การเมืองเรื่องตัณหา

การเมืองเรื่องตัณหา

ถ้าคนไทยความจำไม่สั้นก็จะพบว่า เราเสียเลือดเสียเนื้อ เพื่อให้มาซึ่งกติกาปกครองประเทศ

หรือ รัฐธรรมนูญในความฝัน หลายต่อหลายครั้ง

อย่างเช่นรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 ที่มีจุดเริ่มจากการต่อต้านการสืบทอดอำนาจของ รสช. และนำไปสู่เหตุการณ์พฤษภาคม 2535 ที่มีการบาดเจ็บล้มตาย และกลายเป็น “บาดแผล” ของกองทัพมาระยะหนึ่ง

แต่กว่าจะมีการเปิดประตู “ปฏิรูปการเมือง” สู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2534 เพื่อให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ และคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ก็ต้องสู้กันทั้งข้างถนนและในสภาอีกหลายปี

ที่มันล่าช้าก็เพราะ “นักเลือกตั้ง” ที่คิดตัวเองเป็น “เทพ” ไม่แสดงความกระตือรือร้นที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย แต่โชคดีมีนักเลือกตั้งที่รู้ตัวว่า ถูกชาวบ้านมองเป็น “มาร” จึงชูธงปฏิรูปการเมืองเพื่้อลบภาพเก่าๆ ทิ้งไป

การรัฐประหาร 2549 ก็ทำให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญชุดใหม่ขึ้นมาทำการร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 จนผ่านประชามติอย่างเฉียดฉิว

รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 มีเรื่องของการกระจายอำนาจ, การคุ้มครองทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมถึงการพิทักษ์สิทธิของประชาชน แต่ นักเลือกตั้ง ขั้วหนุนทหาร กลับสนใจเรื่้อง “ตุลาการภิวัฒน์” เพราะมันจะเอื้อประโยชน์แก่ฝ่ายตน โดยนักเลือกตั้งอีกฝ่ายหนึ่งก็ค้านเต็มที่

การเมืองสองขั้วที่ไม่ยอมลดราวาศอก ได้ก่อให้เกิดสถานการณ์ขัดแย้งรุนแรงต่อเนื่อง และได้สร้างเงื่อนไขให้คณะทหารเข้ามายึดอำนาจอีกครั้ง

คณะทหารชุดใหม่ก็ไม่ต่างจากชุดเก่าคือ ต้องการสร้างความปรองดองสมานฉันท์ของชนในชาติ จึงเปิดทางให้มี สมาชิกสภาปฏิรูปการเมือง และ คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ 

มาถึงวันนี้ รัฐธรรมนูญร่างแรกเสร็จแล้ว และกำลังอยู่ในช่วงรับฟังความคิดเห็นของประชาชน รวมถึงรับข้อเสนอจากพรรคการเมืองต่างๆ ด้วย

“นักเลือกตั้ง” ที่คิดว่าตัวเองเป็น “เทพ” กำลังสร้างวาทกรรมคัดค้านแนวคิดการเลือกตั้งแบบเยอรมัน และการให้อำนาจพิเศษแก่นายกรัฐมนตรี เพราะอ่านเกมออกว่า รัฐบาลหลังการเลือกตั้งใหม่คือ รัฐบาลผสมหลายพรรค และนายกรัฐมนตรี ไม่ได้มาจากพรรคใหญ่

“นักเลือกตั้ง” ที่ครองอำนาจมายาวนาน ก็เตรียมผสมโรง เนื่องจากมองเห็น “ธง” สกัดการเข้าสู่อำนาจรอบใหม่ของพวกเขา

ขณะที่นายทหารใหญ่(ปีกหนึ่งของ คสช.) ได้เคลื่อนไหวผ่านสมาชิกสภาปฏิรูป (สปช.) บางกลุ่ม ซึ่งออกตัวแรงถึงขั้นจะคว่ำร่างรัฐธรรมนูญ และพวกเขาเตรียมคิดอ่านการขยายเวลาที่จะอยู่ในอำนาจต่อไป

แม้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะท่องเช้าท่องเย็นว่า ไม่สืบทอดอำนาจ แต่ภาวะสะเทินน้ำสะเทินบกของ “ผู้มีอำนาจ” ที่มีอยู่หลายกลุ่ม มักจะก่อให้เกิดเรื่องทำนองนี้เสมอ

ดังตัวอย่างในอดีต พล.อ.สุจินดา คราประยูร ไม่ปรารถนาจะเป็นนายกรัฐมนตรี แต่ พล.อ.อ.เกษตร โรจนนิล ก็ฝันอยากนั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรี สุดท้าย พล.อ.สุจินดา ยอมเสียสัตย์เพื่อชาติและจบชีวิตการเมืองด้วยความเจ็บปวด

สำหรับสถานการณ์วันนี้ บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ที่พอจะรู้ว่าผู้มีอำนาจคิดอย่างไร? นักเลือกตั้งขั้วสีต่างๆ ต้องการอะไร? จึงแสดงความเห็นดังๆ ผ่านเวทีภาคประชาสังคม เกี่ยวกับเรื่อง สิทธิและพลเมือง

“บวรศักดิ์” ชี้ว่าถ้าทำดัชนีค้นหาคำในร่างรัฐธรรมนูญจะพบคำว่า “สิทธิและพลเมือง” มากที่สุด แต่มันน่าเศร้าตรงที่ไม่มีใครพูดถึง 300 กว่ามาตราที่เกี่ยวกับพลเมือง ตรงกันข้ามกลับสนใจแต่เรื่องอำนาจทางการเมือง

“อะไรก็ตามที่จะตัดสิทธิพลเมืองต้องผ่านศพผมไปก่อน” ประโยคนี้แหละที่กลายเป็นข่าวพาดหัวในหน้าหนังสือพิมพ์หลายฉบับ

  ภาวะสะเทินน้ำสะเทินบก กำลังทำให้กลุ่มผู้มีอำนาจ(ปัจจุบัน) ต้องครุ่นคิดอย่างหนัก ระหว่าง โรดแมพประชาธิปไตยกับ ตัณหาการเมืองมันควรจะเลือกหนทางใด?