เรียนรู้จากผู้นำ 88 วันเห็นผล

เรียนรู้จากผู้นำ 88 วันเห็นผล

ประสบการณ์ที่ได้รวบรวมมานี้ จะทำให้ผู้ที่กล้าคิด กล้าฝัน กล้าที่จะทำในสิ่งที่แตกต่าง ก้าวสู่การเป็นผู้นำโดยไม่จำเป็นต้องเดินตามคนอื่น

หลังจากได้รับไฟล์หนังสือจากผู้ใหญ่ใจดี คุณสมควร ฉายศิลปะรุ่งเรือง กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซัมมิท อีเล็คโทรนิค คอมโพเน้นท์ ที่นำประสบการณ์มารวบรวมและเรียงร้อยให้เป็นหลักการที่สอดรับกับวิถีไทย

แน่นอนไม่ใช่แค่การอ่านผ่านตาหรือท่องจำเท่านั้น แต่ต้องคิดตาม และลงมือปฏิบัติ โดยผมเชื่อว่าสิ่งที่ได้รวบรวมมานั้น จะทำให้ผู้ที่กล้าคิด กล้าฝัน และกล้าที่จะทำในสิ่งที่แตกต่าง ก้าวสู่การเป็นผู้นำโดยไม่จำเป็นต้องเดินตามคนอื่นตลอดไป

แนวคิดการก้าวสู่การเป็นผู้นำระดับโลก (World Leader) โดยแบ่งเป็น 8 ขั้น ดังนี้ ระดับที่ 1: Self Leader ระดับที่ 2: Self to Community ระดับที่ 3: Zero to Hero ระดับที่ 4: Leader to Teacher ระดับที่ 5: Pro-Coach ระดับที่ 6: Out Competition ระดับที่ 7: Exceed Expectation และระดับที่ 8: Make a Difference

