เศรษฐกิจของประเทศ มีปัญหามากกว่าที่คิด

เศรษฐกิจของประเทศ มีปัญหามากกว่าที่คิด

ตัวเลขประมาณการการขยายตัวของเศรษฐกิจไตรมาสแรกปีนี้ที่ร้อยละ 0.3 จากไตรมาสสี่ปีที่แล้ว ชี้ชัดเจนว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยังอ่อนแอ

และถ้าความอ่อนแอมีต่อในไตรมาสสองและช่วงครึ่งหลังของปี เศรษฐกิจปีนี้ ก็อาจขยายตัวต่ำมากอีกปีเป็นปีที่สาม ซึ่งลึกๆ แล้วสะท้อนว่า ปัญหาเศรษฐกิจที่ประเทศมีขณะนี้ ไม่ใช่ปัญหาวัฏจักรเศรษฐกิจ (Cyclical) แต่เป็นผลจากความอ่อนแอเชิงโครงสร้างที่ประเทศมีอยู่ที่กำลังบั่นทอนการทำงานของเศรษฐกิจ เป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง (Structural) ที่ต้องแก้ไข


ตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาสแรกปีนี้ ชี้ว่าเครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจทุกตัวยกเว้นการท่องเที่ยวอยู่ในสภาพอ่อนแอ การส่งออกหดตัวหรือลดลงจากปีก่อน แม้ค่าเงินบาทจะอ่อนลงมาก ทางการเงิน สินเชื่อขยายตัวในเกณฑ์ต่ำร้อยละ 4-5 สะท้อนกำลังซื้อในประเทศที่ซบเซา รวมถึงความห่วงใยของธนาคารพาณิชย์ต่อคุณภาพสินเชื่อ ขณะที่เงินทุนต่างประเทศที่เคยไหลเข้าก็ชะลอ และในบางประเภทก็เปลี่ยนเป็นการไหลออก กดดันให้เงินบาทอ่อนค่า ที่สำคัญการอ่อนตัวของเศรษฐกิจได้กดดันให้อัตราเงินเฟ้อติดลบสี่เดือนติดต่อกันตั้งแต่มกราคม จนความเป็นไปได้ที่เศรษฐกิจไทยจะถลำเข้าสู่ภาวะเงินฝืด เป็นความเสี่ยงทางเศรษฐกิจที่สำคัญขณะนี้


แต่สิ่งที่กำลังเกิดขึ้น ไม่ใช่เรื่องแปลกสำหรับคนที่ติดตามภาวะเศรษฐกิจของประเทศอย่างใกล้ชิดช่วงสามสี่ปีที่ผ่านมา เพราะตั้งแต่วิกฤติเศรษฐกิจโลกปี 2008-2010 เศรษฐกิจไทยขยายตัวในอัตราที่ต่ำมาตลอด เฉลี่ยเพียงร้อยละ 2.9 และปีที่แล้วก็ขยายตัวเพียงร้อยละ 0.7 ต่ำที่สุดในอาเซียน ในเรื่องนี้ ประเด็นที่ต้องเข้าใจก็คือขณะที่ทุกประเทศในอาเซียนต้องเผชิญกับภาวะแวดล้อมทางเศรษฐกิจโลกที่แย่ลงเหมือนๆ กัน แต่ประเทศไทยเป็นประเทศเดียวที่เศรษฐกิจขยายตัวในอัตราต่ำต่อเนื่อง เหตุเพราะประเทศไทยไม่สามารถปรับตัวต่อภาวะเศรษฐกิจต่างประเทศที่แย่ลงได้เหมือนประเทศอื่นๆ


แล้วอะไรเกิดขึ้นกับเศรษฐกิจไทย


ปัญหาสำคัญของเศรษฐกิจขณะนี้คือความสามารถในการแข่งขันของประเทศที่ได้เสื่อมถอยลง ทำให้เศรษฐกิจไม่สามารถแข่งขันได้กับต่างประเทศเหมือนก่อน การส่งออกขยายตัวติดลบต่อเนื่องสองปีติดต่อกัน คือ ลบร้อยละ 0.2 ปี 2013 และลบร้อยละ 0.3 ปีที่แล้ว ปีนี้กองทุนการเงินระหว่างประเทศก็ประเมินว่าการส่งออกไทยจะติดลบอีกปีเป็นปีที่สามที่ลบร้อยละ 2.2 การส่งออกเป็นภาคเศรษฐกิจสำคัญ มีขนาดกว่าร้อยละ 60 ของรายได้ประชาชาติ และเป็นกลไกขับเคลื่อนการขยายตัวของเศรษฐกิจที่สำคัญมาตลอด เมื่อการส่งออกมีปัญหา เศรษฐกิจก็ขยายตัวต่ำลงอย่างที่เห็น


