พันธกิจผู้ว่าการแบงก์ชาติยุคผลัดใบ

พันธกิจผู้ว่าการแบงก์ชาติยุคผลัดใบ

โผ 5 รายชื่อผู้สมัครแข่งขันในตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย หรือแบงก์ชาติ คือ ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ

กรรมการผู้จัดการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจของบริษัทหลักทรัพย์ภัทร ดร.วิรไท สันติประภพ กรรมการแบงก์ชาติและที่ปรึกษาสถาบันพัฒนาและวิจัยประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) นายเกียรติชัย โสภาเสถียรพงษ์ อดีตผู้บริหารธนาคารพาณิชย์ และ 2 รองผู้ว่าการแบงก์ชาติคือนางทองอุไร ลิ้มปีติ ที่ดูแลด้านสถาบันการเงินและการเปิดเสรีทางการเงิน และนายไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน ที่ดูแลด้านเสถียรภาพทางการเงิน มีความน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง โดยที่ทั้ง 5 คนอยู่ในขั้นตอนของการสรรหา และจะต้องแสดงวิสัยทัศน์ในเร็วๆนี้

แต่หากมีการจับวางคู่ก็คงไม่พ้นคู่เต็งหนึ่งระหว่างดร.ศุภวุฒิกับนายไพบูลย์ ซึ่งทั้งคู่มีแนวคิดแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ทั้งที่มีความรู้ความเข้าใจต่อภาพเศรษฐกิจมหภาคไม่ด้อยไปกว่ากัน เพียงแต่ว่าดร.ศุภวุฒิจะมองในแง่ที่ตลาดจับต้องได้มากกว่า และเน้นให้ใช้นโยบายอัตราแลกเปลี่ยน (Exchange Rate Targeting) ทำให้เงินบาทอ่อนค่าสนับสนุนเศรษฐกิจให้เติบโต ส่วนนายไพบูลย์นั้นเห็นว่าควรให้น้ำหนักกับการใช้นโยบายดอกเบี้ยการดูแลเงินเฟ้อและเสถียรภาพเศรษฐกิจ หรือ Inflation Targeting สำหรับคู่เต็งสองระหว่างนางทองอุไรที่อยู่แบงก์ชาติมานานถึง 33 ปี ซึ่งเชื่อในกลไกการทำงานของระบบธนาคาร ตลาดการเงิน และตลาดบอนด์ ขณะที่ดร.วิรไทมีจุดแข็งที่เชื่อในเรื่องการดูแลความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ

เมื่อพูดถึงบุคคลที่จะเข้ามารับตำแหน่งผู้ว่าการแบงก์ชาตินั้น ต้องรู้จักในพันธกิจของแบงก์ชาติ ที่ต้องมุ่งส่งเสริมสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจการเงินที่มีเสถียรภาพ และมีการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนและทั่วถึง ไม่ใช่การดูแลปัญหาเศรษฐกิจ หรือมุ่งพัฒนาหรือดูแลจุดใดจุดหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิสัยทัศน์ของผู้ว่าการแบงก์ชาติต้องเป็นมองอย่างเป็นองค์กรที่มองไกล มีหลักการ และร่วมมือเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีอย่างยั่งยืนของคนไทย เช่นการใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายด้วยการลดดอกเบี้ยนโยบายก็ต้องเอื้อให้เกิดผลประโยชน์ในการกระตุ้นเศรษฐกิจในภาพรวม ไม่ใช่ทำเพื่อให้เงินบาทอ่อนค่าเพื่อช่วยเฉพาะส่งออก แต่กลับส่งผลเงินที่มีต้นทุนดอกเบี้ยต่ำไปทำให้เกิดการเก็งกำไรในราคาสินทรัพย์ จนทำให้กระทบต่อเงินเฟ้อที่สูงขึ้น

อย่างเช่นการลดลงของดอกเบี้ยนโยบาย 2 ครั้งซ้อนถึง 0.5% ล่าสุด ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการแบงก์ชาติได้ให้สัมภาษณ์ CNBC ชี้ว่าเศรษฐกิจไทยยังคงเจอจุดสะดุดอยู่ โดยยอมรับอีกว่า มีโอกาสที่จะปรับลดดอกเบี้ยลงอีกในอนาคต เพราะดอกเบี้ยยังไม่ถึงระดับเป็นศูนย์ เมื่อเปรียบเทียบเสถียรภาพทางการเมืองในขณะนี้กับเมื่อปีที่แล้ว ขณะนี้ถือว่าดีกว่ามาก แต่เมื่อมองไปข้างหน้า แน่นอนว่าประชาชนต้องการความต่อเนื่องมากกว่านี้ โดยไม่รู้สึกกังวลเกี่ยวกับความล่าช้าในการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย เพราะในแง่ของกรอบเวลานั้น ไม่ได้ทำให้เกิดความแตกต่างมากนัก ดังนั้น จึงควรจะมีสิ่งที่สามารถยอมรับได้และยั่งยืนมากขึ้น ซึ่งดีกว่าสิ่งที่จะทำให้ประชาชนเกิดความขัดแย้งและแตกแยก

พันธกิจของผู้ว่าการแบงก์ชาติยังต้องมีความน่าเชื่อถือ พูดในสิ่งที่ทำให้คนอื่นเชื่อโดยโน้มน้าวให้นายธนาคารลดดอกเบี้ยเงินกู้ ท่ามกลางแนวโน้มเศรษฐกิจที่ซบเซาทั้งจากการลงทุนเอกชนและการใช้จ่ายเพื่ออุปโภคบริโภคที่ชะลอตัว การส่งออกที่ติดลบ 4,3% ถึงแม้ว่าการลงทุนภาครัฐจะเพิ่มขึ้น และภาคบริการที่มาจากรายได้ท่องเที่ยว ซึ่งผลักดันให้จีดีพีขยายตัวในระดับ 3% ในไตรมาสแรก แต่ความกังวลว่าเงินเฟ้อที่ติดลบ 0.5% และการอ่อนตัวของภาคส่งออกจะทำให้เศรษฐกิจทั้งปียังไม่ฟื้นตัวชัดเจน ส่งผลให้ต้องใช้มาตรการผ่อนคลายทางการเงินมากขึ้นด้วยการกระตุ้นให้ลดดอกเบี้ยทั้งโครงสร้าง แต่ยังต้องระวังไม่ให้ลดดอกเบี้ยเงินฝากที่อาจทำให้ไล่เงินดีซึ่งเป็นเงินฝากประชาชน ออกไปสู่การลงทุนเก็งกำไรที่หวังผลตอบแทนสูงและเป็นความเสี่ยงที่สูงขึ้น