สองขั้วความคิดในจีนยุคใหม่

สองขั้วความคิดในจีนยุคใหม่

กลุ่มนักศึกษานิรนามของมหาวิทยาลัยปักกิ่ง ได้จัดทำแบบสำรวจความคิดเห็นออนไลน์เกี่ยวกับทัศนคติทางการเมือง เศรษฐกิจ

และสังคม (http://zuobiao.me/) มีคำถามทั้งหมด 50 ข้อ ผู้ตอบแบบสอบถามจะได้รับผลสรุปขั้วความคิดของตน (เป็นฝ่ายซ้าย ฝ่ายขวา หรืออยู่กลางๆ) และมีสรุปสถิติความคิดของผู้ตอบแบบสอบถามที่ผ่านมาทั้งหมดให้เปรียบเทียบ ปรากฏว่ามีชาวจีนถึงกว่า 171,000 คน ได้เข้ามาทำแบบสำรวจความคิดเห็นชุดนี้นับได้ว่าเป็นการสำรวจทัศนคติด้านสังคมของคนจีนยุคใหม่จำนวนมากที่มีผลเปิดเผยเป็นครั้งแรก


ตัวอย่างคำถามเช่น “คุณเห็นว่าประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนเป็นคุณค่าสากลใช่หรือไม่” “สังคมจีนสมัยใหม่ต้องการคำสอนของขงจื๊อใช่หรือไม่” “คุณมีปัญหาไหมถ้าลูกคุณเป็นพวกรักร่วมเพศ” ฯลฯ คำถามถูกออกแบบเพื่อแบ่งผู้ตอบเป็น “ขั้วฝ่ายซ้าย” หรือ “ขั้วฝ่ายขวา”


ในด้านการเมืองฝ่ายซ้ายในจีนสนับสนุนการนำของพรรคคอมมิวนิสต์และแนวคิดความมั่นคงของรัฐเหนือสิทธิเสรีภาพของบุคคลส่วนฝ่ายขวาในจีนสนับสนุนประชาธิปไตยแบบเลือกตั้งและสิทธิมนุษยชน ในด้านเศรษฐกิจฝ่ายซ้ายสนับสนุนการแทรกแซงและจัดการเศรษฐกิจโดยรัฐบาลและรัฐวิสาหกิจส่วนฝ่ายขวาสนับสนุนการขับเคลื่อนโดยภาคเอกชนและตลาดเสรี ในด้านสังคมฝ่ายซ้ายสนับสนุนแนวคิดอนุรักษนิยมแบบขงจื๊อส่วนฝ่ายขวาสนับสนุนแนวคิดเสรีนิยมแบบกลุ่มหัวก้าวหน้าในตะวันตกเช่นสิทธิในการทำแท้งและสิทธิการแต่งงานของกลุ่มคนรักร่วมเพศ ฯลฯจะเห็นได้ว่าการนิยามขั้วฝ่ายซ้ายและฝ่ายขวาของจีนอาจไม่เหมือนการแบ่งขั้วฝ่ายซ้ายฝ่ายขวาในตะวันตก (รวมทั้งการแบ่งเสื้อเหลืองเสื้อแดงในไทย) เสียทีเดียว


ทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด และ MIT ได้นำผลการสำรวจจากเว็บไซต์ดังกล่าวมาทำการวิเคราะห์ด้วยเทคนิคทางสถิติแม้ว่าข้อมูลชุดดังกล่าวจะไม่สามารถเป็นตัวแทนทัศนคติของคนจีนทุกกลุ่มทุกวัยทุกพื้นที่ในจีนได้ (เพราะผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่เป็นวัยรุ่นชายในเขตเมือง) แต่อย่างน้อยข้อมูลชุดดังกล่าวอาจให้ข้อคิดเบื้องต้นเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างระดับการศึกษาและฐานะทางเศรษฐกิจกับทัศนคติในเรื่องต่างๆ รวมทั้งความสัมพันธ์ระหว่างทัศนคติในเรื่องการเมือง กับทัศนคติในเรื่องเศรษฐกิจและสังคมของคนจีน


