เส้นทางกลับสู่การเมืองปกติ : ปูด้วยคำถามที่ไร้คำตอบ

เส้นทางกลับสู่การเมืองปกติ : ปูด้วยคำถามที่ไร้คำตอบ

ใครที่ติดตามการแสดงความเห็น ของผู้เกี่ยวข้องกับเส้นทางการเมือง จากวันนี้ถึงวันเลือกตั้งก็พอจะสรุปได้ว่า “ไม่มีอะไรแน่นอน”

นายกฯ ประยุทธ์ จันทร์โอชา ตอบคำถามนักข่าวและนักข่าวต่างประเทศในประเด็น Roadmap ว่าเมื่อมีเรื่องประชามติเข้ามาเกี่ยวข้องแล้ว ก็ต้องมาเขียนตารางเวลากันใหม่


เพราะแม้กระบวนการทำประชามติเองจะกินเวลาประมาณ 3 เดือน แต่ก็ยังมีคำถามที่ชาวบ้านอย่างเราต้องถามเพื่อประกอบการพิจารณา ว่าปฏิทินการเมืองจากนี้ไปจะต้องพิจารณาปัจจัยอะไรบ้าง


ประเด็นที่ต้องรอความกระจ่างก็หนีไม่พ้น


1. สภาปฏิรูปแห่งชาติจะผ่านร่างรัฐธรรมนูญหรือไม่?


2. ถ้าผ่านจะเกิดอะไรขึ้น? ถ้าไม่ผ่านก็เดินหน้าต่อไปอย่างไร?


3. ถ้าไม่ผ่าน จะต้องตั้งคณะกรรมาธิการยกร่างใหม่ และสภาปฏิรูปแห่งชาติใหม่หมด และเริ่มร่างกันใหม่ หากเป็นเช่นนั้นจะต้องใช้เวลาอีกนานเท่าไหร่?


4. ถ้าผ่าน จะทำประชามติหรือไม่? แม้ว่าจะมีความเชื่อจากข่าวที่ออกมาในระยะหลังว่าทั้ง สปช. และคณะกรรมาธิการยกร่างฯ ต่างก็เห็นพ้องว่าจะต้องทำประชามติ แต่การประชุมร่วมของ ครม. และ คสช. ก็เพียงแต่ตกลงกันว่าจะเปิดทางให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราว เพื่อให้มีการทำประชามติเท่านั้น แต่นั่นไม่ได้เป็นข้อผูกมัดว่ารัฐบาลและ คสช. จะต้องทำประชามติอย่างแน่นอนเพราะนายกฯยังยืนยันว่า “แล้วแต่สถานการณ์”


5. แม้ว่าในท้ายที่สุดรัฐบาล และ คสช. จะตัดสินใจทำประชามติ ก็จะต้องลงรายละเอียดแก้ไขเพิ่มเติมในรัฐธรรมนูญชั่วคราวว่า จะต้องดำเนินตามขั้นตอนอย่างไร อีกทั้งยังต้องมาตกลงกันว่าจะตั้งคำถามประชาชนอย่างไร จึงจะถือได้ว่าเป็นการถามความเห็นของประชาชนอย่างถูกต้องเป็นธรรมและรอบด้าน


6. คำถามต่อมาเมื่อตกลงกันได้แล้วว่าจะทำประชามติหรือไม่ และจะทำอย่างไรก็คือว่า หากเสียงส่วนใหญ่ในการกาบัตรในการทำประชามติให้ผ่านจะต้องใช้เวลาอีกนานเท่าไหร่จึงจะจัดให้มีการเลือกตั้งได้


7. คำถามใหญ่กว่านั้นก็คือว่า หากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติ จะทำอย่างไรต่อไป? ร่างใหม่เลย หรือจะตั้งคณะกรรมาธิการยกร่างฯ ขึ้นใหม่เพื่อทำหน้าที่เดิม หรือจะหยิบเอารัฐธรรมนูญเก่าฉบับใดฉบับหนึ่งมาแก้ไขปรับปรุงเพื่อประกาศใช้?


8. จากนั้นก็ต้องถามว่าแต่ละขั้นตอนจะกินเวลาเท่าไหร่และจะประเมินได้อย่างไรว่า แต่ละสถานการณ์จะนำไปสู่การเลือกตั้งได้เมื่อใด?


9. ถึงวันนี้ก็ยังต้องตอบว่าไม่มีใครรู้ แม้แต่นายกฯประยุทธ์ เองก็บอกไม่ได้ เพราะแต่ละขั้นตอนมีความเป็นไปได้มากกว่าหนึ่ง และหากออกมาทางใดทางหนึ่ง กำหนดเวลาก็จะต่างไปจากอีกทางหนึ่งอย่างมีนัยสำคัญยิ่ง


10. อีกทั้งต้องไม่ลืมว่าแม้ว่าในท้ายที่สุดร่างรัฐธรรมนูญจะผ่านขั้นตอนทั้งหมดแล้ว ก็ยังมีคำถามต่อมาว่าเป้าหมายของการ “ปฏิรูป” ประเทศและการสร้างความ “ปรองดองแห่งชาติ” ที่เป็นเป้าหมายหลักของการรัฐประหารครั้งนี้บรรลุได้สักกี่เปอร์เซ็นต์


11. และหากเป้าหมายหลักของการปฏิรูปบ้านเมือง ยังไม่เป็นไปตามที่ประชาชนส่วนใหญ่เรียกร้องต้องการ รัฐบาลที่จะมาจากการเลือกตั้งครั้งต่อไป จะสามารถตอบสนองความประสงค์อันแรงกล้า ที่มีความสำคัญต่อการสร้างประชาธิปไตยและความผาสุกของประชาชนได้จริงหรือ?