การลงทุนไทย...กับดักการเติบโตทางเศรษฐกิจ?

การลงทุนไทย...กับดักการเติบโตทางเศรษฐกิจ?

ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาไทยประสบกับวิกฤตเศรษฐกิจหลายครั้ง แต่แทบทุกครั้งที่วิกฤตผ่านพ้นไป การเติบโตของเศรษฐกิจไทยไม่ได้ปรับตัวสูงขึ้น

แต่กลับมีแนวโน้มลดลงเสียด้วยซ้ำ เหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลักของไทยอ่อนแรงลงโดยเฉพาะการส่งออกสินค้าและการลงทุน ทำให้เกิดคำถามที่น่าสนใจว่าทำไมแรงขับเคลื่อนหลักจากการลงทุนของไทยจึงอ่อนแรงลง วัฏจักรการลงทุนในรอบนี้จะทำให้เศรษฐกิจไทยเข้าสู่บริบทใหม่ (new normal) หรือไม่ และไทยมีทางเลือกในการพัฒนาด้านการลงทุนเพื่อให้เราหลุดพ้นจากกับดักการเป็นประเทศรายได้ปานกลาง (middle income trap) อย่างไร


ขอเริ่มจากการทำความรู้จักกับการลงทุนไทยในอดีตถึงปัจจุบัน การลงทุนของไทยช่วง 20 ปีที่ผ่านมาได้รับการขับเคลื่อนจากภาคเอกชนเป็นหลัก ขณะที่บทบาทการลงทุนภาครัฐไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก และลดลงบ้างในระยะหลัง โดยเฉพาะการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ที่จะช่วยให้เกิด crowding-in ไปสู่การลงทุนของเอกชน ส่วนหนึ่งเพราะภาครัฐจัดสรรงบประมาณแผ่นดินไปใช้จ่ายประจำเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง นอกจากนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่าสัดส่วนการลงทุนในเครื่องจักรและอุปกรณ์ของภาคเอกชนลดลงอย่างมีนัย โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการผลิตเพื่อส่งออก อาทิ สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเพราะธุรกิจดังกล่าวได้ลงทุนซ่อมแซมส่วนที่เสียหายจากอุทกภัยไปมากแล้ว และผู้ผลิตบางรายย้ายฐานการผลิตไปประเทศอื่น รวมทั้งการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ของไทยในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมากขยายตัวในระดับต่ำต่างจากประเทศเพื่อนบ้าน ในขณะเดียวกัน การลงทุนของธุรกิจบริการและสาธารณูปโภคกลับเพิ่มสูงขึ้นจากการสนับสนุนด้านนโยบายของภาครัฐ เช่น นโยบายสนับสนุนกิจการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน และนโยบายกำหนดยุทธศาสตร์ให้ไทยเป็นศูนย์กลางการรักษาพยาบาลของเอเชีย ส่งผลให้ธุรกิจผลิตไฟฟ้าและธุรกิจโรงพยาบาลเติบโตอย่างรวดเร็วในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี การลงทุนในธุรกิจเหล่านี้คิดเป็นสัดส่วนไม่มากนัก จึงไม่สามารถทำให้การลงทุนโดยรวมเติบโตได้ดีเหมือนในอดีต และหากปล่อยให้ลักษณะการลงทุนไทยเป็นเช่นปัจจุบันต่อไป คงเป็นไปได้ยากที่เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวเต็มศักยภาพในระดับร้อยละ 4-5


หากพิจารณาเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน การลงทุนภาคเอกชนของไทยหดตัว 2 ปีติดต่อกัน และสัดส่วนการลงทุนรวมต่อ GDP ของไทยในปัจจุบันต่ำกว่าหลายประเทศในภูมิภาค ขณะที่มาเลเซียและอินโดนีเซียที่ประสบปัญหาวิกฤตปี 2540 เช่นเดียวกับไทย กลับมีสัดส่วนการลงทุนรวมต่อ GDP เพิ่มขึ้นต่อเนื่องจนปัจจุบันสูงกว่าไทยไปแล้ว ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ไทยสูญเสียความสามารถในการแข่งขันไปเป็นลำดับ


