ธนาคารกับอาการของความป่วยแห่งยุค

ธนาคารกับอาการของความป่วยแห่งยุค

ในช่วงนี้ มีข่าวพาดหัวมากมาย เรื่องธนาคารยักษ์ใหญ่ 5 แห่งถูกปรับ 5,500 ล้านดอลลาร์เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาคงไม่สร้างความสนใจเท่าไรนัก

อย่างไรก็ดี เรื่องนี้อาจสะท้อนความป่วยถึงพื้นฐานของสังคมอีกครั้ง จึงขอนำมาปันเพื่อช่วยกันคิดว่าน่าจะทำอะไรต่อไปหรือไม่


ธนาคารที่ถูกปรับโดยสหรัฐได้แก่ซีตี้คอร์ป เจพีมอร์แกนเชส ของสหรัฐ บาร์เคลย์สและรอยัลแบงค์ออฟฟ์สกอตแลนด์ของสหราชอาณาจักร และยูบีเอสของสวิตเซอร์แลนด์ ยักษ์ใหญ่เหล่านี้มีบทบาทสูงมากในด้านการขึ้นลงของอัตราแลกเปลี่ยนและดอกเบี้ยในตลาดโลก เนื่องจากพนักงานของธนาคารขาดจรรยาบรรณ จึงฮั้วกันบิดเบือนตลาดเพื่อทำกำไรให้นายจ้าง แทนที่จะแข่งขันกันอย่างจริงจังตามหลักตลาดเสรี ผู้บริหารของธนาคารจะรู้เห็นเป็นใจด้วยหรือไม่ หรือจงใจเอาหูไปนาเอาตาไปไร่ไม่เป็นที่ประจักษ์ พนักงานบางคนถูกลงโทษหนักถึงขั้นไล่ออก แต่ธนาคารยังทำกิจการต่อไปแบบไม่สะทกสะท้านเนื่องจากค่าปรับนั้นเป็นเงินเพียงก้อนเล็กโๆ สำหรับยักษ์ใหญ่ทั้งห้าซึ่งเมื่อปีที่แล้วทำกำไรได้กว่า 80,000 ล้านดอลลาร์ ร้ายยิ่งกว่านั้น รัฐบาลสหรัฐไม่มีทีท่าจะว่าจะปรับเปลี่ยนกฎหมายที่จะส่งผลให้พนักงานและธนาคารเปลี่ยนพฤติกรรมไปในทางที่ดี


การที่ทางการสหรัฐดูจะไม่ทำอะไรมากไปกว่าปรับธนาคารทั้งห้าเป็นเงินเพียงเท่านั้นอาจมีต้นเหตุหลายอย่าง ต้นเหตุอาจมาจากแนวคิดทางเศรษฐกิจระบบตลาดเสรีซึ่งปรากฏการณ์นั้นยืนยันการใช้หลัก “ฉันทามติแห่งกรุงวอชิงตัน” อีกครั้ง หลักดังกล่าวปล่อยให้ภาคเอกชนทำอะไรๆ ได้อย่างเสรีโดยมีภาครัฐเข้าไปควบคุมน้อยที่สุด ทั้งนี้เพราะอ้างกันว่าภาคเอกชนมีจรรยาบรรณและการถูกปล่อยให้ทำอะไรๆ กันได้อย่างเสรีจะส่งผลให้เศรษฐกิจมีประสิทธิภาพสูงสุด การยึดฉันทามติแห่งกรุงวอชิงตันอันเป็นระบบตลาดเสรีแบบใกล้ตกขอบเกิดขึ้นในยุคประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกน (พ. ศ. 2524 - พ. ศ. 2532) และยังไม่เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญมาจนกระทั่งทุกวันนี้ ทั้งที่ภาคการเงินก่อให้เกิดวิกฤติหลายครั้งรวมทั้งในระหว่างที่ประธานาธิบดีเรแกนยังอยู่ในตำแหน่งด้วย วิกฤติครั้งแรกเกิดเมื่อปี 2529 ซึ่งมีผลทำให้สถาบันการออมทรัพย์ในสหรัฐ 1,043 จากทั้งหมด 3,234 แห่งล้มละลายสร้างความเสียหายมหาศาล


วิกฤติครั้งนั้นมิได้นำไปสู่การเปลี่ยนความคิด วิกฤติเศรษฐกิจร้ายแรงที่สุดเป็นอันดับสองในประวัติศาสตร์จึงเกิดขึ้นเมื่อปี 2551 วิกฤติครั้งนี้มีต้นตอมาจากภาคการเงินเล่นแร่แปรธาตุทางการเงินกันอย่างกว้างขวาง การกระทำหลายอย่างผิดกฎหมายส่งผลให้เกิดฟองสบู่ในภาคอสังหาริมทรัพย์ในขณะที่สถาบันการเงินใหญ่ๆ ทำกำไรได้อย่างงดงาม เมื่อฟองสบู่ปะทุและเกิดวิกฤติเศรษฐกิจครั้งใหญ่ สถาบันการเงินเหล่านั้นได้รับการอุ้มชูจากภาครัฐซึ่งอ้างว่าถ้าปล่อยในธนาคารล้มละลาย ความเสียหายจะเพิ่มเป็นทวีคูณ การปฏิบัติของภาครัฐเช่นนั้นมีผลทำให้ธนาคารยิ่งย่ามใจในการละเมิดจรรยาบรรณและกฎหมายเพราะไม่ต้องเสี่ยงต่อการล้มละลาย หรือถูกยุบ


