ห้วงเวลาท้าทาย

ห้วงเวลาท้าทาย

เมื่อเร็วๆ นี้ ในงานสัมมนาประจำปีของบริษัทหลักทรัพย์ KK Trade จำกัด ผู้เขียนได้รับเกียรติอย่างสูงให้ร่วมเสวนากับ ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

กูรูนักลงทุนหุ้นคุณค่าอันดับหนึ่งของไทย ในหัวข้อ “The Challenge: ถอดรหัสเศรษฐกิจ คิดแบบ VI” จึงขอสรุปประเด็นที่เสวนาในงาน เพื่อประโยชน์ของผู้อ่าน ดังนี้


ผู้เขียนเปิดประเด็นการเสวนา ด้วยการตอบคำถามเกี่ยวกับทิศทางเศรษฐกิจโลกและไทย รวมถึงแนวโน้มในปี 2557-58 โดยมองว่า เศรษฐกิจโลกในภาพรวมนับตั้งแต่วิกฤตการเงินโลกเป็นต้นมานั้นเผชิญกับภาวะที่เรียกว่า Secular Stagnation หรือการที่เศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างเชื่องช้ากว่าในอดีต อันเป็นผลจากสังคมสูงวัย (Aging Society) ที่ทำให้กำลังแรงงานลดลง นอกจากนั้น เทคโนโลยีที่ก้าวหน้าทำให้ความต้องการแรงงานลดลง ส่งผลให้คนว่างงานทั้งโลกมีมากขึ้น ซึ่งสถานการณ์เช่นนี้จะทำให้ทางการทั่วโลกต้องกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยกดดอกเบี้ยให้ต่ำและ/หรืออัดฉีดเงินผ่านมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณอย่างต่อเนื่อง


ในส่วนของไทยนั้น ผู้เขียนมองว่าทิศทางเศรษฐกิจในช่วง 5 ปีหลังนี้เป็นดั่งกระทงหลงทาง เพราะหลังจากที่เราเผชิญกับ 3 วิกฤตเศรษฐกิจใหญ่ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา อันได้แก่วิกฤตเศรษฐกิจโลก วิกฤตน้ำท่วมใหญ่ และวิกฤติการเมืองไทย ทำให้ไทยยังไม่สามารถหาเครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้อย่างชัดเจน


ไม่ว่าจะเป็นภาคอุตสาหกรรมที่เสื่อมถอยลง ภาคเกษตรที่เผชิญกับราคาที่ตกต่ำ หรือจะเป็นฝั่งการใช้จ่ายทั้งบริโภค ลงทุน การใช้จ่ายภาครัฐ หรือการส่งออกที่ติดลบหรือขยายตัวในระดับปริ่มน้ำทั้งสิ้น จะมีข้อดีอยู่ก็เพียงแต่การที่ธนาคารแห่งประเทศไทยเริ่มเข้าใจในสัญญาณอันตรายดังกล่าว และเริ่มมุ่งเน้นที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างจริงจัง


ภาพเศรษฐกิจเหล่านี้จึงมีนัยสำคัญต่อการลงทุนในปี 2557-58 สี่ประการ คือ (1) ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ (ทั้งน้ำมัน โลหะอุตสาหกรรม โลหะมีค่า และธัญพืช) จะตกต่ำยาว เพราะเศรษฐกิจที่ซึมยาวทำให้ความต้องการลดลง (2) สงครามค่าเงิน อันเป็นผลจากธนาคารกลางมากกว่า 20 แห่ง ผ่อนคลายนโยบายการเงินต่อเนื่องเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการทำให้ค่าเงินอ่อน


(3) กระแสเงินทุนไหลเข้าตลาดเกิดใหม่ยังพอจะมีอยู่ต่อเนื่องแม้ลดลงบ้าง เพราะการอัดฉีดของธนาคารกลางยุโรปและญี่ปุ่น แต่เงินทุนเคลื่อนย้ายจะผันผวนและไหลกลับสหรัฐเมื่อใดที่ Fed ส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยชัดเจน และ (4) การลงทุนภาพรวมยังอาจเผชิญปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ อันนำไปสู่กระแสกลัวความเสี่ยง (Risk Off) ได้ ไม่ว่าจะเป็นประเด็นเกี่ยวกับกรีซ ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ เช่น สงครามระหว่างซาอุดีอาระเบียและเยเมน หรือความผันผวนในตลาดพันธบัตรในช่วงที่ผ่านมา เป็นต้น


ในส่วนการลงทุนในตลาดหุ้นนั้น มุมมองผู้เขียนแบ่งเป็น 2 ช่วงดังนี้ ในช่วงสั้น หุ้นไทยรวมถึงเอเชียยังพอที่จะไปต่อได้ อันเนื่องมาจากภาพใหญ่ที่เป็นบวก 3 ประการ คือ (1) เศรษฐกิจเอเชียยังขยายตัวดีกว่าภูมิภาคอื่น โดยน่าจะขยายตัวประมาณ 5% ในปีนี้ (2) ประเทศในเอเชียยังดำเนินนโยบายการเงินผ่อนคลายซึ่งเอื้อต่อการขยายตัวเศรษฐกิจ และ (3) เสถียรภาพระหว่างประเทศของเอเชียยังแข็งแกร่ง วัดจากบัญชีเดินสะพัดที่เกินดุล พร้อมรองรับความผันผวนการเงินโลก ซึ่งปัจจัยทั้งสามจะทำให้ผู้จัดการกองทุนระดับโลกยังมีมุมมองแง่บวกต่อตลาดทุนเอเชีย


