เส้นทาง “นักรบโรฮิงญา”

เส้นทาง “นักรบโรฮิงญา”

โลกมีสองด้านเสมอ เรื่องเล่าของ “โรฮิงญา” มิได้มีแค่ “โศกนาฎกรรมของมนุษย์เรือ” ที่ลอยลำอยู่กลางทะเลอันดามันเท่านั้น

  “ที่ใดมีการกดขี่ ที่นั่นมีการต่อสู้ สัจธรรมข้อนี้ยังคงอยู่คู่โลกใบนี้

ชาวโรงฮิงญาต่อสู้เพื่อชีวิตที่ดีกว่า และการได้มาซึ่งความเป็น “เอกราช” แห่งชาติพันธุ์มายาวนาน ตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 จวบจนถึงวันนี้

บนเส้นทางค้ามนุษย์สายทะเลอันดามัน จากบังคลาเทศผ่านไทย สู่ปลายทางมาเลเซีย และอินโดนีเซียนั้น อีกด้านหนึ่งมันก็คือ เส้นทางค้าอาวุธ

อาวุธจากกลุ่มประเทศอินโดจีนเดินทางจากไทยผ่านทะเลอันดามัน โดยทางเรือเข้าไปยังบังกลาเทศ ก่อนจะกระจายเข้าไปอยู่ในมือของ “องค์กรปฏิวัติ” ทางชายแดนฝั่งตะวันตกของพม่า, เขตเทือกเขาแห่งจิตตะกอง บังคลาเทศ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย

  อาวุธเถื่อนจะขึ้นฝั่งที่ตำบลค็อกซ์บาซาร์ (Cox's Bazar) เมืองจิตตะกอง ซึ่งเป็นจุดเดียวกับการขนชาวโรฮิงญาและชาวบังคลาเทศลงเรือ มาแสวงโอกาสใหม่ๆ ในมาเลย์และอินโดนีเซีย

พื้นที่หุบเขาในเขตจิตตะกอง รอยต่อพม่า บังคลาเทศ และอินเดีย เป็นฐานที่มั่นของกลุ่มสามัคคีโรฮิงญา (Rohingya Solidarity Organisation), แนวร่วมอิสลามอาระกัน (Arakan Rohingya Islamic Front) และพรรคแห่งชาติอาระกัน (National United Party of Arakan)

กองกำลังเหล่านี้ ได้รับความช่วยเหลือจากกลุ่มโรฮิงญาโพ้นทะเล และขบวนการต่อสู้เพื่อรัฐอิสลามในอัฟกานิสถาน ปากีสถาน และตะวันออกกลาง

ชาวโรฮิงญาผู้ใฝ่ฝันจะเห็น รัฐเอกราช เหนือแผ่นอาระกันหรือยะไข่ ได้พยายามต่อสู้กับรัฐบาลบังคลาเทศ และรัฐบาลเมียนมานานกว่าครึ่งศตวรรษ แต่ก็ไม่สำเร็จ

เนื่องจากชาวโรฮิงญาส่วนใหญ่ยังต้องการไปแสวงหาชีวิตที่ดีกว่าในแผ่นดินใหม่ นักรบโรฮิงญาจึงเป็นเพียงคนส่วนน้อยที่ยึดมั่นในอุดมการณ์ต่อสู้กู้ชาติ

ในประวัติศาสตร์บาดแผลของชาวโรฮิงญากับชาวพม่าสมัยอาณานิคมอังกฤษ ไม่เคยลบเลือน แถมยังมาปะทุเป็นเหตุจลาจลเมื่อ 3 ปีก่อน

ย้อนไปในอดีต “นายพลเนวิน” ได้เปลี่ยนชื่อจาก “รัฐอาระกัน” เป็น “รัฐยะไข่” ตามมาด้วยการประกาศใช้กฎหมายสัญชาติฉบับใหม่ กำหนดสิทธิของ 135 กลุ่มชาติพันธุ์ แต่ไม่มีกลุ่มชาติพันธุ์โรฮิงญา

ชาวโรฮิงญาที่เป็นเผ่าพันธุ์นักรบโดยสายเลือด จึงก่อเกิดกลุ่มมูจาฮีดีนมาตั้งแต่ช่วงสงครามโลก และถูกปราบปรามจนต้องหนีตายไปอยู่ในบังคลาเทศ

ยุคสงครามเย็น สงครามอุดมการณ์ ชาวโรฮิงญาบางกลุ่ม ตัดสินใจเข้าร่วมการต่อสู้ด้วยอาวุธกับ “พรรคคอมมิวนิสต์พม่า-ธงแดง” (Communist Party of Burma- Red Flag) นำโดย “สหายทะขิ่นโซ”

ฐานที่มั่นของพรรคคอมมิวนิสต์พม่า-ธงแดงนั้น อยู่ในแถบเทือกเขาแห่งอาระกัน และพม่าตอนบน

ปี 2505 เกิดความขัดแย้งทางชาติพันธุ์ระหว่างพุทธยะไข่กับมุสลิมในพรรคธงแดง “สหายจ่อ ซานรี” จึงแยกตัวออกมาตั้ง พรรคคอมมิวนิสต์แห่งอาระกัน” (Communist Party of Arakan)

สหายจ่อ ซาน รี มีจุดมุ่งหมายเพื่อสถาปนา สาธารณรัฐสังคมนิยมอาระกัน แต่สุดท้ายก็ต้องยุติบทบาทการต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธในปี 2523 เมื่อสหายจ่อ ซานรี ได้มอบตัวกับทางการพม่า

สหายมุสลิมโรฮิงญาที่กระจัดกระจายอยู่ในเทือกเขาอาระกัน ได้ถูกทหารพม่าโจมตีต่อเนื่อง จนต้องถอนกำลังข้ามพรมแดนเข้าไปอยู่บังคลาเทศ โดยมีการจัดตั้งกองกำลังขึ้นมาใหม่ใน เทือกเขาแห่งจิตตะกอง” (Chittagong Hill Tracts)

เทือกเขาแห่งจิตตะกอง เชื่อมโยงพื้นที่สามประเทศคือเมียนมาร์ บังคลาเทศ และอินเดีย เคยถูกเรียกขานเทือกเขาแห่งนี้ว่าเป็น “สวรรค์ของนักรบปฏิวัติ” เนื่องจากเป็นศูนย์รวมฝ่ายต่อต้านรัฐบาลทั้งสามประเทศ

ชาวโรฮิงญาโพ้นทะเลจำนวนหนึ่ง ยังเป็นแนวหลังที่คอยสนับสนุนเงินทองแก่กองกำลังปลดปล่อยโรฮิงญาในเทือกเขาแห่งจิตตะกอง

  นี่คือเหรียญอีกด้านของชาวโรฮิงญา ชาติพันธุ์ที่ต้องดิ้นรนสู้เพื่อเอาชีวิตรอด พวกเขามิได้หนีไปตายดาบหน้าเป็น มนุษย์เรือเท่านั้น หากแต่ยังมีคนบางกลุ่มที่พร้อมเป็น นักรบต่อสู้กู้ชาติแห่งอาระกัน