ข้อคิดจาก Austria Hungary Croatia (2)

ข้อคิดจาก Austria Hungary Croatia (2)

โครเอเชียเคยเป็นราชอาณาจักรที่เจริญสูงสุดในศตวรรษที่ 11 หลังจากนั้นอยู่ภายใต้กษัตริย์ของฮังการีบ้าง ของตนเองบ้าง

ส่วนของ Dalmatia (ตั้งแต่เมือง Zadar ลงไป) อยู่ภายใต้เวนิสระหว่างศตวรรษที่ 15-18 แต่หลังจากที่ออตโตมันถูกขับไล่ออกไปในศตวรรษที่ 18 โดยเด็ดขาด ออสเตรียก็มีอำนาจเหนือโครเอเชียทั้งหมด โดยที่ส่วน Dalrnatia ขึ้นตรงต่อออสเตรีย และส่วนของโครเอเชียที่เป็น Pannonia อยู่ภายใต้ฮังการีตามแผนที่รูปที่ 11 เมื่อฮังการีทำความตกลงที่เรียกว่า Croatian-Hungary Settlement กับโครเอเชียในปี 1867 โครเอเชียก็ได้อิสรภาพในการปกครองตนเองด้วย


ส่วนการชิงความเป็นผู้นำในกลุ่ม German Federation ตั้งแต่การจัดตั้งกลุ่มในปี 1815 ระหว่างปรัสเซียกับออสเตรีย ก็ยังคงดำเนินไปอย่างไม่ลดราวาศอก ในที่สุดปรัสเซียลงนามในสัญญาพันธมิตรกับราชอาณาจักรอิตาลีและออสเตรียกับฝรั่งเศส สงครามจึงไม่อาจหลีกเลี่ยงได้หรือที่เรียกว่า Austro-Prussian War ในปี 1866 ออสเตรียเป็นฝ่ายพ่ายแพ้และเสียราชอาณาจักรอิตาลีไปทั้งหมด ประวัติศาสตร์อาจจะไม่ได้กล่าวไว้ชัดเจนนัก แต่เหตุการณ์แวดล้อมชี้ให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่า ออสเตรียไม่สามารถหลีกเลี่ยงที่จะประนีประนอมกับฮังการีได้ มิฉะนั้นจะเสียฮังการีและลามไปถึงโครเอเชียด้วย การที่ฮังการีสามารถสร้างอาคารรัฐสภาใหญ่ที่สุดในโลกได้ก็คงจะหนีไม่พ้นเหตุผลเดียวกัน


หลังจาก Austro-Prussian War ปรัสเซียยังคงพยายามขยายอิทธิพลอย่างต่อเนื่องโดยการผนวกดินแดนต่างๆ และชักชวนรัฐเยอรมันทางตอนใต้อีก 4 รัฐที่ยังคงอยู่กับออสเตรียให้เข้ามาอยู่ภายใน North German Confederation วิธีการที่ใช้ที่มาจากความคิดของ Otto von Bismarck นายกรัฐมนตรีในสมัยนั้น ก็คือการหาเรื่องเพื่อทำสงครามกับฝรั่งเศสที่พยายามลดภัยคุกคามจากเยอรมันเพื่อทำการปลุกระดมความรักชาติให้รัฐเยอรมันต่างๆ มาอยู่รวมกันทั้งหมด ในที่สุด Franco-Prussian War เกิดขึ้นในระหว่าง 1870-71 และจบลงด้วยความพ่ายแพ้อย่างยับเยินของฝรั่งเศส โดยพระเจ้านโปเลียนที่ 3 ของฝรั่งเศสถูกจับได้ การรวมกลุ่มรัฐเยอรมันต่างๆ ตาม Congress of Vienna 1815 จึงจบลงโดยสิ้นเชิง กษัตริย์แห่งปรัสเซียสถาปนา German Empire ที่พระราชวัง Versailles


การแผ่ขยายอำนาจที่มากเกินไปในสายตาของประเทศอื่นๆ ในยุโรป ทำให้เกิดความหวั่นเกรงการสูญเสียความสมดุลทางทหารในยุโรปและเป็นที่มาของการรวมตัวของพันธมิตรในสงครามโลกครั้งที่ 1 โดยเฉพาะอังกฤษ


ด้วยเหตุที่โครเอเชียขึ้นอยู่กับฮังการี พื้นที่โครเอเชียส่วนที่อยู่ใกล้กับฮังการีจึงได้รับอิทธิพลทางวัฒนธรรมจากฮังการี ดังตัวอย่างเช่น กระเบื้องหลังคาหลากสีสดใสในฮังการี (รูปที่ 12) เทียบกับโบสถ์เซนต์มาร์คในซาเกรบ (รูปที่ 2) ส่วนที่เรียกว่า Dalmatia ของโครเอเชียได้รับอิทธิพลจากโรมันและเวนิสเป็นเวลาต่อเนื่องที่นานกว่า จึงมีศิลปวัฒนธรรมที่ค่อนไปทางโรมาเนสต์ (รูปที่ 13 และ 14) ที่แสดงออกใน Zadar Cathedral


ข้อคิด


ทั้ง German Empire และ Austrian Empire ต่างเชื่อมั่นในอำนาจของตนเองเกินไปจนนำไปสู่หายนะจากสงคราม แม้ว่ายุโรปจะมีมหาอำนาจเกิดขึ้นหลายๆ ประเทศในแต่ละยุค แต่ก็ไม่มีมหาอำนาจใดที่มีอิทธิพลมากเพียงพอที่จะครอบงำเหนือประเทศหรือรัฐอื่นๆ ได้จนกลายเป็นอาณาจักรที่ใหญ่โตและคงอยู่ได้เป็นระยะเวลายาวนาน ประเทศต่างๆ ในยุโรปต่างสำคัญตัวว่าเป็นชนชาติยิ่งใหญ่และจะต้องมีอิสรภาพของตนเอง ยุโรปจึงกลายเป็นเบี้ยหัวแตกที่ไม่อาจมีอำนาจเพียงพอที่จะต่อรองกับมหาอำนาจอื่นได้ การรวมตัวของกลุ่มประเทศยูโรก็มีอายุเพียง 20 กว่าปีและยังบอกไม่ได้ว่าจะคงอยู่ต่อไปได้นานเท่าใด ในขณะที่ การทะเลาะกันระหว่างประเทศภายในกลุ่มก็ยังมีให้เห็นได้ตลอดเวลา


ในสมัยโบราณ อาณาบริเวณที่เป็นประเทศจีนปัจจุบันก็มีชนชาติเล็กๆ น้อยต่างเผ่าพันธุ์เช่นเดียวกัน แต่อย่างน้อยที่สุดอิทธิพลของชนชาติฮั่นมีลักษณะเด่นที่สามารถชี้ชวนให้ชนชาติอื่นหันมาร่วมใช้วัฒนธรรมเดียวกัน จนกระทั่งความแตกต่างระหว่างชนชาติในยุคหลังเป็นไปในเชิงสร้างสรรค์มากกว่าเชิงแตกแยก แต่สิ่งสำคัญที่ประเทศจีนมีอยู่ในขณะนี้คือ การศึกษาภายใต้ภาษาเดียวกันและภายใต้เนื้อหาเดียวกัน อันเป็นที่จะทำให้ชนชาติต่างๆ ไปในทิศทางเดียวกัน