ผลวิเคราะห์ที่น่าสนใจ ก็คือ คนจีนไม่ว่าฝ่ายซ้ายหรือขวา มักซ้ายหรือขวาจนสุดทางทั้งสามด้าน (การเมือง เศรษฐกิจ และสังคม) กล่าวคือ คนจีนที่มีความคิดทางการเมืองฝ่ายซ้าย ก็มักมีความคิดทางเศรษฐกิจและสังคมฝ่ายซ้ายด้วย ขณะที่คนจีนที่มีความคิดทางการเมืองฝ่ายขวา ก็มักมีความคิดทางเศรษฐกิจและสังคมฝ่ายขวาเช่นเดียวกัน ผลวิเคราะห์นี้แตกต่างจากข้อมูลในสหรัฐฯ ซึ่งมักพบว่าทัศนคติและขั้วความคิดของคนสหรัฐฯ หลากหลายกว่าในจีนมาก ตัวอย่างเช่น ผู้นิยมพรรคเดโมแครตบางคน (ฝ่ายซ้ายในทางการเมืองสหรัฐฯ) กลับนิยมนโยบายเศรษฐกิจเสรีนิยม (เป็นฝ่ายขวาในทางเศรษฐกิจ) หรือผู้นิยมพรรคริพับลิกันไม่น้อย (ฝ่ายขวาในทางการเมืองสหรัฐฯ) กลับมีความคิดทางสังคมแบบซ้าย (เห็นด้วยกับการทำแท้งและสิทธิในการแต่งงานของคนรักร่วมเพศ) หากแต่ในจีน ผลวิเคราะห์กลับพบว่า คนจีนที่นิยมพรรคคอมมิวนิสต์ในทางการเมือง ก็มักจะนิยมนโยบายการแทรกแซงของรัฐในทางเศรษฐกิจ และศรัทธาความคิดขงจื๊อในทางสังคมและวัฒนธรรม ขณะที่คนจีนที่นิยมประชาธิปไตยในทางการเมือง ก็มักสนับสนุนกลไกตลาดเสรี และค่านิยมความคิดก้าวหน้าในเรื่องสิทธิ เสรีภาพ ตลอดจนความหลากหลายในเรื่องรสนิยมทางเพศ


นอกจากนั้น ผลวิเคราะห์ยังพบว่าระดับการศึกษาและฐานะทางเศรษฐกิจมีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับทัศนคติในเรื่องการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม กล่าวคือ คนจีนที่มีระดับการศึกษาสูงมักเป็นพวกฝ่ายขวา (นิยมความคิดประชาธิปไตย เสรีนิยมและค่านิยมตะวันตก) ขณะที่คนจีนที่มีระดับการศึกษาต่ำลงมามักเป็นพวกฝ่ายซ้าย (เป็นผู้ศรัทธาพรรคคอมมิวนิสต์และขงจื๊อ) นอกจากนั้น พบว่าคนจีนจากมณฑลติดทะเลที่มีระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่สูง มักเป็นพวกฝ่ายขวา (มณฑลเซี่ยงไฮ้ กว่างตงและเจ้อเจียงเป็นมณฑลที่ผู้คนมีความคิดเสรีนิยมมากที่สุด) ขณะที่คนจีนจากมณฑลตอนในของประเทศที่มีระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่ต่ำกว่า มักเป็นพวกฝ่ายซ้ายและมีความคิดเชิงอนุรักษนิยม


ผลวิเคราะห์ที่น่าสนใจมากอีกอย่างก็คือ พวกฝ่ายซ้ายทางการเมืองและเศรษฐกิจของจีนมีแนวโน้มสนับสนุนแนวความคิดและค่านิยมความเชื่อโบราณของขงจื๊อกล่าวคือ คนที่เห็นว่า “จีนสมัยใหม่ต้องการคำสอนของขงจื๊อ” และเห็นว่า “หนังสือโบราณของขงจื๊อสามารถอธิบายสังคมมนุษย์ในทุกยุคสมัยได้เป็นอย่างดี” มักเป็นผู้ที่นิยมรัฐบาลพรรคคอมมิวนิสต์และต้องการให้รัฐบาลมีบทบาทนำในการบริหารจัดการเศรษฐกิจ