ความสามารถในการแข่งขันของประเทศที่ลดลง จริงๆ แล้วเป็นอาการที่สะท้อนความลึกของปัญหาเชิงโครงสร้างต่างๆ ของประเทศที่สะสมอยู่ ไม่ได้แก้ไขที่ได้ส่งผลกระทบต่อการทำงานของเศรษฐกิจมากขึ้นๆ จนปัจจุบันเศรษฐกิจไทยได้กลายเป็นเศรษฐกิจที่มีต้นทุนสูงทั้งจากค่าจ้างแรงงานที่เพิ่มสูงขึ้น และจากการทุจริตคอร์รัปชันที่เกิดขึ้นกว้างขวาง นโยบายเศรษฐกิจก็ไม่ได้แก้ไขปัญหาที่ประเทศมีอยู่ ผลก็คือเศรษฐกิจไม่สามารถปรับตัวออกจากโมเดลการส่งออกเดิม ที่อาศัยแรงงานราคาถูกเป็นปัจจัยแข่งขัน ซึ่งเป็นความสามารถในการแข่งขันชั่วคราว ไปสู่โมเดลการส่งออกที่ความสามารถในการแข่งขันมาจากความรู้ทักษะและความสามารถของคนในประเทศที่ใช้นวัตกรรมและความคิดพัฒนาสินค้าเพื่อแข่งขันกับต่างประเทศอย่างสร้างสรรค์ ซึ่งเป็นความสามารถในการแข่งขันที่ถาวร เมื่อปรับตัวไม่ได้ภาคส่งออกก็แข่งขันไม่ได้ มีผลให้เศรษฐกิจขาดรายได้ที่จะขับเคลื่อนการบริโภคและการลงทุนในประเทศ


และเท่าที่สังเกตการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจที่ผ่านๆ มาก็ดูเหมือนจะไม่ได้ตระหนักว่าประเทศมีปัญหาเชิงโครงสร้างและแข่งขันไม่ได้ เพราะหลายๆ สิ่งที่รัฐบาลได้ทำเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจจะ เน้นแต่การเพิ่มการใช้จ่ายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นวิธีแก้ไขปัญหาสำหรับเศรษฐกิจที่มีปัญหาเชิงวัฏจักร (Cyclical) ที่การใช้จ่ายไม่พอ ไม่ใช่ปัญหาโครงสร้าง ทำให้มาตรการต่างๆ ที่ออกมาเพื่อแก้ไขเศรษฐกิจ ไม่สามารถเจาะลึกถึงสาเหตุแท้จริงของปัญหา เศรษฐกิจจึงไม่ฟื้นตัว และถ้าแนวคิดในการทำนโยบายยังไม่เปลี่ยน ยังเป็นแบบนี้ เศรษฐกิจก็คงขยายตัวในอัตราต่ำต่อไปอีกปี และคงต่ำสุดในอาเซียน ทำให้ประเทศไทยและความเป็นอยู่ของคนทั้งประเทศต้องสูญเสียโอกาสอย่างน่าเสียดาย


แล้วเราจะแก้ไขปัญหาความไม่สามารถในการแข่งขันของประเทศอย่างไร


ความสามารถในการแข่งขันเป็นสิ่งที่สร้างได้ จากทรัพยากรต่างๆ ที่ประเทศมีอยู่และจากการดำเนินนโยบายที่ถูกต้อง โดยนโยบายที่มุ่งสร้างภาวะแวดล้อมด้านเศรษฐกิจและการเมืองที่เอื้อให้คนในประเทศพัฒนาความรู้ความสามารถ และมีโอกาสแสดงฝีมือและความสามารถได้อย่างเต็มที่ ผลักดันให้ความสามารถในการแข่งขันของประเทศเพิ่มสูงขึ้น ความสามารถของคนในประเทศจึงเป็นความสามารถในการแข่งขันที่แท้จริง ที่เกิดจากนโยบายเศรษฐกิจที่เน้นความเป็นเสรีของตลาด การแข่งขัน การปฏิบัติใช้กฎหมายที่เข้มแข็ง เพื่อสร้างแรงจูงใจทางเศรษฐกิจ และบทบาทภาครัฐที่ลดลง เล็กลง เพื่อไม่เป็นข้อจำกัดต่อการแข่งขันและกลไกตลาดภายใต้ความมีเสถียรภาพทางการเมือง


