ปลดโซ่ตรวนสถานีบริการก๊าซธรรมชาติ (NGV) ทั่วประเทศ

ปลดโซ่ตรวนสถานีบริการก๊าซธรรมชาติ (NGV) ทั่วประเทศ

เมื่อวันที่ 20 มี.ค. 2558 ที่ผ่านมาได้มีการประกาศกฎกระทรวง ฉบับที่ 24 (พ.ศ.2558) ออกตามความพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535

ลงในราชกิจจานุเบกษาเกี่ยวกับเรื่องการยกเว้นสถานีบริการก๊าซธรรมชาติหลัก NGV (Mother Station) ทั่วประเทศจำนวน 19 สถานี ให้ไม่ต้องขอใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานตามพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 ซึ่งการออกกฎหมายดังกล่าวส่งผลให้การดำเนินสถานีบริการ NGV ในปัจจุบันไม่ต้องถูกระงับชั่วคราวและการขยายสถานีบริการ NGV ในอนาคตน่าจะสามารถกระทำได้ง่ายขึ้น จึงขอสรุปสาระสำคัญมาให้ท่านผู้อ่าน ดังนี้


๐ ความเป็นมา


1. เมื่อปีพ.ศ. 2547 อันเนื่องมาจากการเริ่มปรับตัวขึ้นของราคาน้ำมันโลกภาครัฐจึงได้มีนโยบายในการส่งเสริมการใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นพลังงานทางเลือกเพื่อให้ประชาชนทั่วไปใช้สำหรับเป็นเชื้อเพลิงในภาคขนส่งหรือที่เรารู้จักกันในชื่อของ NGV (Natural Gas for Vehicle) ซึ่งกระทรวงพลังงานได้มอบหมายให้ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ในฐานะหน่วยงานของรัฐด้านพลังงานเป็นผู้ดำเนินการนโยบายดังกล่าวดังนั้น ปตท. จึงได้เริ่มดำเนินการก่อสร้างสถานีบริการ NGV ขึ้นเพื่อให้บริการจำหน่ายก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์หรือ NGV ให้แก่ประชาชนทั่วไป


2. สถานีบริการหลัก NGV ตามจังหวัดต่างๆ จำนวน 19 สถานีทั่วประเทศได้ทำหน้าที่เป็นสถานีแม่ในการกระจายก๊าซธรรมชาติไปยังสถานีลูกในจังหวัดใกล้เคียง ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องภายใต้การกำกับดูแลของกรมธุรกิจพลังงาน จนกระทั่งถึงปี พ.ศ. 2555 จึงได้รับแจ้งจากกระทรวงอุตสาหกรรมว่า สถานีบริการ NGV เข้าข่ายเป็นโรงงาน จึงต้องขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน (ร.ง.4) มิเช่นนั้นแล้วอาจถูกสั่งให้ระงับการบริการได้


3. สาเหตุที่มีการตีความเช่นนี้นั้น เนื่องจากกฎกระทรวงอุตสาหกรรมลำดับที่ 91 (2) ออกตามความพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 ได้ระบุว่าการดำเนินกิจการที่มีการบรรจุก๊าซให้ถือว่าเป็นกิจการที่เป็นโรงงานซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมพิจารณาว่าการบรรจุก๊าซใส่ในรถขนส่งของสถานีบริการหลัก NGV เพื่อขนส่งไปยังสถานีลูกต่างๆ เป็นการบรรจุก๊าซตามกฎหมายแล้ว


๐ ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการตีความ


นับตั้งแต่สถานีบริการ NGV เริ่มเปิดดำเนินการมาเป็นระยะเวลา 9 ปี ระหว่างปี พ.ศ.2547 จนถึง ปีพ.ศ. 2555 นั้น ได้รับใบอนุญาตจากกรมธุรกิจพลังงานมาโดยตลอดและไม่เคยได้รับการแจ้งจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมให้ขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน ดังนั้น การตั้งสถานีบริการ NGV จึงสามารถกระทำได้ในเขตผังเมืองรวมตามจังหวัดต่างๆ โดยไม่ขัดต่อข้อห้ามตั้งโรงงานในเขตผังเมืองรวมแต่อย่างใด


อย่างไรก็ดี การตีความของกระทรวงอุตสาหกรรมในปีพ.ศ.2555 ที่ให้สถานีบริการ NGV เป็นโรงงานนั้น มีผลทำให้สถานีบริการ NGV ที่ก่อสร้างมาก่อนหน้านี้ภายในเขตผังเมืองรวมไม่สามารถประกอบกิจการได้ทันที เพราะเป็นโรงงาน ซึ่งประกอบไปด้วยสถานีบริการ NGV กรุงเทพมหานคร ราชบุรี สระบุรี ระยอง สมุทรปราการ เป็นต้น โดยหากสถานีเหล่านี้ต้องหยุดดำเนินการจะส่งผลให้การจำหน่ายก๊าซ NGV ในเขตจังหวัดเหล่านี้ต้องหยุดชะงักทันที อันจะก่อให้เกิดผลกระทบเดือดร้อนในวงกว้างเป็นอย่างมาก