จากที่กล่าวมาข้างต้นเราพอจะเห็นแล้วว่าการลงทุนของไทยเปลี่ยนแปลงไปและไม่ได้เข้มแข็งเหมือนในอดีต ส่วนหนึ่งเนื่องมาจากไทยมีข้อจำกัดด้านปัจจัยการผลิต คือ (1) ความสามารถยกระดับเทคโนโลยีมีจำกัด โดยหากมองย้อนกลับไปในช่วงต้นทศวรรษ 2500 ไทยเคยมีทั้งระดับรายได้ต่อหัวและนโยบายการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ไม่ต่างจากสิงคโปร์และเกาหลีใต้มากนัก แต่ปัจจุบันทั้งสองประเทศต่างมีรายได้ต่อหัวสูงกว่าไทยหลายเท่าตัว และสามารถก้าวข้าม middle income trap ไปได้ หรือแม้แต่มาเลเซียก็มีรายได้ต่อหัวสูงกว่าไทยถึงหนึ่งเท่าตัวไปแล้ว ส่วนหนึ่งมาจากนโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรมในภาพรวมของไทยที่ขาดความชัดเจนและต่อเนื่อง รวมทั้งผู้ประกอบการปรับตัวค่อนข้างช้าและส่วนใหญ่ยังไม่สามารถก้าวข้ามสถานะการเป็นผู้รับจ้างผลิตไปได้ รวมทั้งมีการวิจัยหรือพัฒนาสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มสูงไม่มากนัก ทำให้ท้ายที่สุดไทยยังไม่สามารถก้าวไปสู่การผลิตที่เน้นการใช้ทุนได้อย่างเต็มรูปแบบ (2) ไทยเผชิญปัญหาขาดแคลนแรงงานทั้งในเชิงคุณภาพและปริมาณ ผลิตภาพแรงงานไทยลดลงมากหลังวิกฤตปี 2540 และลดลงมากกว่าประเทศในภูมิภาค เพราะ 1) แรงงานเคลื่อนย้ายจากสาขาเศรษฐกิจที่มีผลิตภาพสูง อาทิ ภาคอุตสาหกรรมและบริการ ไปสู่สาขาที่มีผลิตภาพต่ำกว่า เช่น ภาคเกษตร ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากนโยบายอุดหนุนที่บิดเบือนกลไกตลาดของภาครัฐ 2) แรงงานขาดทักษะและประสบการณ์ รวมทั้งทักษะที่มียังไม่ตรงกับความต้องการของผู้ประกอบการ และ 3) คุณภาพของแรงงานที่มีทักษะด้านการผลิตสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มและเทคโนโลยีขั้นสูงไม่ได้รับการพัฒนาเท่าที่ควร นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยเพิ่มเติมจากค่าจ้างที่ปรับตัวสูงขึ้นโดยไม่สอดคล้องกับประสิทธิภาพแรงงาน ส่งผลให้ความสามารถในการแข่งขันด้านต้นทุนในอุตสาหกรรมที่เน้นการใช้แรงงานลดลง ผู้ประกอบการบางส่วนจึงตัดสินใจย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศที่มีค่าแรงต่ำกว่า สำหรับด้านปริมาณกำลังแรงงานของไทยเติบโตช้าลงเมื่อเทียบกับหลายประเทศในภูมิภาค จึงทำให้ไทยสูญเสียข้อได้เปรียบด้านปริมาณแรงงานที่เคยมีเป็นจำนวนมาก


ข้อจำกัดดังกล่าวไม่เพียงแต่ฉุดรั้งการลงทุน แต่ยังเป็นข้อจำกัดเพิ่มเติมให้ภาคการส่งออก และส่งผลทางอ้อมผ่านการจ้างงาน รายได้ และการใช้จ่ายในประเทศ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจแบบวงจรงูกินหาง และหากปล่อยให้เกิดนานจนเกินไป ข้อจำกัดนั้นจะกัดกร่อนศักยภาพการเติบโตของเศรษฐกิจในระยะยาว จนอาจเข้าสู่การเติบโตในบริบทใหม่ (new normal) ที่อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศอยู่ในระดับต่ำกว่าอดีตมาก และจะทำให้ไทยยังคงติดอยู่ใน middle income trap


ณ เวลานี้ ไทยคงมีทางเลือกไม่มากนัก การผลักดันการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและการแก้ไขข้อจำกัดด้านการลงทุนคงเป็นทางออกที่จะช่วยทำให้การลงทุนกลับมามีบทบาทขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยได้อีกครั้ง


ทั้งนี้ ทุกฝ่ายจำเป็นต้องร่วมกันกำหนดทิศทางนโยบายเศรษฐกิจให้มีความชัดเจนและต่อเนื่องตั้งแต่เริ่มต้น ทั้งการลงทุนภาครัฐโดยเฉพาะการทำให้โครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่เกิดขึ้นได้จริง ซึ่งจะช่วยให้เกิด crowding-in ผ่านความเชื่อมั่นของธุรกิจ และทำให้การลงทุนภาคเอกชนพลิกฟื้นกลับมาได้ นอกจากนี้ ยังควรเน้นส่งเสริมอุตสาหกรรมและบริการเป้าหมายที่ไทยมีความพร้อมและมีศักยภาพสูงในอนาคต ขณะเดียวกันควรมีนโยบายในการพัฒนาและรักษาฐานการผลิตของอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออก ที่สร้างมูลค่าเพิ่มสูงให้แก่เศรษฐกิจและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งปัจจุบันถือว่าไทยเริ่มเดินมาถูกทางแล้ว เช่น ล่าสุด BOI ได้กำหนดแผนยุทธศาสตร์การส่งเสริมการลงทุนใหม่ (ปี 2558-2564) ที่มีการกำหนดอุตสาหกรรมเป้าหมายไว้ชัดเจนขึ้น จึงหวังว่าสุดท้ายแล้วประเทศไทยจะสามารถก้าวข้าม middle income trap ไปได้