ระดับที่ 1 Positive: Right ‘Self Leader’ เป็นการดำเนินการในระดับตัวบุคคล หรือตัวเราเอง (Self)
1. พลัง (Energy) คือต้องมีพลังและต้องเป็นพลังในตัวเอง โดยไม่ได้เกิดจากการเสแสร้งแกล้งทำ โดยเริ่มจากการเสริมสร้างพลังกาย (Physical Quotient – PQ) ต่อด้วยพลังความคิด (Intelligence Quotient – IQ) พลังใจ (Emotional Quotient – EQ) และพลังจิต (Spiritual Quotient – SQ) โดยพลังกายถือเป็นพื้นฐานสุด เมื่อฝึกฝนและนำมาใช้บ่อยๆ ก็จะยิ่งทำให้แข็งแรงขึ้น การนำสิ่งดีๆเข้าตัวถือว่าเป็นการสร้างพลัง ในขณะที่การนำสิ่งร้ายหรือแม้แต่การบ่น การตำหนิ ถือว่าเป็นการสูญเสียพลัง
2. ฉันทะ (Passion) เมื่อเรานำสิ่งดีๆเข้าสู่ตัว การคัดสรรและเลือกสรรจะเกิด เมื่อเราค้นพบสิ่งที่ใช่ สิ่งที่ชอบ และอยากที่จะทำตามแนวทางนั้นอย่างจริงจัง นั่นคือก้าวแรกของการเริ่มต้นสู่ถนนแห่งการเป็นผู้นำ ต้องมีความตั้งมั่น ทุ่มเท มีเป้าหมายนั่นเอง
3. เวลา (Time) แน่นอนทุกคนมีเวลาเท่ากัน และเวลาไม่เคยคอยใคร แต่เดินไปเรื่อยๆ ดังนั้นเราจะจัดสรรและใช้มันอย่างไรให้คุ้มค่า และเกิดประโยชน์มากที่สุด การวางแผนจึงเป็นเหมือนเครื่องมือพื้นฐาน เพราะช่วยให้เราจัดลำดับความสำคัญของสิ่งที่จะทำ โดยไม่สูญเปล่าไปกับสิ่งที่ให้คุณค่าน้อย และไม่มีประโยชน์เท่าที่ควร
4. ไม่ใช่แค่ผู้จัดการหรือเจ้านาย (Not only manager or boss) การขึ้นมาเป็นผู้บังคับบัญชา อาจได้มาด้วยผลงานและการทำงานที่ดีที่เก่ง หากแต่เมื่อมารับตำแหน่งแล้ว ไม่ใช่เพียงงานในความรับผิดชอบที่สูงขึ้นเท่านั้น หากแต่ต้องดูแลคนและต้องบริหารคนให้ทำงานร่วมกันให้ได้ ดังนั้นการเข้าใจในลูกน้องและการให้ความสำคัญในคุณค่าของคนถือได้ว่าเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับการก้าวขึ้นสู่ความเป็นผู้นำ
5. บุคลิกภาพ (Personality) เป็นสิ่งที่ปรากฏและรับรู้ได้ง่ายที่สุด เพราะเป็นรูปกายภายนอก ถ้าดูดีมีความน่าเชื่อถือแล้ว การนำก็เกิดขึ้นได้ไม่ยากนัก ด้วยความมั่นใจและความภูมิใจในตัวเองจะสะท้อนออกสู่ภายนอก นอกจากนั้นอาจเสริมด้วยมารยาททางสังคม กาลเทศะ และการแต่งกายให้เหมาะกับสถานการณ์
6. นำตัวเอง (Self-Leader) ก่อนที่จะไปนำใครได้ ต้องนำตัวเองให้ได้ก่อน นี่ถือเป็นหลักปฏิบัติต้นๆก็ว่าได้ เพราะถ้ายังนำตัวเองไม่ได้ คงไม่มีใครมาให้เรานำหรือทำตามเราเป็นแน่ ดังนั้นทุกย่างก้าวของเราต้องตื่นรู้และกระตุ้นตัวเอง ว่าวันนี้ ชั่วโมงนี้ ต้องทำอะไร พยายามทำให้ได้ตามแผนและเป้าหมายที่กำหนดไว้
7. คิดบวก (Positive Think) คือการคิดหาช่องทางและการสร้างโอกาส ถือว่าเป็นการคิดเพื่อประโยชน์โดยแท้ การคิดลบไม่ว่าจะต่อตนเองหรือผู้อื่น ถือเป็นการทำลายและไม่ก่อให้เกิดสิ่งดีงามอะไรใดๆทั้งสิ้น
8. เป้าหมาย (Target) การทำงาน การใช้ชีวิต ถ้าไม่มีเป้าหมาย ก็ไม่ต่างจากการเดินทางที่ไร้แผนที่ เพราะไม่รู้จะไปในทิศทางใด ถึงทางแยก ทางเลี้ยว ก็ไม่รู้ว่าจะไปในเส้นทางไหน ลังแต่จะทำให้สูญเสียพลังในตัวเองไปเปล่าๆ
9. เดินหน้า (GOYA หรือ Get Off Your Ass) ออกจากพื้นที่ความสะดวกสบายส่วนตัว เพื่อไปสู่สิ่งใหม่ๆ เพราะไม่มีทางที่เราจะได้สิ่งใหม่ ถ้ามัวแต่ทำสิ่งเดิมๆซ้ำๆ ด้วยการขจัดความกลัวในใจ กล้าที่จะทำสิ่งใหม่ๆ
10. คุณภาพ (Quality) ไม่มีสิ่งใดที่อยู่รอดได้โดยปราศจากคุณภาพ เพราะสิ่งที่ไม่ดีมักถูกมองข้ามและไม่มีใครให้ความสนใจ จึงมีแต่คนที่แสวงหาสิ่งดีๆเท่านั้น ดังนั้นจงกระทำงานทุกงานอย่างดีมีคุณภาพ เพราะนั่นคือสิ่งที่คนอื่นๆต้องการ ถ้าเราเป็นคนคุณภาพ ก็ย่อมมีคนอื่นๆอยากได้เรา
11. ทัศนคติ (Attitude) ความคิดที่เกิดขึ้นโดยตัวเรา อยู่ภายในไม่มีใครเห็น แต่จะสะท้อนออกมาผ่านพฤติกรรมและการแสดงออก ไม่มีใครสามารถปกปิดหรือซ่อนเร้นได้ ต่อให้เสแสร้งแกล้งทำก็ตาม ก็จะไม่จีรัง ดังนั้นทัศนคติที่ดีจะทำให้เรามีพฤติกรรมที่พึงประสงค์

