แนวโน้มการฟื้นตัวของศก.โลกและศก.ไทยในครึ่งหลังของปีนี้ (4)

แนวโน้มการฟื้นตัวของศก.โลกและศก.ไทยในครึ่งหลังของปีนี้ (4)

ในครั้งที่แล้วผมเขียนถึงแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย โดยเริ่มที่การส่งออกเพราะมีสัดส่วนสูงถึง 60% ของจีดีพี

แต่คงจะตั้งความหวังที่จะพึ่งพาการส่งออกไม่ได้มากนัก เพราะกำลังซื้อในตลาดโลกอ่อนแอและประเทศเศรษฐกิจหลักของโลกใช้นโยบายการเงินขับเคลื่อนเศรษฐกิจของตน (เนื่องจากไม่สามารถใช้นโยบายการคลังได้) แต่มีผลข้างเคียงคือทำให้เงินของตนเองอ่อนค่า เช่นกรณีของยุโรปและญี่ปุ่น แม้แต่สหรัฐเองก็กลัวเงินของตนแข็งค่าจึงอาจรีๆ รอๆ ที่จะปรับดอกเบี้ยขึ้นทั้งปีนี้ ในขณะเดียวกันธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ก็ไม่เชื่อว่าการลดดอกเบี้ยจะช่วยให้เงินบาทอ่อนค่าเพราะปัจจัยหลักที่ทำให้เงินบาทแข็งตัวมาจากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัด ซึ่งเกิดจากการลดลงของมูลค่าการนำเข้าเพราะราคาน้ำมันปรับลดลงไปอย่างมาก


ดังนั้น นโยบายการเงินของไทยจึงถูกกำหนดให้เป็นกองหลังมากกว่าเป็นกองหน้า ซึ่งภารกิจในการกระตุ้นเศรษฐกิจนั้นถูกกำหนดให้เป็นความรับผิดชอบหลักของนโยบายการคลัง ซึ่งรัฐบาลก็ยืนยันว่าการเบิกจ่ายงบประมาณโดยรวมนั้นก็เร่งทำได้ตามเป้าหมายที่วางเอาไว้แล้ว กล่าวคือ เมื่อสิ้นกลางปีงบประมาณ 2015 (ตอนปลายเดือนมีนาคม) ก็มีการเบิกจ่ายโดยรวมเกินกว่า 50% แล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งงบประจำนั้นสามารถใช้ได้ดีกว่าเป้าหมายและในส่วนของงบลงทุนที่ล่าช้าในไตรมาส 1 และ 2 ของปีงบประมาณ (กล่าวคือเบิกจ่ายได้เพียง 30% ของงบลงทุนทั้งหมดนั้น) ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณก็ได้แจกแจงให้ทราบ (กรุงเทพธุรกิจ 27 เมษายน 2558) ว่ามีการปรับปรุงดีขึ้นเป็นลำดับ เช่นการเบิกจ่ายในไตรมาสแรกทำได้เพียง 9% แต่ไตรมาสสองเพิ่มเป็นเบิกได้ 22% โดยในเดือนมีนาคมเดือนเดียวเบิกจ่ายได้ 13% ที่สำคัญคือได้เปิดเผยข้อมูลว่าการลงนามในสัญญา (โครงการต่างๆ ของรัฐ) ในสิ้นเดือนมีนาคมมีมูลค่ารวมถึง 1.97 แสนล้านบาทหรือ 44% ของงบประมาณทั้งหมด ซึ่งสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนๆ อย่างมาก (โดยปีก่อนๆ ทำได้ไม่ถึง 20%) โดย ผอ.สำนักงบประมาณสรุปว่าปีนี้จะเป็นปีแรกที่เบิกจ่ายงบลงทุนได้ถึง 80% และสูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งเอาไว้ ซึ่งผมมีข้อสังเกตดังนี้


1. งบลงทุนทั้งหมดมีมูลค่าเกือบ 5 แสนล้านบาทและมีการตั้งงบเพิ่มคือโครงการน้ำประมาณ 3 หมื่นล้านบาทและสร้างถนนในชนบทประมาณ 4 หมื่นล้านบาท ซึ่งส่วนหลังนี้น่าจะเบิกจ่ายได้อย่างรวดเร็ว


2. แต่โครงการขนาดใหญ่โดยเฉพาะโครงการรถไฟเชื่อมกับลาวและจีน ตลอดจนโครงการรถไฟความเร็วสูงกับญี่ปุ่นนั้นคงจะต้องเป็นเรื่องของปีงบประมาณหน้าซึ่งรัฐบาลบอกว่าได้ตั้งงบลงทุนเอาไว้ถึง 5.4 แสนล้านบาท


3. อย่างไรก็ดี งบลงทุนปีละประมาณ 5 แสนล้านบาทนั้นคิดเป็นสัดส่วนเพียง 4% ของจีดีพี ดังนั้น แรงกระตุ้นจึงจะไม่สูงมากนักเพราะขนาดไม่ใหญ่ เช่น การส่งออกนั้นมีมูลค่าเดือนละกว่า 5 แสนล้านบาท เป็นต้น ดังนั้น จึงจะต้องคาดหวังว่าการลงทุนของภาครัฐนั้นจะต้องกระตุ้นให้เอกชนต้องลงทุนเพิ่มขึ้นเพื่อรองรับโครงการของรัฐจึงจะส่งผลให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจในวงกว้าง แต่ปัจจุบันการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ระดับค่อนข้างต่ำคือประมาณ 60% แปลว่าเอกชนมีกำลังการผลิตเหลือใช้จึงไม่จำเป็นต้องลงทุนเพิ่มมากนัก