ความน่าสนใจอยู่ตรงที่ ในอดีตที่ผ่านมา พวกฝ่ายซ้าย (เช่นเหมาเจ๋อตงและผู้ก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์ในยุคแรก) ล้วนแต่เป็นผู้ต่อต้านแนวคิดขงจื๊อและค่านิยมโบราณของจีน โดยเห็นว่าเป็นความคิดศักดินานิยมที่ฉุดรั้งประเทศจีนจนเกือบล่มจม นอกจากนั้น ในช่วงปลายราชวงศ์ชิง ปัญญาชนที่ศรัทธาขงจื๊อมักเป็นพวกนิยมความคิดฝ่ายขวา เช่น การปฏิรูปเศรษฐกิจด้วยกลไกตลาด การกระจายอำนาจตลอดจนการจัดทำรัฐธรรมนูญและการเลือกตั้งแบบตะวันตก แม้แต่ในไต้หวันและในฮ่องกงปัจจุบัน ปัญญาชนที่ศรัทธาขงจื๊อมักตีความแนวคิดขงจื๊อเพื่อสนับสนุนประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน หากแต่ทัศนคติในจีนแผ่นดินใหญ่ในปัจจุบันกลับเป็นไปในทิศทางตรงกันข้าม ปัญญาชนที่นิยมขงจื๊อมักย้ำเน้นความศรัทธาต่อการปกครองของพรรคคอมมิวนิสต์ และเน้นแนวคิดขงจื๊อในเรื่องความสมานฉันท์และเสถียรภาพของสังคมเหนือสิทธิเสรีภาพของบุคคล โดยมองว่าค่านิยมในเรื่องเสถียรภาพและความสมานฉันท์ในสังคมของจีนมีรากเหง้าทางประวัติศาสตร์มาอย่างยาวนาน


ศ.จางไท่ซู ศาสตราจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยดุ๊ค ซึ่งเชี่ยวชาญประวัติศาสตร์ความคิดการเมืองและกฎหมายของจีน อธิบายว่าเหตุผลที่ขั้วฝ่ายซ้ายของจีนในปัจจุบันนิยมพรรคคอมมิวนิสต์และขงจื๊อพร้อมๆ กัน อาจเป็นเพราะสิ่งที่หลอมรวมขั้วฝ่ายซ้ายของจีนจริงๆ ก็คือ ความคิดต่อต้านตะวันตก ไม่ว่าจะเป็นค่านิยมทางการเมืองของตะวันตก เช่น ประชาธิปไตยแบบเลือกตั้ง การคุ้มครองสิทธิมนุษยชน หรือค่านิยมทางวัฒนธรรม เช่น ความคิดบริโภคนิยม ในปัจจุบัน ฝ่ายซ้ายของจีนล้วนมีศัตรูร่วมกันคือ “ตะวันตก” ดังนั้น ขั้วฝ่ายซ้ายของจีนจริงๆ จึงเป็นฝ่ายความคิดชาตินิยมมากกว่าที่จะเป็นความคิดการเมือง เศรษฐกิจ หรือสังคมที่มีพื้นฐานทางทฤษฎีหรือความเชื่อใดๆ พูดง่ายๆ ก็คือ ขั้วความคิดสองขั้วของจีน สุดท้ายอาจแบ่งง่ายๆ ว่าเป็นการต่อสู้ระหว่างขั้วที่เชื่อว่าสามารถสร้างสังคมสมัยใหม่ที่ไม่เป็นตะวันตกได้ หรือขั้วที่เชื่อว่าสังคมสมัยใหม่คือตะวันตก


ในส่วนของสังคมไทย เคยมีกลุ่มนักวิจัยไทยศึกษาขั้วความคิดเสื้อเหลืองและเสื้อแดงในระดับประชาชนอยู่เหมือนกัน ในชื่อชุด “งานวิจัยทบทวนภูมิทัศน์การเมืองไทย” ของแผนงานสร้างเสริมนโยบายสาธารณะที่ดี (ค้นหาออนไลน์และดาวน์โหลดได้ไม่ยาก) สำหรับคนที่สนใจว่าขั้วฝ่ายซ้ายกับฝ่ายขวาของไทยจะเหมือนหรือต่างกับจีนอย่างไร ผมแนะนำให้ลองหางานวิจัยชุดนี้มาอ่าน หรือไม่ก็อาจลองเริ่มจากสำรวจความคิดทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมของตัวเอง