ร่างกาย ความรู้สึก และสุขภาพ (จบ)

ร่างกาย ความรู้สึก และสุขภาพ (จบ)

กระบวนการที่ผู้คนรู้สึกว่าตนเองกำลังเผชิญอยู่กับ “ความเสี่ยง” ต่างๆ นานา พร้อมกับการถูกสร้างให้ “เสรี” ในการตัดสินใจเรื่องสุขภาพมากขึ้น

จากความรู้ของเวชศาสตร์ป้องกัน ในด้านหนึ่งทำให้เกิดการขยายตัวของการสรรหาสิ่งต่างๆ มาบริโภคบนความเชื่อว่ากินแล้วดีต่อสุขภาพซึ่งทำให้ธุรกิจอาหารเสริม พืชผักผลไม้ที่ปิดป้ายสมุนไพร เติบโตอย่างรวดเร็ว แต่ในอีกด้านหนึ่ง กระบวนการแสวงทางเลือกที่ดีกว่าสำหรับการป้องกัน “ความเสี่ยง” ในช่วงต่อมาได้ขยายตัวออกมาสู่การออกกำลังมากขึ้น


การปลดปล่อยการจัดการสุขภาพตนเองจากกรอบของแพทยศาสตร์ปรกติมาสู่การเพิ่มพูนศักยภาพดูแลตนเองนี้สำคัญมาก เพราะเป็นพื้นฐานในทำให้คนรู้สึกว่าสามารถป้องกัน “ความเสี่ยง” ได้เพิ่มขึ้นด้วยตนเองแม้ว่าในช่วงแรงกระแสของการคิดอย่างไร้ฐานในการบริโภคสรรพสิ่งต่างๆ จะเป็นสาระสำคัญ แต่ในช่วงต่อมาการเปลี่ยนแปลงความหมายและความสำคัญของ “ร่างกาย” ก็ได้ทำให้เกิดการทำให้ร่างกายแข็งแรงเข้ามาแทนที่การบริโภคสรรพสิ่งเพียงอย่างเดียว


การเปลี่ยนแปลงความหมายและความสำคัญของร่างกายเกิดขึ้นเข้มข้นต้นทศวรรษ 2540 เพราะการขยายตัวของอุตสาหกรรมภาคบริการระดับต่างๆ ได้ทำให้ผู้คนเล็งเห็นว่าร่างกายเป็น “ทุน” ที่สำคัญอย่างหนึ่ง ในชั้นต้นความพอดีของสัดส่วนร่างกายทำให้เกิดโอกาสในการทำมาหากิน/ธุรกิจต่างๆ มากขึ้น ในชั้นต่อมา ความพอเหมาะ/สมส่วนก็กลายเป็นการวัดระดับของ “ชนชั้น” ว่าเป็นผู้มีการลงทุนในร่างกายได้มากหรือไม่ ชั้นที่ลึกที่สุดแล้ว ความสำนึกเชิงปัจเจกชนที่เข้มข้นมากขึ้นทำให้ผู้คนรู้สึกถึงการเป็น “เจ้าของ” ร่างกายของตนเพียงผู้เดียว การให้ความสำคัญต่อ “ร่าง-กาย” จึงเชื่อมต่อเข้ากับการดูแลสุขภาพเพื่อให้ “ร่าง-กาย” พ้นจาก “ความเสี่ยง” และอยู่กับเจ้าของให้นานที่สุดเท่าที่จะนานได้


การขยายตัวของการออกกำลังจึงเพิ่มมากขึ้น สถาน “ฟิตเนส” ต่างๆ ในเขตเมืองขยายตัวรองรับชนชั้นกลางมีเงินที่พร้อมจะเป็นสมาชิกรายละหลายหมื่นบาทต่อปี ในเขตชานเมืองหรือชนบทหน่อยก็จะมีการรวมกลุ่มกันเต้นแอโรบิคกัน พร้อมกันนั้น ความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจที่ก่อให้เกิด “ชนชั้นกลาง” เพิ่มมากขึ้นและเริ่มกลายเป็นชนชั้นกลางหลายระดับในทุกพื้นที่ทั้งเมืองและชนบท ก็ยิ่งทำให้การออกกำลังขยายตัวตามไปด้วย


