ดอกเบี้ยลด ฉุดกำไรแบงก์หายพันล้าน

ดอกเบี้ยลด ฉุดกำไรแบงก์หายพันล้าน

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย

 0.25% เหลือ 1.50%ถือว่าเป็นปัจจัยเซอร์ไพร์ซวงการเงิน เพราะหลายคนคาดไม่ถึง อย่างไรก็ตาม ผลกระทบที่เกิดขึ้นโดยเฉพาะในส่วนของตลาดทุน มีทั้งผลดีและผลเสีย ซึ่งโบรกเกอร์ส่วนใหญ่ออกมา ประเมินในทิศทางเดียวกันว่ากลุ่มที่ได้รับประโยชน์จากการลดดอกเบี้ยครั้งนี้ จะเป็น กลุ่มลิสซิ่ง เพราะมีต้นทุนในการทำธุรกิจลดลง และกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ ถือเป็นการกระตุ้นยอดขายอีกทางหนึ่ง ขณะที่กลุ่มเสียประโยชน์โดยตรงอย่างชัดเจนคือ กลุ่มธนาคารพาณิชย์

โบรกเกอร์ประกาศปรับลดประมาณการกำไรปีนี้ของกลุ่มแบงก์ทันที และหากพิจารณาให้ดี จะเห็นว่า การประกาศลดอัตราดอกเบี้ยในครั้งนี้ ถือเป็นปัจจัยที่ซ้ำเติมกลุ่มธนาคารพาณิชย์ เพราะหลังจากที่ประกาศผลประกอบการงวดไตรมาสแรกของปีนี้ออกมาปรากฏว่า ภาพรวมกำไรลดลง ขณะที่ สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) สูงขึ้นจนทำให้เกิดความกังวลอย่างมีนัยสำคัญ โบรกเกอร์จึงพิจารณาปรับลดงประมาณการกำไรในปีนี้ 

บล.ทิสโก้รายงานว่า ฝ่ายวิจัยได้ปรับลดกำไรสุทธิปีนี้กลุ่มแบงก์ลงเฉลี่ย 4% หลังประกาศงบไตรมาส 1/58 และปรับลดการเติบโตของสินเชื่อเป็น 7% จาก 9% ซึ่งให้เหตุผลว่า การปรับลดผลประกอบการในครั้งนี้เพราะหลังจากฟังจากน้ำเสียงของผู้บริหารแบงก์แล้ว ก็เหมือนจะบอกว่าถ้าเศรษฐกิจยังไม่ดีขึ้น NPL ของกลุ่มธนาคารจะยิ่งแย่ขึ้นไปอีกในไตรมาสถัดๆ ไป และจะลามไปถึงการเติบโตของสินเชื่อ, ส่วนต่าง และต้นทุนการดำเนินงานเลย เนื่องจากธนาคารเหล่านี้จำเป้นต้องตั้งเกณฑ์ในการปล่อยสินเชื่อที่เข้มงวดยิ่งขึ้น และใช้เวลารวมถึงต้นทุนการเก็บหนี้มากขึ้น

บล.เอเซียพลัส ระบุว่า การศึกษาพบว่าดอกเบี้ยที่ลดลง 0.25% จะทำให้กำไรสุทธิของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ ปี 2558 หายไปราว 0.67% จากฐานกำไรที่ประเมินไว้ที่ 2.23 แสนล้านบาท หรือน่าจะหายไปราว 1 พันล้านบาท โดยกระทบต่อ ส่วนต่างดอกเบี้ยรับสุทธิ (NIM)และพบว่าทุกๆ 0.25% ที่อัตราดอกเบี้ยลดลงจะทำให้NIM ลดลง 0.014%จากคาดการณ์ปัจจุบันที่ 3.08% มาที่ 3.07% ทั้งนี้คาดว่าแบงก์ที่จะได้รับผลกระทบสูงสุด กรณีอัตราดอกเบี้ยปรับตัวลดลงคือแบงก์กรุงไทยและแบงก์กรุงเทพ เนื่องจากมีโครงสินเชื่อที่เป็นอัตราดอกเบี้ยลอยตัวในสัดส่วนที่สูงกว่าโครงสร้างแหล่งเงินทุนที่เป็นอัตราดอกเบี้ยลอยตัว

ทั้งนี้นักวิเคราะห์กลุ่มธนาคารพาณิชย์ได้ปรับลดประมาณการ และคำแนะนำการลงทุนของกลุ่มที่เท่ากับตลาด เป็นน้อยกว่าตลาด เพราะคาดว่าอัตราการเติบโตของ กำไรสุทธิของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ จะลดลงเหลือเพียง 3.9% หลังการลดลงดอกเบี้ยรอบใหม่ จากปัจจุบันที่เติบโต 8%

ทางตรงกันข้ามกลุ่มที่ได้รับประโยชน์เป็นกลุ่มลิสซิ่ง ซึ่งคาดว่าจะทำให้คาดการณ์กำไรสุทธิปี 2558 ของกลุ่มดังกล่าว เพิ่มขึ้น 0.78% โดยเฉพาะผู้ประกอบการที่มีต้นทุนการกู้ยืม (ภาระหนี้สิน) เป็นอัตราดอกเบี้ยลอยตัว ส่งผลให้ส่วนที่เป็นฐานต้นทุนลดลง เทียบกับรายรับด้านการปล่อยสินเชื่อ (รายได้ดอกเบี้ย) ซึ่งมีสัดส่วนที่เป็นอัตราดอกเบี้ยคงที่ในปริมาณสูง รายได้จึงไม่ได้ลดตามดอกเบี้ยที่ปรับลดลง

กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ แม้เชื่อว่าจะไม่ได้กระตุ้นกำลังซื้อโดยตรง แต่คาดว่าภาพอุตสาหกรรมโดยรวมน่าจะได้รับปัจจัยเชิงบวก โดยผู้พัฒนาบ้านขาย สามารถรับรู้ได้ตามแผนหรือเร็วกว่าคาด เพราะดอกเบี้ยต่ำจะทำให้ลูกค้าตัดสินใจการโอนกรรมสิทธิ์เร็วขึ้น หรือ ทำได้ง่ายขึ้น ขณะเดียวกันสถาบันการเงินจะมีอัตราการปฎิเสธสินเชื่อเพื่อซื้อที่อยู่อาศัยลดลง และสุดท้ายดอกเบี้ยที่ลดลง น่าจะช่วยลดภาระดอกเบี้ยจ่ายโดยรวมลง จากการศึกษาพบวา ดอกเบี้ยที่ลดลง 0.25% น่าจะทำให้รายการดอกเบี้ยจ่ายในงบกำไรขาดทุนของผู้พัฒนาบ้านขายหายไป139 ล้านบาท คิดเป็น 0.35% ของประมาณการกำไรปี 2558

ขณะที่ บล.บัวหลวง ยังประเมินแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยในช่วงเวลาที่เหลือของปีนี้ว่า หากอิงจากมุมมอง รมว.คลัง ที่คาดแนวโน้มดอกเบี้ยเหมาะสมอยู่ที่ 1% ดอกเบี้ยมีโอกาสลงได้อีก 2 ครั้งในปีนี้