‘ปฏิรูป’และ‘ปรองดอง’ มิอาจเกิดจากรัฐธรรมนูญ

‘ปฏิรูป’และ‘ปรองดอง’ มิอาจเกิดจากรัฐธรรมนูญ

คณะรัฐมนตรีมีข้อเสนอแก้ไขรายละเอียด ในร่างรัฐธรรมนูญกว่า 100 ประเด็น เพราะไม่แน่ใจว่ารัฐบาลใหม่หลังเลือกตั้งทั่วไป

 จะมีมาตรการชัดเจนที่จะนำไปปฏิบัติเพื่อสานต่อให้เกิดการ ปฏิรูป และ ปรองดอง ได้จริงหรือไม่

ผมตอบได้เลยว่าแม้จะแก้ไขทั้งหมด 315 มาตราตามที่ฝ่ายต่าง ๆ เสนอให้ทบทวนปรับปรุงก็ไม่มีอะไรรับรองได้ ว่ารัฐบาลใหม่จะทำเรื่องปฏิรูปและปรองดองอย่างจริงจังได้

ความกังวลเรื่อง เสียของ เป็นความห่วงใยที่ถูกต้อง และจะต้องช่วยกันคิดอย่างจริงจังว่าสังคมไทยจะได้ประโยชน์อันใดจากกระบวนการ ปฏิรูป ที่ได้สร้างความหวังเอาไว้ในสังคมไทยตลอดเวลาหนึ่งปีที่ผ่านมา

น้ำเสียงของนายกฯประยุทธ์ จันทร์โอชา เรื่องปฏิรูปตำรวจก็ดูจะแผ่วลงไปแล้ว เพราะท่านบอกว่าทำได้ 10% ที่เหลืออีก 90% ต้องรอให้รัฐบาลใหม่มาทำต่อ

ปัญหาฉ้อราษฎร์บังหลวงที่เป็นเรื่องใหญ่และเป็นอุปสรรคหนักหน่วงของการ “ปฏิรูป” ประเทศชาติก็ยังฝังรากแน่นหนาในสังคมไทย หนึ่งปีที่ผ่านมายังไม่ได้มีการจับ ปลาตัวใหญ่ ให้ได้เห็นจะจะ และเราก็ยังไม่ได้เห็นการลงโทษเจ้าหน้าที่บ้านเมือง ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการโกงกินและเรียกสินบนจากประชาชนอย่างเป็นกิจจะลักษณะ

ความขัดแย้งในสังคม แบ่งสีแบ่งฝ่ายแม้จะดูเหมือนเบาบางลง แต่ลึกลงไปแล้วก็ยังไม่มีความพยายามจะ ปรองดอง เพื่อร่วมกันสร้างชาติบ้านเมืองโดยไม่แบ่งฝักแบ่งฝ่าย ตรงกันข้ามยังมีการเตรียมการที่จะเอาชนะคะคานกัน เพียงเพราะยืนอยู่คนละข้างของการเมือง ที่มีคนหนุนหลังต่อสู้เพื่อการกลับมามีอำนาจทางการเมืองอีกครั้งหนึ่ง

กลุ่มขัดแย้งที่เคยมีมาเกือบสิบปีไม่ได้มุ่งมั่นจะ ปฏิรูปและไม่ได้ต้องการความ ปรองดองหากแต่ต้องการจะใช้กลยุทธ์ที่จะฉกฉวยโอกาสที่จะกลับมามีอำนาจทางการเมือง เพื่อสร้างความได้เปรียบและยึดกุมกลไกรัฐเท่านั้น

แน่นอนว่าการก่อรัฐประหารไม่ได้สามารถทำให้ความปรองดองเกิดขึ้นได้โดยอัตโนมัติ และการปฏิรูปภายใต้การกำกับของ คสช. ก็ไม่อาจจะดึงเอาทุกฝ่ายมาร่วมในกระบวนการได้ แต่ขณะเดียวกัน หากเกมการเมืองยังเป็นไปอย่างเก่า แต่ละฝ่ายสร้างสมกลุ่มคนติดอาวุธของตน และใช้ช่องโหว่ของกฎหมายแบบ ศรีธนญชัย เพื่อทำศึกสงครามทางการเมืองบ้านเมืองก็อาจมีอันล่มสลายได้จริง ๆ

เพราะต่างฝ่ายต่างอ้าง ประชาธิปไตย ในความหมายของตนเอง และอ้าง ประชาชน ของตนเองโดยไม่คำนึงถึงความเสียหายที่เกิดขึ้นกับบ้านเมืองจนไทยกลายเป็น “คนป่วยของเอเชีย รายใหม่อย่างที่เห็นกันอยู่

ผมยังเชื่อว่าคนไทยส่วนใหญ่ไม่ได้ต้องการติด กับดัก กับการแบ่งแยกและความเสื่อมถอยของศีลธรรมและธรรมาภิบาลแห่งการเมือง และมีความต้องการ “ปฏิรูป” และ “ปรองดอง” เพื่อรักษาบ้านรักษาเมืองเอาไว้

การที่จะให้มั่นใจว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งอย่างประชาธิปไตยที่แท้จริง ต้องดำเนินการปฏิรูปและปรองดองนั้นไม่ได้อยู่ที่ คสช. หรือ สภาปฏิรูปแห่งชาติ หรือเนื้อหาของรัฐธรรมนูญเพราะประเทศไทยได้ทดลองใช้เกือบทุกสูตรของโลกมาแล้ว

แต่ ความสำนึกในความรับผิดชอบร่วมกัน ไม่ได้มาจากตัวหนังสือในรัฐธรรมนูญหรือว่าใครมีอำนาจ หากแต่อยู่ที่ ความตื่นตัว และการสร้างบรรยากาศที่เอื้อต่อการเป็น พลเมืองที่ตื่นรู้ ที่เรียกว่า active citizens ที่ไม่ยอมตกเป็นเหยื่อของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง

พลเมืองที่ตื่นรู้เริ่มที่สมาชิกของสังคมแต่ละคน เริ่มที่ชุมชนแต่ละแห่งทั่วประเทศ ที่ไม่ยอมตกเป็นเหยื่อของกลุ่มการเมือง ที่สร้างความขัดแย้งแตกแยกเพื่อประโยชน์แห่งตนอีกต่อไป