๐ ส่งเรื่องให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตีความ


ด้วยเหตุดังกล่าวกระทรวงพลังงานจึงหารือไปยังกระทรวงอุตสาหกรรมขอให้ชะลอการดำเนินการกับสถานีบริการหลัก NGV ของ ปตท. เอาไว้ก่อน เนื่องจากยังไม่มีความชัดเจนทางด้านกฎหมาย ดังนี้


1. สถานีบริการหลัก NGV ของ ปตท. อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกรมธุรกิจพลังงานซึ่งต้องมีมาตรฐานของความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมตามกฎหมายอยู่แล้ว การที่กำหนดให้สถานีบริการหลัก NGV ของ ปตท. ต้องอยู่ภายใต้กฎหมายโรงงานของกระทรวงอุตสาหกรรมอีกฉบับหนึ่ง น่าจะเป็นการดำเนินการที่ซ้ำซ้อนและทำให้สถานีบริการหลัก NGV ได้รับภาระมากเกินควร


2. เนื่องด้วยขณะที่มีการออกกฎกระทรวงอุตสาหกรรมเรื่องการบรรจุก๊าซนี้ ยังไม่มีการผลิตก๊าซ NGV แต่อย่างใด หากแต่มีเพียงก๊าซหุงต้ม หรือ LPG เท่านั้น การตีความให้ครอบคลุมถึง NGV ด้วยจึงไม่น่าจะตรงกับเจตนารมณ์ของกฎหมายซึ่งมีวิธีการบรรจุที่แตกต่างกับ LPG


3. หากไม่มีความชัดเจนทางด้านกฎหมาย สถานีบริการหลัก NGV ต้องหยุดกิจการทันทีในหลายจังหวัดเนื่องจากขัดต่อการใช้พื้นที่ผังเมืองรวม ทำให้ประชาชนผู้ใช้ก๊าซ NGV ได้รับความเดือดร้อนเป็นวงกว้าง


ดังนั้น ในเดือนมกราคม ปี 2556 กระทรวงอุตสาหกรรมจึงได้ขอหารือไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกาว่า สถานีบริการหลัก NGV ของ ปตท. ถือเป็นโรงงานตามพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 หรือไม่ อย่างไร


๐ คณะกรรมการกฤษฎีกาเห็นว่าสถานีบริการหลัก NGV เป็นโรงงานแต่สมควรให้มีการแก้ไข


เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2556 คณะกรรมการกฤษฎีกามีความเห็นว่าสถานี NGV หลัก เป็นโรงงาน เนื่องจากเห็นว่าการขนส่งก๊าซ NGV ไปยังสถานีลูกต่างๆ เป็นการบรรจุก๊าซตามกฎหมาย อย่างไรก็ตาม เห็นควรให้มีการแก้กฎกระทรวงยกเว้นให้สถานี NGV หลักไม่เป็นโรงงานเพื่อลดความซ้ำซ้อนในการควบคุมจากหน่วยงานภาครัฐ เนื่องจากสถานีบริการหลัก NGV ดำเนินกิจการภายใต้กฎระเบียบมาตรฐานและความปลอดภัยของกรมธุรกิจพลังงานอยู่แล้ว


๐ คณะรัฐมนตรีเห็นชอบตามข้อเสนอของคณะกรรมการกฤษฎีกา


เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2556 คณะรัฐมนตรีก็ได้มีมติเห็นชอบให้หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องร่วมกันแก้ไขกฎกระทรวงท้าย พ.ร.บ.โรงงานฯ เพื่อยกเว้นไม่ให้สถานี NGV หลัก ของ ปตท. เป็นโรงงานอีกต่อไป และให้ผ่อนผันการบังคับใช้กฎหมายโรงงานต่อสถานีบริการหลัก NGV เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อประชาชน


ต่อมาเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2557 คณะรัฐมนตรีก็ได้มีมติอนุมัติหลักการร่างแก้ไขกฎกระทรวงที่ออกตามความในพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ โดยมีสาระสำคัญ คือ การยกเว้นมิให้สถานีบริการ NGV หลัก เป็นโรงงาน และมีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2558 ดังกล่าว


๐ สรุป


เกี่ยวกับเรื่องนี้ต้องขอชื่นชมกระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพลังงาน คณะกรรมการกฤษฎีกา และคณะรัฐมนตรีในการร่วมกันดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาความไม่ชัดเจนในข้อกฎหมาย ดังนี้


1. การแก้ปัญหาการกำกับดูแลกฎระเบียบของทางภาครัฐไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อนกัน


2. การประสานงานระหว่างหน่วยงานภาครัฐต่างๆ เพื่อให้การบริการประชาชนเกิดความต่อเนื่อง เนื่องจากหากสถานีบริการหลัก NGV ต้องระงับการดำเนินงานเพราะความไม่ชัดเจนทางข้อกฎหมาย ผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนก็คือประชาชนทั่วไป


ดังนั้น ผลจากการที่มีการแก้ไขกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องให้มีความชัดเจนขึ้นนั้น น่าจะส่งผลให้การขยายสถานีบริการ NGV ในอนาคตทำได้ง่ายมากขึ้นอันจะส่งผลดีต่อประชาชนผู้ใช้ก๊าซ NGV ทั่วไป