เส้นทางจักรยาน: ถึงเวลาต้องปฏิรูป (2)

เส้นทางจักรยาน: ถึงเวลาต้องปฏิรูป (2)

ประเด็นที่สำคัญมากๆ ที่ต้องพูดควบคู่กับเรื่อง Share ก็คือเรื่อง Space หรือพื้นที่ เนื่องจากในความเป็นจริงแล้ว เป็นเรื่องยากมากๆ

ที่จะสามารถป้องกันอุบัติเหตุในแต่ละครั้งได้ (โดยเฉพาะที่เกิดจากการความประมาทเลินเล่อ) ตราบเท่าที่วัฒนธรรมและพฤติกรรมของคนไทยจำนวนหนึ่งยังขาดซึ่งจิตสำนึกที่คำนึงถึงความปลอดภัยของผู้อื่นเสมือนหนึ่งเป็นความปลอดภัยของตัวเอง ดังนั้น การสร้างพื้นที่เฉพาะที่แยกออกมาจากพื้นที่ของรถยนต์จึงถือเป็นมาตรการหนึ่งที่สามารถให้ความมั่นใจกับนักปั่นได้มากขึ้น


ด้วยโศกนาฏกรรมอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นต่อนักปั่นจักรยานจนถึงขั้นเสียชีวิตคนแล้วคนเล่า ผู้เขียนเห็นว่า ถึงเวลาแล้ว ที่ผู้มีอำนาจและหน้าที่เกี่ยวข้องต้องพิจารณาอย่างจริงๆ จังๆ ในการสร้างถนนที่แยกห่างออกมาจากถนนของรถยนต์ เพื่อให้นักปั่นจักรยานที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นมีพื้นที่หรือ space เฉพาะเป็นหลักประกันในเรื่องความปลอดภัยเป็นสำคัญ และในขณะเดียวกัน ก็ไม่ทำให้ผู้ขับขี่รถยนต์ได้รับผลกระทบหรือได้รับความเดือดร้อนมากเกินไป ซึ่งมีวิธีการหรือทางเลือกหลายๆ แนวทาง ดังนี้


ทางเลือกแรก ก็คือ การกันพื้นที่เลนซ้ายสุดของพื้นถนนความกว้างไม่เกินหนึ่งเมตรจากขอบฟุตบาท (หลังจากแบ่งและตีเส้นเลนรถยนต์ให้แคบลง) หลังจากนั้น ใช้กระถางรางยาวทำด้วยซีเมนต์เปลือยขนาดความยาว 100 กว้าง 30 และสูงประมาณ 50 เซนติเมตรวางติดต่อยาวตลอดแนว (หรือเว้นระยะ) บนกระถางจะปลูกต้นไม้ที่ดูแลรักษาง่ายและสวยงาม เช่นพวกบัวหรือดอกเข็ม นอกจากจะประดับประดาทำให้ถนนมีความสวยงามด้วยต้นไม้และดอกไม้แล้ว กระถางรางยาวนี้ถือว่ามีความแข็งแรง ราคาถูกและสามารถติดตั้งหรือเคลื่อนย้ายได้ทันที ซึ่งเหมาะกว่าการออกแบบดีไซน์อื่นๆ ประการสำคัญ สามารถผ่อนหนักให้เป็นเบากรณีถูกรถยนต์วิ่งชน


ทั้งนี้ ถึงแม้จะมีความกว้างของเลนเพียงแค่ไม่ถึงหนึ่งเมตร แต่ก็ถือว่าอยู่ในวิสัยที่นักปั่นทุกคนสามารถปั่นได้ เมื่อแลกกับความปลอดภัยที่เพิ่มมากขึ้น และเชื่อว่า คนพันธุ์สองล้อจะร่วมช่วยกันรดน้ำกระถางแบริเออร์นี้ เสมือนหนึ่งเป็นสมบัติของตัวเอง


แนวทางที่สอง ก็คือ การสร้างอุโมงค์ขนาดเล็กที่มีความสูงและกว้างประมาณ 3-4 เมตร (ขนาดใกล้เคียงกับอุโมงค์ข้ามถนนหน้าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย)


อุโมงค์ดังกล่าวนี้จะมีความเป็นอเนกประสงค์ two-in-one เหมือนเช่นอุโมงค์ขนาดใหญ่ในกรุงกัวลาลัมเปอร์มาเลเซีย (ซึ่งใช้เป็นเส้นทางสำหรับรถยนต์และระบายน้ำ) กล่าวคือ ในสถานการณ์ปกติตลอดทั้งปี อุโมงค์นี้จะใช้เป็นเส้นทางปั่นจักรยานเชื่อมต่อถนนสายต่างๆ ทั่วกรุงเทพฯ ที่เรียกว่าปลอดภัยที่สุด มลพิษน้อยกว่าบนท้องถนน แต่ในสถานการณ์ที่เกิดฝนตกหนักจนเกิดภาวะน้ำท่วมกรุงเทพฯ อุโมงค์นี้จะถูกแปรเปลี่ยนให้ทำหน้าที่รองรับ เก็บน้ำและระบายน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ (เพราะไม่มีการอุดตัน) หลังจากน้ำลดแล้ว จึงค่อยมาทำความสะอาดเพื่อเปิดใช้เป็นเส้นทางสำหรับจักรยานอีกครั้งตลอดทั้งปี ซึ่งแน่นอนที่สุด คนพันธุ์สองล้อก็ต้องมาช่วยกันกับภารกิจ big cleaning เพราะถือเป็นกลุ่มคนที่ต้องเส้นทางตลอดทั้งปี