อนึ่ง ผู้ที่ติดตามความเป็นไปในยุโรปย่อมทราบดีแล้วว่า กรีซประสบวิกฤติเศรษฐกิจถึงขั้นล้มละลายมาหลายปีและในเร็วๆ นี้อาจถูกขับออกจากสหภาพยุโรป กรีซเป็นตัวอย่างในทางทำเลวร่วมกับธนาคาร นั่นคือ จ้างธนาคารโกลด์แมนแซคส์มาตกแต่งบัญชีเพื่อตบตาสมาชิกสหภาพยุโรปตั้งแต่วันก่อนกรีซเข้าเป็นสมาชิกจนถึงวันล้มละลาย ทั้งรัฐบาลและธนาคารขาดจรรยาบรรณอย่างร้ายแรง รัฐบาลกรีซถูกขับไล่ ชาวกรีซส่วนใหญ่รับกรรม แต่ธนาคารไม่ถูกทำโทษ


การที่ธนาคารทำอะไรต่อมิอะไรได้อย่างเสรีทั้งที่ผิดจรรยาบรรณเป็นที่ประจักษ์อาจมองได้ว่ามีต้นเหตุมาจากการเมือง นั่นคือ ธนาคารเหล่านั้นเป็นหัวจักรสำคัญของภาคการเงินซึ่งมีทรัพย์สินมหาศาลและใช้ทรัพย์นั้นสร้างอิทธิพลทางการเมือง เรื่องนี้อาจทำผ่านการสนับสนุนพรรคและนักการเมืองในการเลือกตั้ง หรือผ่านนักวิ่งเต้นอาชีพที่มีเครือข่ายฝังลึกอยู่ในวงการเมือง นักวิ่งเต้นเหล่านั้นมีบทบาทสำคัญในการเสนอข้อมูลและมุมมองของนายจ้างเพื่อสร้างภาพลวงสำหรับโน้มน้าวความเห็นของนักการเมืองและสาธารณชน แม้แต่คนไทยยังไปจ้างพวกเขาดังที่เราได้ยินกันเป็นประจำ


แม้จะสร้างความเสียหายร้ายแรง แต่ต้นเหตุทั้งสองที่อ้างถึงนั้นจะไม่สร้างความเสียหายต่อไปเท่ากับในกรณีที่ต้นเหตุมาจากความเสื่อมทรามทางศีลธรรมจรรยา อาจจำกันได้ว่า คอลัมน์นี้พูดถึงความเสื่อมทรามทางศีลธรรมจรรยาหลายครั้งในบริบทต่างๆ กัน อาทิเช่น เคยเสนอว่าความเสื่อมทรามทางศีลธรรมจรรยาแสดงอาการออกมาในรูปของวิกฤติเศรษฐกิจหลังรัฐบาลไทยลอยค่าเงินบาทเมื่อตอนกลางปี 2540 นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลโจเซฟ สติกลิตซ์ พูดไว้ในหนังสือเรื่อง Freefall: America, Free Markets, and the Sinking of the World Economy (พิมพ์ปี 2553 และคอลัมน์นี้ประจำวันที่ 7 พฤษภาคม 2553 นำแก่นของเนื้อหามาเสนอ) ว่า ต้นตอของวิกฤติในสหรัฐได้แก่ “การขาดดุลทางศีลธรรมจรรยา” (Moral Deficit) และนักวิเคราะห์บางคนมองว่า สหรัฐอาจกำลังเดินตามอาณาจักรโรมันที่ปล่อยให้ความเสื่อมทรามทางศีลธรรมจรรยาพาไปสู่ความล่มจม (ดูหนังสือเรื่อง Are We Rome?: The Fall of an Empire and the Fate of America โดย คัลเลน เมอร์ฟี่ ซึ่งมีบทคัดย่อภาษาไทยอยู่ในเว็บไซต์ของมูลนิธินักอ่านบ้านนา www.bannareader.com)


ความเสื่อมทรามทางศีลธรรมจรรยาจะทำให้สังคมป่วยจริงหรือไม่คงถกเถียงกันไม่มีวันสิ้นสุด อย่างไรก็ดี เนื่องจากเมืองไทยมีความฉ้อฉลสูง ฉะนั้น คงไม่ต้องถกเถียงกันหากรัฐบาลจะลดความฉ้อฉลอย่างเร่งด่วน