4. การที่รัฐบาลย้ำให้เกิดความมั่นใจว่านโยบายเดินได้ตามเป้าหมายที่วางเอาไว้และจะเพิ่มงบลงทุนอีกในปีหน้า ตลอดจนการตั้งเป้าจะขาดดุลงบประมาณสูงถึง 390,000 ล้านบาทในปีหน้า (เมื่อเทียบกับเป้าขาดดุล 250,000 ล้านบาทในปีนี้ ซึ่งในที่สุดคงขาดดุลจริงเกือบ 300,000 ล้านบาท) แปลว่าความจำเป็นที่จะต้องลดดอกเบี้ยคงจะไม่เกิดขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเวลาผ่านไปจนธนาคารกลางสหรัฐเริ่มปรับดอกเบี้ยนโยบายขึ้น


5. ดังนั้น ข้อสรุปจึงเป็นไปได้ว่าคงจะมีการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณทำให้นโยบายการคลังมีบทบาทเพิ่มขึ้นในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ทำให้คณะกรรมการนโยบายการเงินไม่เห็นความจำเป็นที่จะลดดอกเบี้ยลงจากระดับปัจจุบัน เว้นแต่ตัวเลขเศรษฐกิจของไทยจะย่ำแย่ลงอย่างผิดสังเกต ดังนั้น นโยบายการเงินก็คงจะถูกกำหนดโดยข้อมูลย้อนหลังทางเศรษฐกิจ (data dependent) โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อมูลที่มาจากต่างประเทศในเชิงลบ เช่น การชะลอตัวอย่างผิดความคาดหมายที่ประเทศจีนหรือปัญหาประเทศกรีซที่ลุกลามผิดจากที่คาดการณ์เอาไว้ เป็นต้น


สำหรับการลงทุนภาคเอกชนนั้นคงจะเพิ่มได้ไม่มาก เพราะใช้กำลังการผลิตต่ำและความไม่มั่นใจว่ากำลังซื้อจะเพิ่มขึ้นมากในอนาคตไม่ว่าจะในประเทศหรือต่างประเทศ ซึ่งในส่วนหลังนี้ผมได้กล่าวถึงอย่างละเอียดแล้ว เว้นแต่ปัญหาเฉพาะเจาะจงของไทยที่อาจเกิดขึ้น เช่น ปัญหาการบินพลเรือน และมติภาคทัณฑ์หรือให้ใบเหลืองกับประเทศไทยโดยคณะกรรมาธิการสหภาพยุโรปว่ายังมีมาตรการไม่เพียงพอในการต่อต้าน ป้องกันและขจัดการทำการประมงที่ผิดกฎหมาย ซึ่งอาจเป็นประเด็นที่กระทบต่อเศรษฐกิจไทยได้ในครึ่งหลังของปีนี้


การบริโภคภาคเอกชนก็เป็นอีกส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจที่มีความสำคัญใกล้เคียงกับการส่งออก เพราะคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 55% ของจีดีพี แต่ก็เป็นภาคเศรษฐกิจที่มีความอ่อนแอเพราะหนี้สินภาคครัวเรือนได้ปรับขึ้นต่อไปอีกจาก 84.7% ของจีดีพีในไตรมาส 3 ปี 2014 มาเป็น 85.9% ของจีดีพีในไตรมาส 4 ปี 2014 ซึ่งแม้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทยจะบอกว่าการก่อหนี้เพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอตัวลงแล้วก็ตาม แต่ก็เป็นสภาวการณ์ที่ภาคธนาคารน่าจะชะลอการปล่อยกู้ลงไปอีกและประชาชนทั่วไปก็คงจะตั้งอยู่ในความระมัดระวัง ทำให้การบริโภคในครึ่งหลังของปีน่าจะเพิ่มขึ้นน้อยกว่าจีดีพี


ในขณะเดียวกันธนาคารแห่งประเทศไทยก็รายงานว่ายอดหนี้เสีย (เอ็นพีแอล) เกือบ 3 แสนล้านบาท แต่ก็ยังคิดเป็นสัดส่วนเพียง 2.29% ของสินเชื่อรวม โดยเพิ่มขึ้น 7.56% จากไตรมาสก่อนหน้าเมื่อหักการกันสำรองแล้วหนี้เสียมีเพียง 149,000 ล้านบาทหรือเพียง 1.15% ของสินเชื่อรวม กล่าวคือเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า 11,000 ล้านบาท ตรงนี้ผมตีความว่าสถาบันการเงินยังสามารถจัดการกับหนี้เสียได้เพราะยังมีสัดส่วนที่ต่ำ (หนี้เสียสูงถึง 10% จึงจะเป็นปัญหาเข้าขั้นวิกฤติ) แต่การเพิ่มขึ้น 7-8% ต่อไตรมาสจะทำให้ธนาคารยิ่งระมัดระวังการปล่อยกู้เพิ่มขึ้น ซึ่งน่าจะกระทบทั้งผู้บริโภคและเอสเอ็มอีครับ


ดังนั้น โดยรวมบริษัทหลักทรัพย์ภัทรจึงได้ปรับลดประมาณการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยลงจาก 3.7% เป็น 3.3% ในปีนี้และจาก 4.3% มาเป็น 3.7% ในปีหน้าครับ