อย่างไรก็ตาม ในช่วงต่อไป การเติบโตของดัชนีตลาดทุนเอเชียโดยเฉพาะอย่างยิ่งของอาเซียนและไทยจะเผชิญปัจจัยเสี่ยง 3 ประการเช่นกัน อันได้แก่ (1) หุ้นอาเซียนและไทยค่อนข้างแพงและเสี่ยงมากขึ้น โดยวัดจากค่า P/E ที่สูงเมื่อเทียบกับประวัติศาสตร์ (โดยเฉพาะไทยที่ P/E สูงสุดในรอบ 15 ปี) และผลประกอบการบริษัทจดทะเบียน (Earning) ที่ต่ำ (2) การที่เศรษฐกิจอาเซียนและไทย ระดมเงินกู้เพิ่มขึ้นมากในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ทำให้หนี้บริษัทเอกชนและหนี้ครัวเรือนอยู่ในระดับสูงมาก ซึ่งเป็นความเสี่ยงหากดอกเบี้ยเอเชียต้องปรับขึ้นตามดอกเบี้ยสหรัฐในระยะต่อไป และ (3) หุ้นไทยขึ้นสูงเกินปัจจัยพื้นฐานค่อนข้างมาก โดยจากแบบจำลองอย่างง่ายของผู้เขียน พบว่าในปัจจุบันดัชนีหุ้นไทยสูงกว่าพื้นฐานประมาณ 200-300 จุด


ส่วนประเด็นสุดท้าย อันได้แก่ ภาคอุตสาหกรรม ที่มีศักยภาพและน่าสนใจลงทุน ผู้เขียนขอเริ่มด้วยการพิจารณาถึงมหากระแส (Megatrend) 5 ประการที่น่าจะส่งผลบวกต่อการลงทุน อันได้แก่ (1) การเปลี่ยนโครงสร้างทางเศรษฐกิจของจีน จากที่เคยเน้นการผลิตภาคอุตสาหกรรมมาสู่ภาคบริการ เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคชนชั้นกลางที่มีจำนวนมากขึ้น (2) กระแส AEC ที่ไทยจะได้ประโยชน์จากเศรษฐกิจของประเทศกลุ่มอินโดจีน (กัมพูชา ลาว พม่า และเวียดนามหรือ CLMV) ที่ขยายตัวดีและนำเข้าสินค้าจากไทยอย่างต่อเนื่อง (3) กระแสสังคมเมือง (Urbanization) ในหัวเมืองขนาดใหญ่ตามต่างจังหวัดที่มีมากขึ้น ทำให้ความต้องการสินค้าเทคโนโลยี รวมถึงสินค้าที่ตอบสนองไลฟ์สไตล์คนเมืองมีมากขึ้น (4) การเปลี่ยนแปลงของภูมิประชากรไทย ที่ประชากรสูงอายุมีมากขึ้น ทำให้ความต้องการสินค้าที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพมากขึ้น และ (5) บทบาทของสตรีที่มีมากขึ้น เช่น จำนวนผู้หญิงในภาคแรงงานผู้บริหารหญิงที่มากขึ้น ทำให้สินค้าและบริการเกี่ยวกับความสวยความงามได้รับความสนใจ


ปัจจัยทั้งห้าทำให้ผู้เขียนมองว่าอุตสาหกรรมที่พอมีศักยภาพเติบโตในอนาคต โดยที่พิจารณาทั้งจากความเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจโลกและไทยผ่านค่าสถิติต่าง ๆ รวมทั้งจากมหากระแสทั้งห้า ดังนี้


(1) อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับคอมพิวเตอร์ อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องพิมพ์ซึ่งน่าจะเติบโตได้ดีมากตามทิศทางเศรษฐกิจโลก แต่ความผันผวนมีสูงหากเศรษฐกิจโลกเกิดวิกฤต ที่อาจส่งผลลบ ต่อความต้องการสินค้าส่งออก (2) อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์และผลิตภัณฑ์กระดาษ ที่เติบโตตามเศรษฐกิจโลก โดยมีความผันผวนค่อนข้างต่ำ เนื่องจากความต้องการผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในชีวิตประจำวันยังมีอยู่ต่อเนื่อง (3) อุตสาหกรรมการผลิตวิทยุ โทรทัศน์ และการสื่อสาร ที่เติบโตได้ดีจากการส่งออกไปยัง กลุ่มประเทศอาเซียนและกลุ่ม CLMV ที่มีความต้องการมากขึ้น (4) อุตสาหกรรมโลหะ อันเป็นสินค้าวัตถุดิบหลัก ที่มีความจำเป็นต่อการผลิตในกลุ่มประเทศอาเซียนและ CLMV และ (5) อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม อันเป็นสินค้าจำเป็น และเติบโตตามเศรษฐกิจโลก ไทย รวมถึงตอบสนองไลฟ์สไตล์ชีวิตคนเมือง แต่มีความเสี่ยงจากราคาสินค้าเกษตรที่ตกต่ำ ทำให้ผู้ผลิตจะต้องหาทางพัฒนาศักยภาพสินค้าอย่างต่อเนื่อง


แม้เศรษฐกิจโลกและไทยจะอยู่ในช่วงเวลาแห่งความท้าทายที่เต็มไปด้วยความเสี่ยง แต่หากพิจารณาให้ดีแล้วจะพบว่าในความเสี่ยงก็ยังมีโอกาส นักลงทุนที่มีสายตาเฉียบแหลมและมีก้าวย่างที่สุขุมเท่านั้น จึงจะประสบความสำเร็จในกระแสสภาพคล่องที่เชี่ยวกราก


---------------
บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน ไม่เกี่ยวข้องใดๆ กับหน่วยงานที่ผู้เขียนสังกัดอยู่