เรฟูจี

เรฟูจี

การประชุมแก้ไขปัญหาการเคลื่อนย้ายอย่างไม่ปกติ ในมหาสมุทรอินเดีย ที่ไทย จะเป็นเจ้าภาพการจัดประชุม 15 ประเทศ

          ในวันที่ 29 พฤษภาคม นี้ หลังจากพบการอพยพของชาวโรฮิงญา จำนวนหลายพันคนในมหาสมุทรอินเดีย

          วันที่ 20 มิถุนายน ของทุกปี ถือเป็น "วันผู้ลี้ภัยโลก" อันเกิดจากมติสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ เมื่อ ค.ศ.2000

        เดิมนั้น 20 มิถุนายน เป็น "วันผู้ลี้ภัยแอฟริกัน" จัดพร้อมกันหลายประเทศในทวีปแอฟริกา

          ประวัติศาสตร์ร่วมสมัยเกี่ยวกับ "ผู้ลี้ภัยในภูมิภาคเอเชีย" มีส่วนเกี่ยวเนื่องกับประเทศไทย หลายยุคหลายสมัย แต่ที่เกิดขึ้นครั้งใหญ่เมื่อเวียดนามมีการรวมเวียดนามเหนือ เวียดนามใต้เข้าด้วยกัน เวียดนามเหนือ ยึดครองเวียดนามใต้ สำเร็จ รวมทั้งการที่ฝ่ายซ้ายในลาว และกัมพูชา ยึดอำนาจสำเร็จ ใน พ.ศ.2518 จำนวนผู้ลี้ภัยในอินโดจีนราว 3 ล้านคน ได้หลบหนีออกจากประเทศ

          การอพยพโดยทางเรือหรือ "มนุษย์เรือ" เป็นปัญหาสิทธิมนุษยชนระดับนานาชาติ UNHCR ได้ตั้งค่ายผู้ลี้ภัยในประเทศเพื่อนบ้าน และใช้งบประมาณเพิ่มขึ้นจาก 80 ล้านเหรียญสหรัฐใน พ.ศ.2518 เป็น 500 ล้านเหรียญสหรัฐใน พ.ศ.2523

          การช่วยเหลือด้านผู้อพยพในอินโดจีน ทำให้ใน พ.ศ.2524 UNHCR ได้รับเลือกให้เป็นเจ้าของรางวัล "โนเบล"

          ผู้อพยพทางเรือ ชาวเวียดนาม ผู้ลี้ภัย (refugee) ชาวเวียดนาม เลือกที่หมายคือ ฮ่องกง ฝรั่งเศส สหรัฐ แคนาดา ออสเตรเลีย และประเทศอื่นๆ

          พ.ศ. 2518 มีผู้ลี้ภัยชาวเวียดนาม 1.4 ล้านคน หลบหนีออกจากเวียดนาม ไปยังประเทศอื่นๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และสหรัฐอเมริกา

          เป็นที่น่าเสียดายที่ไม่อาจประมาณจำนวนชาวเวียดนาม ที่เข้ามาในสยาม ก่อนสมัยสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง (ญวนเก่า) ให้แน่นอน ตัวเลขาประมาณการมีไม่น้อยกว่า 1 หมื่นคน

          นอกจากชาวเวียดนาม แล้ว ผู้ที่รอดตายจากการปกครองของเขมรแดง ในกัมพูชา ได้อพยพมายังประเทศไทย หลังการรุกรานของเวียดนาม ใน พ.ศ. 2521 - 2522 มีผู้ลี้ภัย ประมาณ 300,000 คน ได้ออกไปตั้งถิ่นฐานในสหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส แคนาดา และออสเตรเลีย ระหว่าง พ.ศ. 2522 - 2535 จากนั้นได้ปิดค่าย และบังคับให้คนที่เหลืออพยพกลับ

