้าใช้งานแอพพลิเคชั่นด้านโซเชียลเน็ตเวิร์คและด้านความบันเทิงที่สูงมากถึง 24 ล้านคน หรือคิดเป็น 37% ของจำนวนประชากรไทย โดยแอพพลิเคชั่นที่มีการเข้าใช้งานส่วนใหญ่ คือ เฟซบุ๊ค, ไลน์, วอทส์แอพ, กูเกิล แมพส์, ทริปแอดไวเซอร์, อโกด้า, ยูทูบ เกมส์, วิดีโอ รวมไปถึงการฟังเพลงบนมือถือ

ในจำนวน 24 ล้านคน มีผู้ที่ใช้งานแอพพลิเคชั่นโซเชียลเน็ตเวิร์คอยู่ทั้งสิ้น 22 ล้านคน ถือเป็นอัตราที่สูงสุดเมื่อเทียบกับการเข้าใช้งานแอพพลิเคชั่นด้านอื่นๆ ในส่วนของแอพพลิเคชั่นด้านความบันเทิงนั้นมีจำนวนผู้ที่เข้าใช้งานทุกวันเฉลี่ยอยู่ที่ 14 ล้านคน นอกเหนือจากแอพพลิเคชั่นเกี่ยวกับโซเชียล เน็ตเวิร์คและด้านบันเทิงแล้ว

โมบาย ชอปปิงเป็นอีกหนึ่งแอพพลิเคชั่นที่กำลังได้รับความนิยมในไทย ไอดีซี ประเมินว่า มีผู้ใช้คิดเป็น 25% ของจำนวนผู้ใช้ทั้งหมด ส่วนการใช้งานแอพพลิเคชั่นอื่นๆ เช่น โมบาย แบงก์กิ้ง โมบาย คอมเมิร์ซ การท่องเที่ยว รีวิวร้านอาหาร และ สุขภาพ ยังมีอัตราการใช้งานที่น้อย แต่ก็มีโอกาสเติบโต

ตลาดแอพพลิเคชั่นบนมือถือ เป็นตลาดที่มีศักยภาพในการสร้างรายได้ที่สูง โดยในปีที่ผ่านมานั้นรายได้ที่เกิดจากแอพพลิเคชั่นบนมือถือมีมูลค่าสูงถึง 600 ล้านดออลลาร์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นรายได้ที่มาจากการเก็บค่าโฆษณาในแอพพลิเคชั่นบนมือถือ ซึ่งมีมูลค่าราว42% ของรายได้ในตลาดทั้งหมด

แน่นอนว่า ผู้พัฒนาคอนเทนท์หรือเจ้าของคอนเทนท์จากต่างประเทศยังคงครองตลาดในส่วนของจำนวนดาวน์โหลดและการใช้งาน ส่งผลให้เกิดความแตกต่างที่สูงระหว่างจำนวนผู้ใช้งานแอพพลิเคชั่นจากต่างประเทศ และแอพพลิเคชั่นที่เป็นของคนไทย ไอดีซี พบว่า ปัจจุบันมีสัดส่วนอยู่ที่ 9 ต่อ 1 (ตัวเลข ณ สิ้นเดือนเม.ย.2558) แต่ก็ใช่ว่า แอพพลิเคชั่นที่คนไทยพัฒนาขึ้นเองจะไม่ได้รับความนิยม มีหลายๆ แอพ ที่มีจำนวนคนใช้งานเพิ่มขึ้นมากมาย เช่น แอพที่หลายๆ คนรู้จักกันอย่าง แอพ Wongnai เป็นต้น

น่าสนใจว่า จากนี้ไป ตลาดแอพพลิเคชั่นบนโมบายยังจะเติบโตได้อีกมโหฬาร มหาศาล ..จะว่าไปแล้ว ก็เป็นอีกหนึ่งโอกาสของนักพัฒนาไทย หรือ ธุรกิจไทยในการใช้ช่องทางเหล่านี้ต่อยอดสร้างรายได้ เพิ่มมูลค่าให้กับวงจรเศรษฐกิจของไทยได้ หากมีกระบวนการ แนวทาง การสนับสนุนที่ดี

ยังอยากเห็น แอพคนไทยที่สามารถไปโลดแล่นในระดับโลก และมีผู้ใช้ติดอันดับโลก....เยอะๆ