ปรับมุมมองขรก. ไม่ให้ปฏิรูปเกษตรเสียของ

ปรับมุมมองขรก. ไม่ให้ปฏิรูปเกษตรเสียของ

ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร จากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ได้วิเคราะห์ในวงเสวนา

เมื่อเร็วๆนี้อย่างน่าสนใจ ดร.นิพนธ์ บอกว่าสินค้าเกษตรไทยและรวมถึงตลาดโลก เผชิญกับภาวะขาลง และไม่มีใครทราบว่าจะลงต่ำไปอยู่ตรงจุดไหน 

ไม่แน่ใจว่าขาลงแบบนี้จะลากยาวเหมือนปี 2524-2541 หรือไม่ แม้ธนาคารโลกและเอฟเอโอ จะคาดการณ์ในทำนองราคาจะกระเตื้องขึ้นก็ตาม 

ดร.นิพนธ์ห่วงว่าราคาสินค้าเกษตรของทศวรรษ 2560 จะตกต่ำเหมือนทศวรรษ 2520-2530 เงื่อนไขมีอยู่ว่าหากมีการลงทุนทางเทคโนโลยีเพิ่มผลผลิต ทำให้ผลผลิตอาหารทั่วโลกเพิ่มขึ้น

สาเหตุที่ราคาตกต่ำ เป็นผลมาจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว โดยเฉพาะจีนซึ่งเป็นผู้นำเข้าอาหารพลังงานรายใหญ่ที่สุด ทำให้ราคาสินค้าเกษตรลดลง 

ราคาน้ำมันที่ลดลง เป็นผลให้ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำตามไปด้วย แม้ราคาน้ำมันที่ลดลงนี้จะทำให้ราคาปุ๋ย และค่าขนส่งทางเรือลดลง แต่ก็ไม่สามารถชดเชยราคาสินค้าและรายได้ที่ลดลงได้ 

ประกอบกับการซื้อขายระหว่างประเทศยังคงยึดดอลลาร์ เมื่อดอลลาร์แข็งค่าขึ้น นักเก็งกำไรในตลาดหุ้นลดความสนใจเก็งกำไรราคาสินค้าโภคภัณฑ์พื้นฐาน ส่งต่อมายังราคาสินค้าเกษตรด้วย

ราคาสินค้าเกษตรที่ตกต่ำลง ส่งผลให้เกษตรกรผู้มีผลผลิตส่วนเกินขายในตลาดจะมีรายได้ลดลง แต่ผู้บริโภค แรงงานนอกภาคเกษตร จะได้ประโยชน์ แต่โดยรวมแล้วผลสุทธิจะเป็นลบกับเกษตรกร

แม้จะได้อานิงสงส์จากราคาน้ำมัน ที่ช่วยลดต้นทุนปัจจัยการผลิตของเกษตรกรลงได้บ้าง แต่ราคาน้ำมันส่งผ่านได้น้อย เมื่อหักลบกลบหนี้กันแล้ว รายได้สุทธิจริงของเกษตรกรมีปัญหา  

ที่ผ่านมาเกษตรกรไทยมีการปรับตัวอยู่ตลอดเวลา เพื่อรับกับสถานการณ์ ในอดีตก่อนที่รัฐบาลจะมีนโยบายแทรกแซง ทั้งจำนำพืชผลและประกันรายได้ เกษตกรได้ปรับตัว เช่น เปลี่ยนนาข้าวเป็นนากุ้ง หรือเลี้ยงปลา และ การปลูกพืชอายุสั้น ทำให้โครงสร้างการผลิตกระจายตัว แต่นโยบายรับจำนำราคาสูงและการประกันรายได้ ทำให้ชาวนาหันมาปลูกข้าวเพียงอย่างเดียว จนล้นตลาด ล้นสต็อก เมื่อรัฐบาลเลิกจำนำ เกษตรกรบางรายจึงยังปรับตัวไม่ได้

แม้ชาวนาจะได้ประโยชน์จากการจำนำ แต่ก็เป็นเพียงผลในระยะสั้น และโครงการจำนำก่อให้เกิดความเสียหายมหาศาลต่อประเทศ รวมทั้งการทุจริต แต่คงไม่มีรัฐบาลใดที่กล้ายกเลิกอุดหนุนเกษตรกรทั้งหมดในทันที 

ดร.นิพนธ์เสนอให้ออกกฎหมายการอุดหนุนที่มีการจำกัดวงเงินงบประมาณ แต่งบอุดหนุนที่จำกัดจะหลีกเลี่ยงปัญหาทางการคลังได้ยาก  เกษตรกรคงต้องยอมตกลงเรื่องประกันราคาในระดับที่พอประคองไม่ให้ขาดทุนหนักเท่านั้น 

ข้อมูลดร.นิพนธ์บอกว่า งบสำหรับอุดหนุนเกษตรในแต่ละปี เป็นเพื่อการวิจัยเพียง 7.4 %งบส่งเสริมการเกษตร 12.4 %งบชลประทาน 37.2 %ที่เหลือ 43 % เป็นสินเชื่อมากถึงปีละ 1,177.5 พันล้านบาท รวมอุดหนุนราคากับสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ ปีละกว่า1 ล้านๆบาท

ไทยเป็นประเทศผู้ผลิตสินค้าเกษตรรายใหญ่ของโลก แต่ที่ผ่านมาการผลิตเป็นไปแบบ“ตามมี ตามเกิด” มีแผนพัฒนาฯแต่การดำเนินการไร้ซึ่งทิศทางและยุทธศาสตร์ ทุ่มอุดหนุนผิดที่ผิดทาง ปล่อยให้ระบบการเมืองอุปถัมภ์ลากไปจนสิ้นไร้ประสิทธิภาพ

ยิ่งผลิต ยิ่งจน ยิ่งไม่มีที่ทำกิน

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีบอกต้องปฏิรูปใหญ่ภาคเกษตรทั้งระบบ 

ต้องจับตาดู 1 ปีผ่านมาแล้ว แต่จะปฏิรูปใหญ่ได้ ทุกภาคส่วนต้องเปลี่ยนวิธีคิดก่อน โดยเฉพาะกลุ่มใหญ่ที่ทำงานเกี่ยวข้องกับภาคเกษตรอย่างข้าราชการที่คอยขับเคลื่อนงาน ต้องปรับมุมมองใหม่ 

คิดถึงการเพิ่มประสิทธิภาพเกษตรกรต้องมาก่อน 

ถ้าไม่เปลี่ยนวิธีคิด การปฏิรูปก็ล้มเหลวหรือเสียของอยู่ดี