เร่งสร้างความเชื่อมั่นสินค้าประมง

เร่งสร้างความเชื่อมั่นสินค้าประมง

ควันหลงหลังจากสหภาพยุโรป (อียู) ได้ประกาศให้ใบเหลืองไทย เนื่องจากผลการประเมิน

การแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (IUU :Illegal, Unreported and Unregulated Fishing)ของไทยไม่สอดคล้องกับกฎระเบียบIUUของอียู ได้สร้างปรากฏการณ์ทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทย ขะมักเขม้นในการทำงานแก้ไขปัญหาแบบที่ไม่เคยเห็นกันมาก่อน

ขณะที่รัฐบาล และ คสช. ก็ได้ใช้ไม้แข็ง ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 ออกคำสั่ง คสช. เพื่อเร่งแก้ปัญหา โดยได้มีการตั้งศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย (คปมผ.) เป็นศูนย์เฉพาะกิจขึ้นตรงกับนายกรัฐมนตรี

ภายใต้คำสั่งดังกล่าว ได้มีการออกกฎควบคุมการแจ้งเรือเข้า-ออก กำหนดให้เรือประมง เรือบรรทุกสินค้าประมง ต้องทำบันทึกการทำการประมง ติดตั้งระบบติดตามเรือประมง (VMS) และต้องแจ้งการเข้า-ออกท่าเทียบเรือทุกครั้ง รวมทั้งกำหนดให้การทำประมงเครื่องมือทำประมง เรือประมง เจ้าของท่าเรือ เจ้าของแพปลา ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนด โดยผู้ที่ฝ่าฝืนจะมีโทษหนัก

กองทัพเรือกระโดดลงมาเล่นเต็มตัวงานนี้พลาดไม่ได้ เพราะเดิมพันสูง เป็นเดิมพันกับการส่งออกสินค้าประมงของไทย  

นั่นเป็นเรื่องในระดับรัฐบาลที่กำลังดำเนินการแก้ไข

ส่วนในระดับกระทรวงกำลังทำแผนและดำเนินการแก้ไขปัญหาอยู่ ในส่วนกระทรวงพาณิชย์ที่เป็นหน้าด่านเผชิญกับผู้นำเข้า เผชิญกับคู่ค้า

วันก่อน “อภิรดี ตันตราภรณ์ รมช.พาณิชย์ได้เรียกประชุมหารือร่วมกับผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมประมง เพื่อหาแนวทางการดำเนินการชี้แจงทำความเข้าใจและสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้นำเข้าในต่างประเทศ ถือเป็นเรื่องที่น่าสนใจ และติดตาม เพราะเป็นการเรียกความเชื่อมั่นท่ามกลางข่าวลบ ที่กำลังเกิดขึ้นกับอุตสาหกรรมประมงของไทย

รมช.พาณิชย์ย้ำว่า กระทรวงพาณิชย์จะเร่งทำแผนสร้างสร้างภาพลักษณ์ และสร้างความเชื่อมั่นต่อสินค้าประมงของไทย เพราะไม่อยากให้เกิดผลกระทบต่อเนื่องจากการที่อียูให้ใบเหลือง จนทำให้คู่ค้าไม่มั่นใจสินค้าประมงของไทย

โดยแนวทางในการทำงานและการชี้แจงกับประเทศผู้นำเข้า จะพุ่งเป้าไปที่ตลาดยุโรปก่อน เพราะเป็นตลาดหลักในการส่งออกสินค้าประมงที่สำคัญ ซึ่งจะเริ่มเดินสายในช่วงกลางถึงปลายเดือนพฤษภาคม 2558 นี้ เบื้องต้นเริ่มที่คู่ค้าหลักอย่างอังกฤษ ฝรั่งเศส และเยอรมัน

แนวทางในการชี้แจง จะไปบอกคู่ค้าว่า ขณะนี้รัฐบาลได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาในเรื่องนี้อย่างไร มีความคืบหน้าในแต่ละเรื่องไปถึงไหน โดยเฉพาะเรื่องที่อียูมีความกังวล เพื่อแสดงความจริงใจ และความเอาจริงเอาจังของรัฐบาลไทยในการแก้ไขปัญหา เพื่อให้ผู้นำเข้า คู่ค้า มีความสบายใจว่าปัญหาที่เกิดขึ้นจะไม่ส่งผลกระทบใดๆ ต่อการผลิตและการส่งออกสินค้าประมงของไทย เพื่อให้ยังคงมีการทำการค้ากับไทยต่อไป

การแก้ไขปัญหาต่างๆ จะเริ่มเห็นผลเป็นรูปธรรมภายใน 3 เดือน และจะแล้วเสร็จก่อนระยะเวลาที่อียูกำหนดภายใน 6 เดือน

 ต้องเร่งรีบ เร่งรัด สะสางปัญหาทั้งภายในและเดินหน้าสร้างความเชื่อมั่น 2 อย่างต้องทำควบคู่กันไปทิ้งไม่ได้

อียูคงมองเห็นความตั้งใจไทยและให้ใบเขียวภายใน 6เดือน