แต่ที่ผ่านมา สิ่งเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้น ตรงกันข้ามพัฒนาการหลายอย่างในประเทศกำลังเดินสวนทางกับสิ่งที่ควรเกิดขึ้น ทำให้ความสามารถในการแข่งขันของประเทศเสื่อมถอยลง


หนึ่ง ประเทศมีความไม่มีเสถียรภาพทางการเมืองต่อเนื่อง จนกระทบเศรษฐกิจ และความเชื่อมั่นของนักลงทุนมีต่อการทำธุรกิจในประเทศไทย โดยเฉพาะความไม่ต่อเนื่องด้านนโยบายที่มากับความไม่แน่นอนทางการเมือง ขณะเดียวกันวัฏจักรของการเลือกตั้งและรัฐประหารช่วงสิบปีที่ผ่านมา ก็ชี้ว่า ประเทศไทยยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาการเมืองที่ประเทศมีอยู่ได้ ทำให้ประเทศขาดระบอบการเมืองที่เข้มแข็งที่จะเป็นพื้นฐานให้กับการเติบโตของประเทศในระยะยาว และเมื่อการเมืองไม่มีเสถียรภาพรัฐบาลที่เข้ามาแต่ละสมัยก็มุ่งแต่ประเด็นเรื่องเฉพาะหน้า ไม่แตะหรือแก้ปัญหาที่มีอยู่อย่างจริงจัง


สอง ภาคราชการได้เติบโตมากๆ ขึ้นจนเป็นกลุ่มผลประโยชน์ใหญ่ สวนทางกับกลไกตลาด ที่สำคัญการทำงานของภาคราชการที่ขาดประสิทธิภาพได้กลายเป็นปัญหาต่อคุณภาพของการทำนโยบายและเป็นข้อจำกัดต่อการเติบโตของเศรษฐกิจ เห็นได้จากปัญหาต่างๆ ที่ซ่อนอยู่มากมาย ตัวอย่างที่เห็นง่ายที่สุด ที่มีผลโดยตรงต่อความสามารถในการแข่งขัน ก็คือ คุณภาพของระบบการศึกษาของประเทศ ที่เป็นพื้นฐานของความ


สามารถในการแข่งขัน และการทุจริตคอร์รัปชันที่สร้างต้นทุนที่ไม่จำเป็นต่อภาคเอกชน ดังนั้น ระบบราชการจึงเป็นปัญหาโครงสร้างสำคัญที่ต้องปฏิรูป


สาม คือ ความเหลื่อมล้ำทางโอกาสของคนในประเทศ ที่ทำให้ประเทศไม่สามารถใช้พลังความรู้ความสามารถของคนในประเทศขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจ และความสามารถในการแข่งขัน ปัญหานี้ส่วนหนึ่งมาจากความไม่เป็นเสรีของตลาดที่ลดการแข่งขันและลดโอกาสทางเศรษฐกิจของธุรกิจขนาดเล็ก ทำให้บริษัทธุรกิจขนาดใหญ่ได้ประโยชน์ต่อเนื่องจากโครงสร้างตลาดที่มีการแข่งขันน้อย และการคุ้มครองที่ได้จากภาครัฐ นอกจากนี้ระบบอุปถัมภ์ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ปิดกั้นการแข่งขัน และโอกาสทางเศรษฐกิจของคนส่วนใหญ่ ผลก็คือเศรษฐกิจประเทศวิ่งไม่เต็มสูบเพราะไม่ได้เติบโตจากกำลังและการขับเคลื่อนของคนทั้งประเทศ


นี่คือสาเหตุแท้จริงของปัญหาเศรษฐกิจ ที่ทำให้เศรษฐกิจตกอยู่ในกับดักการขยายตัวต่ำ และถ้านโยบายยังมองว่าปัญหาเศรษฐกิจขณะนี้เป็นปัญหาเชิงวัฏจักรและนโยบายมุ่งเฉพาะแต่การกระตุ้นเศรษฐกิจ ไม่แตะหรือแก้ปัญหาโครงสร้างที่มีอยู่ เศรษฐกิจก็จะขยายตัวต่ำต่อไปอย่างที่เกิดขึ้นในช่วงสองปีที่ผ่านมา