สัญญาณบวกเศรษฐกิจไทย สู่แสงสว่างที่ปลายอุโมงค์

สัญญาณบวกเศรษฐกิจไทย สู่แสงสว่างที่ปลายอุโมงค์

ความคืบหน้าโครงการลงทุนเมกะโปรเจ็คของภาครัฐ นับเป็นสัญญาณบวกอย่างมาก สำหรับภาคธุรกิจและประชาชน

ในช่วงกำลังจับยามสามตาว่าแนวโน้มเศรษฐกิจไทย ในครึ่งปีหลังและต่อเนื่องปีหน้าจะเป็นไปในทิศทางไหน การประกาศกำหนดการและแผนก่อสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-หัวหิน กรุงเทพฯ-พัทยา-ระยอง โดยสองเส้นนี้ลงทุนรวมกว่า 1.9 แสนล้านบาท ปลุกความเชื่อมั่นขึ้นมาอีกระดับหนึ่ง

ทั้งนี้ การลงทุนของโครงการรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพฯ-หัวหิน คาดการณ์เบื้องต้นใช้งบลงทุนประมาณ 9 หมื่นล้านบาท จะสามารถดำเนินจัดทำทีโออาร์หรือเงื่อนไขการประกวดราคา แล้วเปิดให้ประมูลประกวดราคาได้ประมาณต้นเดือนสิงหาคมนี้ ส่วนกรุงเทพฯ-พัทยา-ระยอง คาดใช้งบประมาณ 1 แสนล้านบาท สามารถจัดทำทีโออาร์ หรือเงื่อนไขการประกวดราคาแล้วเปิดให้ประมูลประกวดราคาได้ประมาณช่วงปลายเดือนสิงหาคม หรือต้นเดือนกันยายนนี้เช่นกัน คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ต้นปี 2559 ใช้เวลาในการก่อสร้าง 2 ปีครึ่งถึง 3 ปี เรียกว่าไม่ไกลเกินเอื้อมเลยทีเดียว

ประการสำคัญ การแสดงเจตจำนงสนใจลงทุนรถไฟความเร็วสูงของทุนไทยยักษ์ใหญ่ 3 ราย โดยเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) สนใจลงทุนรถไฟความเร็วสูง สายกรุงเทพฯ-พัทยา-ระยอง บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สนใจลงทุนทั้ง 2 เส้นทาง กรุงเทพฯ - พัทยา-ระยอง กรุงเทพฯ- หัวหิน ส่วนกลุ่มไทยเบฟ ของเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี สนใจเส้นกรุงเทพฯ- หัวหิน ไม่นับรวมต่างชาติ ที่มีประเทศเยอรมนี จีน ญี่ปุ่น และฮ่องกง โดยรัฐบาลจะรับพิจารณาข้อเสนอแนวทางรูปแบบการลงทุนบริษัทเอกชนไทยก่อนบริษัทต่างประเทศ

ความร่วมมือและขับเคลื่อนประเทศไทยของภาครัฐและเอกชน ต้องมีการบูรณาการมากขึ้นในทุกภาคส่วน ทั้งเชิงยุทธศาสตร์และปฎิบัติการเพื่อพลิกฟื้นเศรษฐกิจไทย ที่ถูกจับตามองว่าอยู่ในภาวะถดถอยอย่างหนัก มีอัตราการขยายตัวต่ำสุดในกลุ่มประเทศอาเซียน ทั้งที่ศักยภาพประเทศไทยเหนือกว่ารอบด้าน ทำให้เสียโอกาสทางการค้า การลงทุน และเศรษฐกิจ

  นอกเหนือจากการเดินหน้าลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูงแล้ว ภายใต้ยุทธศาสตร์ของกระทรวงคมนาคมมุ่งพัฒนาระบบขน ส่งเชื่อมโยงเครือข่ายทั่วสารทิศทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ จะยิ่งกระตุ้นให้ภาคเอกชนมีการลงทุนเพิ่มขึ้น ช่วยสร้างงาน และเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจมหาศาล

อีกสัญญาณบวกที่ส่งผลดีโดยตรงกับกลุ่มผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อมฟันเฟืองสำคัญของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย โดยธนาคารกสิกรไทย ประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลง 0.13-0.25% มีผลตั้งแต่วันที่ 21พ.ค. ขณะที่เงินฝากไม่มีการเปลี่ยนแปลง โดยลดดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี (เอ็มแอลอาร์) ลง 0.13% จาก 6.63% เป็น 6.50% ดอกเบี้ยเงินกู้ประเภทเบิกเกินบัญชี (เอ็มโออาร์) ลดลง 0.13% จาก 7.50% เหลือ 7.37% ส่วนดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายย่อย (เอ็มอาร์อาร์) ปรับลง 0.25% จาก 8.12% เหลือ 7.87%

โดยเชื่อมั่นว่า การลดดอกเบี้ยเอ็มอาร์อาร์มากกว่าดอกเบี้ยเงินกู้ประเภทอื่น เนื่องจากเป็นอัตราดอกเบี้ยที่มีผลกับลูกค้ารายย่อย และธุรกิจเอสเอ็มอีรายเล็กๆ ซึ่งจะได้ประโยชน์จากภาระค่าใช้จ่ายที่น้อยลง นับเป็นการผ่อนคลายและเพิ่มความสามารถหรือสภาพคล่องทางการเงินให้ผู้ประกอบการรายย่อยได้ต่อลมหายใจ คือสิ่งสำคัญ

มีอีกหลายฟันเฟืองเศรษฐกิจที่จำเป็นต้องขับเคลื่อนไปในทิศทางเดียวกัน ขณะที่แบงก์เอกชนลุกขึ้นนำร่อง แบงก์รัฐในฐานะผู้นำในการช่วยเหลือประชาชน และมีเครือข่ายครอบคลุมทั้งแบงก์สำหรับเอสเอ็มอี แบงก์สำหรับสินเชื่อที่อยู่อาศัย แบงก์สำหรับเกษตรกร ซึ่งเชื่อว่า “ลูกค้า” ต่างต้องการนโยบายช่วยเหลือผ่อนปรนที่มีประสิทธิภาพ เกิดขึ้นจริง ทำได้จริง เป็นเส้นทางสู่แสงสว่างที่ปลายอุโมงค์อย่างแท้จริง