‘ค่าเงิน’ กับการกระตุ้นเศรษฐกิจ

‘ค่าเงิน’ กับการกระตุ้นเศรษฐกิจ

แม้จะผ่านมาร่วมเดือนแล้ว แต่เรียนตามตรงว่า ผมยัง “ประหลาดใจ” กับมติของคณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ “กนง.”

 ที่ “ปรับลด” ดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% มาอยู่ที่ 1.5% ในการประชุมเมื่อวันที่ 29 เม.ย.ที่ผ่านมา

ที่ประหลาดใจไม่ใช่เพราะมติที่ให้ปรับลดดอกเบี้ย เนื่องจากประเด็นนี้พอเข้าใจได้ว่า เศรษฐกิจไทย เวลานี้ อ่อนแรง กว่าที่คาด ในขณะที่ความน่าเป็นห่วงเรื่องเสถียรภาพการเงินมีน้อยลง ..การที่ เหยี่ยว จะเปลี่ยนมาเป็น พิราบ ใช้นโยบายการเงินหวดก้นเศรษฐกิจให้ออกแรงวิ่งบ้าง คงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร

แต่ที่ประหลาดใจมากซักหน่อย คือ เหตุผล บางข้อของการปรับลดดอกเบี้ย ซึ่งครั้งนี้ถือเป็น ครั้งแรก ที่รายงานการประชุม กนง. ระบุสาเหตุหนึ่งของการปรับลดดอกเบี้ยไว้ชัดเจนว่า เพื่อช่วยให้อัตราแลกเปลี่ยนปรับสู่ระดับที่เอื้อต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจมากขึ้น

..พูดภาษาชาวบ้านก็คือ เพื่อทำให้ เงินบาทอ่อนลง ช่วยให้ การส่งออก ปรับตัวดีขึ้น ซึ่งจะช่วยสนับสนุนให้ภาพรวมเศรษฐกิจฟื้นตัวได้ดีขึ้นด้วย

เรียนตามตรงว่า อ่านเหตุผลข้อนี้แล้วค่อนข้างแปลกใจ เพราะเท่าที่จำได้ แบงก์ชาติ ส่งสัญญาณมาตลอดว่า ดอกเบี้ย กับ อัตราแลกเปลี่ยน ความสัมพันธ์มีน้อยมาก และแบงก์ชาติมักบอกอยู่ตลอดว่า ความสัมพันธ์ของค่าเงิน จะขึ้นอยู่กับ พื้นฐานเศรษฐกิจ เป็นหลัก พร้อมกับยกตัวอย่างในหลายประเทศขึ้นมาให้เห็นภาพ

ไม่ว่าจะเป็นกรณี รัสเซีย ที่ขึ้นดอกเบี้ยเกือบเท่าตัวในปลายปีที่แล้ว เพื่อจะหยุดยั้งการอ่อนค่าลงของเงินรูเบิล แต่ก็ไม่สามารถทำได้ เพราะการอ่อนลงค่าเงินรูเบิกเป็นผลจากเศรษฐกิจที่อ่อนแอลง หรือกรณีของ สวิสเซอร์แลนด์ ที่ประกาศนโยบายเลิกตรึงค่าเงิน ฟรังก์ กับ ยูโร พร้อมลดดอกเบี้ยลงจนติดลบ แต่ค่าเงิน สวิสฟรังก์ ยังคงแข็งค่าต่อเนื่อง ซึ่งก็เป็นผลจากพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง

สำหรับประเทศไทยแล้ว แม้เศรษฐกิจจะอ่อนแรงลง แต่ดุลบัญชีเดินสะพัด เกินดุล อย่างแข็งแกร่ง อันเป็นผลจากราคาน้ำมันที่ปรับลง ทำให้ภาระที่ต้องจ่ายเงินเพื่อซื้อพลังงานลดลง และการเกินดุลตรงนี้ ใครๆ ก็บอกว่าเป็น ต้นเหตุ สำคัญของเงินบาทที่แข็งค่า

แม้แต่ อ.โฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารกรุงเทพ ยังไม่เชื่อว่า แบงก์ชาติ จะให้เหตุผลของการลดดอกเบี้ยไว้เช่นนั้น!

อ.โฆสิต บอกว่า ผมไม่คิดว่าแบงก์ชาติจะลดดอกเบี้ยเพื่อให้ค่าเงินบาทอ่อน ผมไม่เคยได้ยินแบงก์ชาติพูดอย่างนั้น และเขาคงไม่กล้าพูดอย่างนั้นด้วย เพราะถ้าเป็นเช่นนั้น เขาก็ต้องลดดอกเบี้ยลงไปเรื่อยๆ ซึ่งในใจผมคิดว่ามันเกี่ยวกันน้อย

อย่างไรก็ตามประเด็นที่ ผมตั้งข้อสงสัย ไม่ได้อยู่ที่ว่า จุดยืน ของแบงก์ชาติเปลี่ยนไปหรือไม่ เพราะหลายคนบอกว่า มติ และ เหตุผล ที่ออกมา เป็นมติที่ประชุมกนง. ซึ่งมี คนนอก รวมอยู่ด้วย

เพียงแต่ที่สงสัย คือ เหตุผลของการลดดอกเบี้ยในรอบที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งเพื่อหวังผลในเรื่องของค่าเงิน โดยระบุว่าจะช่วยให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจมีมากขึ้น ..ประเด็นนี้เท่ากับว่า กนง. หันมาใช้ อัตราแลกเปลี่ยนในการ กระตุ้นเศรษฐกิจใช่หรือไม่?

ถ้าคำตอบ คือ “ใช่” ..คำถามถัดมา คือ แล้วถ้าเครื่องมือ “ดอกเบี้ย” ไม่สามารถควบคุมอัตราแลกเปลี่ยนให้อยู่ระดับที่เหมาะสม เอื้อต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจได้ จะมีเครื่องมืออื่นใดบ้างหรือไม่ ที่สามารถเข้ามาช่วยดูแลเพิ่มเติมได้

ที่สำคัญ..นโยบายการเงินในเวลานี้ควรมีการทบทวนหรือไม่ เพราะถ้าเครื่องมือ ดอกเบี้ยไม่สามารถดูแลเศรษฐกิจ ไม่สามารถควบคุมเงินเฟ้อ ให้อยู่ในกรอบเป้าหมายได้ ควรมีการมองเครื่องมืออื่นเพิ่มเติมหรือไม่ เพราะยังไงซะ กนง. ก็หันมา ให้น้ำหนักกับเรื่อง อัตราแลกเปลี่ยนที่มากขึ้นอยู่แล้ว!