กล่าวได้ว่าการขยายตัวของการออกกำลังที่รองรับความเปลี่ยนแปลงของการให้ความหมายและความสำคัญใหม่แก่ร่างกายเช่นนี้ได้ทวีความซับซ้อนมากขึ้น เพราะลำดับชั้นทางสังคมได้ทำให้ต้องสร้างกิจกรรมการออกกำลังกายที่แตกต่างกันออกไป เมื่อเครื่องมือการออกกำลังเช่นเดียวกับในสถานฟิตเนสนั้น ปรากฏอยู่ทั่วไปตามสวนสาธารณะหรือตามพื้นที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กลุ่มชนชั้นกลางที่มีเงินในเขตเมืองหรือกลุ่มชนชั้นกลางปัญญาชนก็ต้องแสวงหากิจกรรมการออกกำลังกายรูปแบบใหม่และหันมาสู่มีการสร้างกิจกรรมที่มี “คลาส” มากกว่า เช่น โยคะ เป็นต้น (ธุรกิจการออกกำลังกายจึงเป็นธุรกิจที่มีอนาคตแต่ก็ต้องตระหนักว่าจะต้องปรับเปลี่ยนให้ไว้ต่อความรู้สึกผู้คนนะครับ)


ตัวอย่างของการออกกำลังด้วยการขี่จักรยานในช่วงหลังมานี้จึงผสมผสานไปด้วยกับการแสดงให้เห็นถึงความสามารถในการมีจักรยานคุณภาพสูง ราคาแพง และชุดแต่งตัวที่เหมาะสมกับร่างกายและราคา จักรยานแม่บ้านหรือที่ใช้ในชีวิตประจำวันแบบธรรมดาจึงถูกเบียดขับออกไปไม่สามารถที่จะนำออกมาขับขี่ร่วมไปได้ ทั้งๆ ที่จะได้กำลังมากกว่า ค่ายมวยไทยก็มองเห็นประเด็นในเรื่องนี้ หลายแห่งจึงพยายามขยับตนเองออกมาสู่สถานฝึกมวยที่ดูดีเฉกเช่นเดียวกับสถานฝึกเทควนโด เป็นต้น


พร้อมกันไปการขยายตัวของกิจกรรมการออกกำลังกายที่มีความหลากหลายมากขึ้น เวชศาสตร์ป้องกันก็ได้ทำให้การอ้วนกลายเป็น “โรคอ้วน” ขึ้นมา ซึ่งยิ่งทำให้ความหมายแก่ร่างกายที่เน้นความพอดี/สมส่วนทวีความสำคัญมากขึ้นตามไปด้วย


การสร้างชุดความรู้แพทยศาสตร์ป้องกันเมื่อประกอบเข้ากับความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจที่ปัจเจกชนสัมพันธ์กับระบบเศรษฐกิจด้วยปัจเจกลักษณะ จึงทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในการให้ความหมายและความสำคัญต่อร่างกายมากขึ้นกว่าเดิมมาก และกระบวนการทางสังคมที่เกิดขึ้นนี้ได้ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงความรู้สึกต่อโลกภายนอกร่างกาย


การเกิดความหลากหลายของกิจกรรมการออกกำลังกายบนพื้นฐานของความหมายและความสำคัญของร่างกายกำลังทำให้สภาวะของสังคมแยกย่อยปรากฏชัดเจนมากขึ้น โลกภายนอกถูกตีความและให้ความหมายแก่คนแต่ละกลุ่มไม่เหมือนกัน โลกที่หมุนอยู่ในวิถีความรู้สึกของนักปั่นจักรยานย่อมแตกต่างไปจากผู้เล่นโยคะในสถานที่สงบเงียบ ความสัมพันธ์ทางสังคมทั้งหมดถูกจัดเรียงให้สื่อกันได้เฉพาะกลุ่มมากขึ้น


การออกกำลังกายก่อให้เกิดสภาวะ “เสพติด” ลักษณะหนึ่ง การออกกำลังกายกลุ่มก็ก่อให้เกิดสภาวะ “ติดกลุ่ม” แบบหนึ่ง ความสามารถเอาชนะ “ร่างกาย” ตนเองได้ในกิจกรรมร่วมหมู่ยิ่งทำให้เกิดสภาวะของการบรรลุจุดยอดของสำนึกเชิงปัจเจกชนมากขึ้น “สุขภาพ” ที่ดีขึ้นย่อมมีความหมายทางสังคมที่แตกต่างไปจากสุขภาพที่ดีอย่างที่เราเข้าใจกัน ซึ่งน่าสนใจอย่างมากว่ากระบวนการการขยายตัวของกลุ่มลักษณะนี้จะนำไปสู่อะไรในอนาคต


สังคมไทยเปลี่ยนแปลงไปในทุกมิติ ไม่ใช่เพียงแค่ทางด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม อย่างที่เข้าใจกัน หากแต่เริ่มเกิดปรากฏการณ์ใหม่ๆ ที่สะท้อนความเปลี่ยนแปลงที่ลึกลงไปในระบบของอารมณ์ ความรู้สึก นึกคิด เราจำเป็นที่จะต้องเร่งศึกษาสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์กันให้มากขึ้นเพื่อจะรู้เท่าทันความเปลี่ยนแปลงที่อย่างไรก็จะมาถึงเราแน่ๆ ครับ