วิกฤติโรฮิงญาวุ่นวายคือผล การประชุมกรุงเทพฯจึงต้องแก้ที่เหตุ

วิกฤติโรฮิงญาวุ่นวายคือผล การประชุมกรุงเทพฯจึงต้องแก้ที่เหตุ

คุณสุรินทร์ พิศสุวรรณ อดีตเลขาธิการอาเซียนบอกว่า รัฐบาลไทยควรจะแปร “วิกฤติโรฮิงญา” เป็น “โอกาสของประเทศไทย”

แปลว่ารัฐบาลไทยต้องเอาจริงกับคนที่โยงใยกับการค้ามนุษย์ทุกรูปแบบ ไม่ใช่แค่ย้ายตำรวจจากจุดที่มีเรื่องไปอีกจุดหนึ่ง หรือปล่อยให้ระบบราชการอันเฉื่อยแฉะ ทำให้เกิดภาพว่ารัฐบาลไม่เอาจริง กับการปราบปรามกลุ่มคนทั้งในเครื่องแบบ และพ่อค้าที่หากินกับความทุกข์ทรมานของผู้อื่น จนคนไทยทั้งประเทศต้องพลอยรับกรรมไปด้วย

การตั้ง War Room เพื่อการประสานงานของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเกาะติดข่าวเรื่องนี้ตลอดเวลา และสามารถตัดสินใจดำเนินการอย่างทันท่วงทีเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องทำอย่างเร่งด่วน

กระทรวงต่างประเทศหน่วยเดียวคงไม่เพียงพอในการสานสัมพันธ์ และนำเสนอข้อมูลข่าวสารกับประชาคมโลกและองค์กรระหว่างประเทศ จะต้องมีการตั้ง ทูตพิเศษ ดูแลด้านการสื่อสารกับต่างประเทศว่าด้วยประเด็นผู้อพยพ, ผู้ลี้ภัยทั้งด้านสิทธิมนุษยชน, ความร่วมมือกับทั่วโลกและการประเมินด้านความมั่นคงอย่างรอบด้าน

วิกฤติครั้งนี้อาจมิใช่เพียงแค่เรื่องที่สมาชิกอาเซียนทั้ง 10 จะต้องเข้ามาร่วมกันหาทางออก หากแต่ได้กลายเป็นเรื่องระหว่างประเทศที่องค์กรสหประชาชาติ ตลอดไปถึงหน่วยงานสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน, ผู้ลี้ภัยและความช่วยเหลือระหว่างประเทศแล้ว

เมื่อรัฐมนตรีต่างประเทศมาเลเซีย อินโดฯ และไทย พบกันที่กัวลาลัมเปอร์เมื่อวันพุธที่ผ่านมา ก็มีสัญลักษณ์ที่ผ่อนคลายบ้าง เพราะสองประเทศแรกบอกว่าพร้อมจะรับคนที่ลอยอยู่ในเรือจำนวน 7,000 คน โดยมีเงื่อนไขว่าจะให้ที่พักพิงและอาหารการกิน 1 ปี เพื่อหาทางให้อพยพไปประเทศที่สาม ที่องค์กรระหว่างประเทศจะช่วยจัดการให้เกิดขึ้น

นายกฯประยุทธ์ จันทร์โอชา บอกว่า ไทยยังไม่ได้ตัดสินใจเรื่องนี้เพราะต้องการจะรอให้มีการระดมสมอง 17 ประเทศ และองค์กรระหว่างประเทศในวันที่ 29 เดือนนี้ที่กรุงเทพฯเสียก่อน

เมื่อพม่าตอบรับว่าจะมาร่วมการประชุมครั้งนี้ด้วย ความตึงเครียดในความสัมพันธ์ก็ลดน้อยลง แม้ว่าทางการพม่าจะบอกว่าต้องไม่พูดในมิติการเมือง แต่จะคุยกันเฉพาะด้านมนุษยธรรมเท่านั้น ก็ไม่น่าจะเป็นปัญหาหากทุกฝ่ายเห็นพ้องต้องกันก่อนว่านี่คือปัญหาร่วมกัน ไม่ควรจะโยนไปให้ประเทศใดประเทศหนึ่ง เพราะหากทำเช่นนั้นก็ยิ่งจะทำให้ปัญหานี้สลับซับซ้อน ยืดเยื้อ และก่อให้เกิดความขัดแย้งหนักหน่วงขึ้นไปอีก

หากเอาข้อเท็จจริงมาถกแถลงกันให้รอบด้าน ไม่เอาเรื่องการเมืองหรืออารมณ์มาชี้นิ้วกล่าวหากันก็น่าที่จะมีทางออก ประเทศใหญ่ ๆ รวย ๆ ที่เรียกร้องให้ประเทศในแถบนี้ยอมรับชาวโรฮิงญาขึ้นฝั่ง ก็จะต้องมีคำตอบสำหรับประชาชนเจ้าของประเทศว่า ภาระ ทั้งหมดนี้จะมีการแบ่งปันกันอย่างเป็นธรรมกันอย่างไรหรือไม่

อีกทั้งจะต้องมีการเอาข้อมูลจริงมาวิเคราะห์กันเพื่อขจัดข้อสงสัย และข่าวลือว่าคนที่ลอยอยู่ในเรือเป็นจำนวนหลายพันขณะนี้ หรือที่ขึ้นฝั่งไปแล้วบางส่วนนั้นเป็นชาวโรฮิงญาเท่าไหร่ เป็นชาวบังกลาเทศเท่าไหร่ และจะแยกแยะได้อย่างไรว่าใครหนีการข่มขู่รังแก ใครเป็น ผู้อพยพทางเศรษฐกิจ เพื่อจะหาชีวิตที่ดีกว่าเดิม และใครเป็นผู้ลี้ภัยที่แท้จริง อีกทั้งกลุ่มคนที่ ซื้อขายมนุษย์ ที่เป็นเครือข่ายนั้นมีกี่กลุ่ม มีเจ้าหน้าที่บ้านเมืองเกี่ยวข้องกี่คน ใครบ้าง เจ้าของประเทศจะจัดการอย่างไร และจะมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารกันอย่างโปร่งใสชัดเจนอย่างไรบ้าง

เพราะส่วนที่เกี่ยวกับการ ค้ามนุษย์ ในกรณีนี้ต้องถือเป็นอาชญากรรมข้ามชาติที่ทุกประเทศไม่ว่าจะเป็นต้นทาง กลางทาง หรือปลายทาง จะต้องมีความรับผิดชอบร่วมกันอย่างต่อเนื่องและจริงจัง เพราะท้ายที่สุดไม่มีใครจะ เอาตัวรอด แต่เพียงผู้เดียวได้

ท้ายสุดต้องแก้ที่ต้นเหตุ และป้องกันการเหตุที่ทำให้เกิดผล ที่ทำให้เดือดร้อนกันไปทั่วอย่างเห็นอยู่ปัจจุบัน