แนวคิดข้อเสนอว่าด้วยอุโมงค์ดังกล่าวนี้ เกิดมาจากการข้อเท็จจริงที่ว่า เนื่องจากคูหรือท่อระบายน้ำในเขตกรุงเทพฯมีข้อจำกัดที่มีขนาดเล็กไม่สามารถสร้างใหม่หรือขยายให้ใหญ่ขึ้นได้ และซ้ำร้าย เกิดภาวะอุดตัน (เกือบ) ถาวร จึงกลายเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดน้ำท่วมขังในเขตเมืองหลวงของประเทศ ดังนั้น กล่าวอีกแง่หนึ่ง อุโมงค์ที่กล่าวถึงนี้ก็คืออุโมงค์ระบายน้ำที่เชื่อมต่อถนนสายต่างๆ ครอบคลุมทั้งกรุงเทพฯนั่นเอง เพียงแต่จะเน้นใช้เฉพาะในช่วงที่กรุงเทพฯมีปริมาณน้ำมากหรือน้ำท่วมเท่านั้น หากสามารถช่วยแก้ไขปัญหาน้ำท่วมได้ก็ถือว่าคุ้มค่ายิ่ง


และเนื่องจากเป็นอุโมงค์ขนาดเล็กมากเมื่อเปรียบเทียบกับรถไฟใต้ดินจึงอยู่ในวิสัยที่เป็นไปได้ ทั้งในแง่วิศวกรรมศาสตร์ (อาศัยแสงอาทิตย์ในช่วงเวลากลางวัน และอาศัยพลังงานแสงอาทิตย์ให้ความสว่างในช่วงเวลากลางคืนที่ควรจะเปิดใช้จนถึงสามทุ่ม) ด้านงบประมาณรวมถึงในด้านการเมือง (ที่ไม่ได้ไปบดบังหรือเบียดเบียนพื้นที่ของใคร) และไม่ต้องมีการเวนคืน (เพราะสร้างใต้ท้องถนน)


แนวทางที่สาม ก็คือ การสร้างสรรค์เส้นทางใหม่ๆ ให้กับจักรยานหรือไบค์เลนเพื่อกระตุ้นให้คนกรุงเทพฯไม่ต่ำกว่าหนึ่งล้านคนมาร่วมปั่นออกกำลังเพื่อสุขภาพชีวิตและสุขภาพสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การปั่นจักรยานคือแนวทางหนึ่งของการดำเนินชีวิตแบบเศรษฐกิจพอเพียง ดังนั้น เพื่อเป็นการส่งเสริมสุขภาพของคนจำนวนมาก กรุงเทพมหานครและรัฐบาลก็ควรต้องพิจารณาปรับโฉม (เส้นทางน้อยใหญ่) หรือสร้างเส้นทางใหม่สำหรับปั่นจักรยานให้เชื่อมต่อกันเป็นหนึ่งเดียว


และหากจำเป็นจริงๆ กรุงเทพมหานครก็อาจจะพิจารณาเวนคืนพื้นที่จำนวนหนึ่งเพื่อสร้างเลนหรือเส้นทางเฉพาะจักรยานขึ้นมาโดยเฉพาะก็ได้ หลังจากที่เราคุ้นเคยกับการเวนคืนพื้นที่เพื่อสร้างถนนหรือทางด่วนมาโดยตลอด เป็นการสร้าง “สนามเขียว” ขนาดใหญ่เชื่อมต่อพื้นที่รอบกรุงเทพเป็นเส้นเดียว อาจจะสร้าง “สนามเขียว” รอบนอกที่อาจจะมีความยาวต่อเนื่อง 200-400 กิโลเมตร และรอบใน (เขตเมืองหลวง) หรือรอบเขตชั้นในที่มีระยะทางสั้นกว่า ซึ่งอยู่ในวิสัยที่น่าจะทำได้ รวมถึงการปรับเปลี่ยนสร้างเลนจักรยานลอยฟ้าบนตอม้อถนนเกษตร-นวมินทร์เชื่อมต่อด้วยสะพานแขวน (ขนาดเล็กกว้างประมาณสองเมตร) ผ่านมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ไปจดถนนวิภาวดีรังสิต (ก่อนที่จะเชื่อมต่อกับสะพานแขวนใต้เส้นทางรถไฟฟ้า) ให้กลายเป็นสิ่งมหัศจรรย์หนึ่งสำหรับเมืองหลวงของประเทศ


นอกจากนี้ ปทุมธานีก็เป็นจังหวัดหนึ่งที่มีความหลากหลายและเหมาะสมที่จะสร้าง “สนามเขียว” เป็นวงกลมรอบจังหวัดเชื่อมต่อกับเส้นกรุงเทพฯ เพื่อเป็นทางเลือกที่สุดวิเศษให้กับบรรดานักปั่นในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล


ทั้งนี้ รัฐบาลควรจะพิจารณาลดการเวนคืนหรือหยุดทุ่มงบประมาณเพื่อสร้างทางด่วนใหม่ๆ สำหรับรถยนต์แล้วหันมาให้ความสำคัญกับการสร้างเส้นทางปั่นจักรยานมากขึ้น เพราะนี่คือกระแสที่เกิดขึ้นทั่วโลก


การสร้างกรุงเทพฯและหัวเมืองใหญ่น้อยต่างๆ ทั่วประเทศให้เป็นสวรรค์ที่ปลอดภัยสำหรับนักปั่นสองล้อด้วยนวัตกรรมที่สวยงามและแปลกใหม่ ทำให้จักรยานกลายเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตไทยซึ่งสอดคล้องกับหลักเศรษฐกิจพอเพียง จึงเป็นสิ่งที่รัฐบาลและส่วนปกครองท้องถิ่นรวมทั้งภาคเอกชนต้อง serious เอาจริงเอาจัง