รื้อใหญ่ร่างรธน.

รื้อใหญ่ร่างรธน.

ปิดรับคำแปรญัตติขอแก้ไข “ร่างรัฐธรรมนูญ” จากฝ่ายต่าง ๆ ไปแล้วเมื่อวานนี้ ตามที่ “คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ”

 กำหนดเวลาเอาไว้ โดย 3 องค์กรที่มีสิทธิเสนอความเห็นตามรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2557 ประกอบด้วย คณะรัฐมนตรี(ครม.) คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และ สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.)

+++ในส่วนของ พรรคการเมือง นั้น กรรมาธิการยกร่างฯ ได้เปิดโอกาสให้เสนอความเห็นเป็นลายลักษณ์อักษรเข้ามา ซึ่งก็มีหลายพรรคเสนอแนะให้มีการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเรื่องทางการเมือง

+++ ข้อเสนอแนะทางการเมือง ที่หลายฝ่ายเห็นตรงกันว่าควรแก้ไขคือ กรณี เปิดโอกาสให้“คนนอก”เป็นนายกฯได้ในยามวิกฤตตรี มีข้อเสนอให้กำหนดคำว่า“วิกฤต” ให้ชัดเจน, ไม่เห็นด้วยกับการเลือกตั้งส.ส.บัญชีรายชื่อในระบบโอเพ่นลิสต์, คัดค้านการให้อำนาจนายกฯ เสนอกฎหมายพิเศษ, ถ้าฝ่ายค้านไม่อภิปรายไม่ไว้วางใจภายใน 48 ชั่วโมง หรือมีการอภิปรายแล้วได้รับการไว้วางใจ ให้กฎหมายผ่านสภาทันทีโดยไม่ต้องพิจารณา

+++ นอกจากนั้นยังมีประเด็นกรณีให้นายกฯ เปิดอภิปรายไว้วางใจตัวเองได้ หากมีการดำเนินการแล้วฝ่ายค้านจะอภิปรายไม่ไว้วางใจในสมัยประชุมไม่ได้ ซึ่งถูกวิจารณ์ว่าทำให้เกิดเผด็จการรัฐสภาอย่างถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ เพราะนายกฯ หลีกเลี่ยงการตรวจสอบจากฝ่ายค้านได้ผ่านช่องทางดังกล่าว

+++ ส่วนประเด็นเกี่ยวกับการปฏิรูปและการสร้างความปรองดอง หลายฝ่ายเห็นตรงกันว่าควรตัดทิ้งคือ คณะกรรมการปรองดอง ที่ให้อำนาจเสนอพระราชกฤษฎีกาอภัยโทษ ให้กับบุคคลที่ให้ข้อมูลเป็นประโยชน์หรือสำนึกผิดต่อคณะกรรมการ

+++ คำนูญ สิทธิสมาน โฆษกคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ บอกว่า หลังได้รับคำขอแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญแล้ว ในวันที่ 26 พ.ค.นี้เป็น

ว่า จะประมวลจับกลุ่มและระบบภายใน เพื่อให้เห็นภาพชัดว่า ในแต่ละมาตราแต่ละประเด็นมีคำขอแก้ไขอย่างไรบ้าง จากนั้นระหว่างวันที่ 2-6 มิ.ย. จะเชิญผู้ยื่นคำขอแก้ไขเข้าชี้แจงด้วยวาจา ขณะที่ระหว่างวันที่ 22 มิ.ย.-3 ก.ค. จะเก็บตัวพิจารณาแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ ที่สวนสนประดิพัทธ์ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์

+++ คงต้องรอดูว่าร่างรัฐธรรมนูญที่ กมธ.ยกร่างฯ เขียนออกมาได้ “315 มาตรา ในที่สุดแล้วจะเหลือสักกี่มาตรา เพราะล่าสุดกมธ.ปฏิรูปการเมือง ที่มี สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ ประธาน ก็เสนอแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับหั่นให้เหลือกว่า “100 มาตรา ส่วนรายละเอียดต่าง ๆ ก็ให้ยกไปบัญญัติไว้ในกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ

+++ ปิดท้ายที่ พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร ผู้บัญชาการทหารบก และ เลขาธิการคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ออกมาระบุถึงกรณีการจับกุมนักศึกษที่แสดงสัญลักษณ์ต่อต้านรัฐประหาร เมื่อวันที่ 22 พ.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเจ้าหน้าที่ใช้ความรุนแรงกับนักศึกษา ซึ่งพล.อ.อุดมเดช ยืนยันว่าเจ้าหน้าที่ไม่ได้ใช้ความรุนแรง แต่อาจมีภาพบางมุมออกมาแบบนั้น เพราะเจ้าหน้าที่จำเป็นต้องเชิญตัว แต่ก็ไม่ได้รุนแรง

+++ พล.อ.อุดมเดช บอกด้วยว่า เป็นความจำเป็นของเจ้าหน้าที่ โปรดเห็นใจ เราจะปล่อยปละละเลยไม่ได้ จำเป็นต้องรักษาสถานการณ์ให้นิ่งให้เรียบร้อยให้ได้ จึงต้องขอความร่วมมือ เจ้าหน้าที่ยอมไม่ได้ที่ปล่อยนักศึกษาสร้างความไม่สงบ เราต้องทำให้สถานการณ์นิ่ง ราบรื่น ไปสู่โรดแมพของ คสช.โดยเร็ว วอนพ่อแม่ ครู สถานศึกษาช่วยทำความเข้าใจด้วย