          ส่วนชาวลาว ประมาณ 400,000 คนอพยพมายังประเทศไทยหลังจากสงครามเวียดนาม และฝ่ายคอมมิวนิสต์ ได้ชัยชนะใน พ.ศ. 2518 บางส่วนอพยพออกมาเพราะปัญหาด้านศาสนา ระหว่าง พ.ศ. 2519 - 2528 และอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยตามแนวชายแดนไทย ต่อมาอพยพไปตั้งถิ่นฐานในสหรัฐ แคนาดา ฝรั่งเศสและ ออสเตรเลีย

          สมรภูมิทางด้านตะวันตก "ชาวกะเหรี่ยง" อพยพเข้ามาในประเทศไทย กว่า 100,000 คน เป็นผลจากการปราบปรามชนกลุ่มน้อยชาว "กะเหรี่ยง" "กะเรนนี" และอื่นๆ ในเมียนมาร์

          การสู้รับในอัฟกานิสถาน ก็ทำให้เกิด "การเคลื่อนย้ายอย่างไม่ปกติ" เมื่อสหภาพโซเวียต เข้ามารุกรานใน พ.ศ.2522 จนกระทั่งสงครามอัฟกานิสถาน พ.ศ.2544 มีผู้ลี้ภัยชาวอัฟกัน 6 ล้านคนที่เข้าไปสู่ปากีสถาน และอิหร่าน

          "อัฟกานิสถาน" เป็นประเทศต้นกำเนิดของผู้ลี้ภัยใหญ่ที่สุดในโลก ช่วงต้นปี พ.ศ. 2545 มีผู้ลี้ภัยชาวอัฟกันกว่า 5 ล้านคน

          สำหรับสถานการณ์ผู้ลี้ภัยในปัจจุบัน "ชาวมุสลิมโรฮิงญา" อยู่ในบังกลาเทศกว่า 250,000 คน โดยอพยพจากภาคตะวันตกของเมียนมาร์ ในช่วง พ.ศ. 2534 - 2535

          ในบังกลาเทศ แบ่งชาว "โรฮิงญา" เป็นสองกลุ่ม คือ กลุ่มที่อยู่ในค่ายผู้ลี้ภัย "นายาประ" และ "กุตุปาลง" จำนวนอย่างเป็นทางการ ประมาณ 30,000 คน และกลุ่มที่อยู่อย่างไม่เป็นทางการอีกนับไม่ถ้วน

          การกวาดล้างชนกลุ่มน้อยมุสลิมในรัฐยะไข่ อย่างโหดร้ายโดยกองทัพเมียนมาร์ เมื่อ พ.ศ. 2534 - 2535 ทำให้ชาวโรฮิงญา จำนวนมากต้องอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยในบังกลาเทศ และบางส่วนถูกผลักดันให้กลับสู่เมียนมาร์ แต่ก็มีการปฏิเสธสัญชาติของชาวโรฮิงญา ที่กลับสู่เมียนมาร์ตั้งแต่ พ.ศ. 2539 เป็นต้นมา ทำให้โรฮิงญาบางส่วนต้องกลับสู่บังกลาเทศอีก อีกมากที่ลงเรือมุ่งหน้าตะวันออกเป้าหมายที่มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ขณะที่ในรัฐยะไข่ เมียนมาร์นำชาวพุทธ เข้ามาตั้งถิ่นฐาน และนับตั้งแต่ พ.ศ.2549 มัสยิด ถูกปิด

          นอกจากนั้นยังมี ชาวโรฮิงญา ในปากีสถานเป็นจำนวนมาก โดยพวกเขาเดินทางผ่านบังกลาเทศ และอินเดีย แล้วเข้าไปตั้งหลักแหล่งใน "การาจี"

        การที่ประเทศไทยต้องแบกรับภาระ "ผู้ลี้ภัย" มาตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน จึงเหมาะสมที่จะเป็นผู้ริเริ่มแก้ปัญหา ที่คาราคาซังมายาวนานนี้ให้จบสิ้นไป