แก้เศรษฐกิจฟื้นหรือฟุบ ต้องอยู่บนพื้นฐานความจริง

แก้เศรษฐกิจฟื้นหรือฟุบ ต้องอยู่บนพื้นฐานความจริง

รายงานยอดการส่งออกเดือน เม.ย. 2558 มีมูลค่า 16,900 ล้านดอลลาร์ ลดลง 1.70%

ขณะที่ยอดนำเข้ามูลค่า 17,423 ล้านดอลลาร์ ลดลง 6.48% ส่งผลให้ขาดดุลการค้า 522 ล้านดอลลาร์ มูลค่าส่งออก 4 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค-เม.ย) มูลค่า 70,265 ล้านดอลลาร์ ลดลง 3.99% นำเข้ามูลค่า 69,359 ล้านดอลลาร์ ลดลง 6.53% ส่งผลให้ 4 เดือนไทยขาดดุลการค้า 906 ล้านดอลลาร์ สินค้าส่งออกเดือน เม.ย. สินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรหดตัวต่อเนื่อง 3.9% แต่หดตัวในอัตราที่ลดลง ซึ่งเป็นไปตามทิศทางของราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกที่ยังคงลดลงต่อเนื่อง ขณะที่สินค้าอุตสาหกรรม ลดลง 0.3% จากปัจจัยราคาน้ำมันดิบโลกลดลง กดดันให้ราคาส่งออกสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันดิบหรืออุตสาหกรรมที่มีโครงสร้างการใช้วัตถุดิบซึ่งมาจากการกลั่นปิโตรเลียมลดลงตามไปด้วย

ตลาดส่งออกหลักเดือนเม.ย. ขยายตัว 0.9% โดยตลาดสหรัฐ ขยายตัว 8.4% แต่สหภาพยุโรป ลดลง 3.5% และญี่ปุ่น ลดลง 3.0% ส่วนตลาดศักยภาพสูง ลดลง 3.0% ได้แก่ อาเซียนลดลง 6.1% โดยอาเซียนเดิมลดลง 11.6% มาเลเซียลดลง 24.6% อินโดนีเซียลดลง 10.7% และบรูไน ลดลง 27.3% ขณะที่อาเซียนใหม่ (CLMV) ขยายตัว 3.5% ส่วนตลาดจีนขยายตัว 1.1% เป็นการกลับมาขยายตัวครั้งแรกในรอบปีนี้ หลังจากส่งออกลดลงถึง 15.1% เมื่อเดือน ก.พ. และลดลง 15.1% เมื่อเดือน มี.ค. สาเหตุที่ส่งออกกลับมาเป็นบวกในเดือนเม.ย. มาจากการส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง และผลิตภัณฑ์ยางที่กลับมาขยายตัวเป็นบวกอย่างมาก หลักจากหดตัวต่อเนื่องมาตั้งแต่ต้นปี เนื่องจากความต้องการกลับมาเพิ่มขึ้น หลังจากที่ลดการนำเข้าจากความสามารถในการผลิตใช้ภายในประเทศ

อย่างไรก็ตาม ข้ออ้างที่ว่าการส่งออกเดือน เม.ย. ติดลบนั้น เป็นไปตามแนวโน้มที่เกิดขึ้นประจำทุกปี เพราะเป็นช่วงที่มีวันหยุดหลายวันอยู่ในเกณฑ์ที่รับฟังได้ และอุตสาหกรรมทั่วๆ ไปมักประสบปัญหานี้เป็นประจำต่อเนื่องมา ดังนั้น ต้องเกาะติดข้อมูลอย่างต่อเนื่องในเดือนต่อๆ ไปว่า จากนี้การส่งออกจะมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นและพลิกกลับมาเป็นบวกได้จากปัจจัยสำคัญคือค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลง แม้ว่าจะยังอ่อนค่าน้อยกว่าหลายประเทศทั้งมาเลเซียและอินโดนีเซีย โดยประเมินว่าอัตราแลกเปลี่ยนเฉลี่ยที่ 32.4-33 บาทต่อดอลลาร์เหมาะสมกับการส่งออก ทั้งมีปัจจัยทิศทางราคาน้ำมันดีขึ้น เช่นเดียวกับราคาสินค้าเกษตรยกเว้นยางพาราที่เริ่มปรับตัวดีขึ้นตามข้อมูลจากสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ กล่าวไว้หรือไม่

ควบคู่กัน ต้องพิจารณาถึงผลการจัดอันดับขีดความสามารถ ในการแข่งขันของประเทศต่างๆ ทั่วโลก จาก 61 เขตเศรษฐกิจ โดย World Competitiveness Center สถาบันไอเอ็มดี (International Institute for Management Development) ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งชี้ว่า ปัญหาเศรษฐกิจไทยบั่นทอนความสามารถในการแข่งขัน หล่นลงมา 1 ระดับจากปีที่ผ่านมา หรืออยู่อันดับที่ 30 จากปีก่อนหน้าเคยอยู่อันดับที่ 29 แม้คะแนนรวมของไทยจะสูงขึ้นจาก 64.98 คะแนน เป็น 69.79 คะแนน แต่เมื่ออันดับถูกปรับลดลง แสดงให้เห็นว่าไทยยังทำได้ไม่ดีพอ และไม่เร็วพอ เมื่อเปรียบเทียบกับอีกหลายประเทศ ที่รักษาระดับความสามารถในการแข่งขันไว้ได้ ข้อมูลทุกด้านต้องนำมาประมวลผลร่วมกัน และกำหนดทิศทางนโยบายด้านเศรษฐกิจที่เหมาะสม แก้ปัญหาได้จริง การแก้ปัญหาเศรษฐกิจฟื้นหรือฟุบ ต้องพิจารณาอยู่บนพื้นฐานความจริง ไม่ใช่จินตนาการ