ระดับที่ 2 Permission: Relationship ‘Self to Community’ เป็นการสร้างสัมพันธ์กับคนรอบข้าง เพื่อให้เกิดความร่วมมือเป็นกลุ่มหรือคณะ (Teamwork)
12. สร้างชุมชน (Community) ไม่มีใครจะอยู่ได้ด้วยตัวเองโดยลำพัง หากแต่จะต้องร่วมด้วยช่วยกัน เพื่อสร้างสังคมที่น่าอยู่และเกื้อกูลกัน ไม่ใช่เฉพาะคนใกล้ชิดที่เราสนิทด้วยเท่านั้น แต่เกิดขึ้นได้กับทุกคนที่อยู่แวดล้อมตัวเรา
13. นักพูด (Speaker) การพูดน่าจะเป็นวิธีการสื่อสารพื้นฐานที่ง่ายที่สุด ถ้าเราสามารถสื่อสารให้คนอื่นๆเข้าใจได้ ไม่ใช่เฉพาะน้ำเสียง ลีลา ท่าทางก็มีส่วนช่วยได้เช่นกัน
14. การเล่าเรื่อง (Storytelling) เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่จะช่วยให้การสื่อสารที่อาจมีเนื้อหาเข้าใจได้ยาก กรณีศึกษาหรือตัวอย่างจริงที่เราประสบพบมา เข้าใจบทเรียนที่ได้ชัดเจนขึ้น
15. ให้เวที (Give stage) ไม่ใช่ใครคนใดคนหนึ่งเท่านั้น หากแต่ต้องเปิดพื้นที่ให้ผู้อื่นในทีมได้แสดงผลงาน และความสามารถได้ด้วย โดยเฉพาะงานนั้นๆที่เขารู้ดีที่สุด
16. นำเสนอผลงาน (Present) การรายงานเหตุการณ์ ข้อมูล หรือรายงานใดๆในช่วงเวลาจำกัด ให้สั้น กระชับ ง่าย ได้ใจความ เป็นทักษะหนึ่งซึ่งจำเป็นและต้องฝึกฝน
17. ให้โอวาท (Make a Speech) การพูดในที่ชุมชนที่มีผู้คนจำนวนมาก การพูดกระตุ้นจูงใจให้เห็นประโยชน์ การกล่าวแสดงความชื่นชม กล่าวขอบคุณ เป็นสิ่งหนึ่งซึ่งผู้นำอาจได้รับเชิญ
18. อ่านคน (Rea d People) เพราะว่าคนมีความแตกต่าง การสังเกตคนตั้งแต่ภายนอกจนถึงภายใน ตลอดจนการเข้าถึงความรู้สึกและความต้องการ จะทำให้เราสามารถเลือกคนมาร่วมทีมได้ดี
19. สร้างเพื่อน (Make Friend) การมีมิตรย่อมดีกว่ามีศัตรู เริ่มต้นง่ายๆตั้งแต่การพูดทักทาย จนถึงการแสดงน้ำใจที่ดีต่อกัน
20. การพูดคุย (Speak) ในการสนทนา หรืออภิปรายแสดงความคิดเห็นใดๆ ควรรู้ว่าคำพูดใดควร และคำพูดใดไม่ควร จึงต้องใช้ความระมัดระวังเสมอ
21. การดึงดูด (Attraction) ความคิด คำพูด และการแสดงออกที่ดี จะกลายเป็นเสน่ห์ที่ดึงดูดผู้คนให้เข้าหาเรา โดยที่ไม่ต้องไปเสียเวลาตามล่า
22. เป็นผู้ให้ (Go Giver) เริ่มจากการให้ โดยไม่จำเป็นต้องหวังอะไรตอบแทน การให้จะนำมาซึ่งความร่วมมือ และสิ่งดีๆที่จะเกิดขึ้นในที่สุด

ทั้งนี้ยังมีเนื้อหาและหลักการที่น่าสนใจที่เหลืออยู่อีกมาก ซึ่งขอให้ท่านที่สนใจและอยากศึกษาเพื่อใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติ ลองติดต่อขอไฟล์คู่มือ โดยส่งอีเมล์ไปที่ [email protected]