เมื่ออดีตผู้ว่าแบงก์ชาติสหรัฐ ทำงานให้เฮดจ์ฟันด์

เมื่ออดีตผู้ว่าแบงก์ชาติสหรัฐ ทำงานให้เฮดจ์ฟันด์

เดือนเม.ย.ที่ผ่านมา ผมชีพจรลงเท้าเดินทางเกือบทั้งเดือน ช่วงกลางเดือนไปร่วมงานประชุม Global Cyber Summit ที่สหรัฐอเมริกา

ร่วมกับสมาชิกไอโอดี งานประชุมจัดโดยสมาคมสถาบันกรรมการบริษัทแห่งชาติของสหรัฐ หรือ National Association of Company Directors ในนามเครือข่ายสถาบันกรรมการบริษัทโลกหรือ GNDI ที่สถาบันไอโอดีของไทยเป็นสมาชิก การประชุมจัดที่กรุงวอชิงตันดีซี ช่วงเวลาเดียวกับที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศและธนาคารโลกจัดประชุมร่วมกลางปี จึงมีข่าวเศรษฐกิจออกมาพอควรในช่วงดังกล่าว ข่าวส่วนใหญ่จะเกี่ยวกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ยังมีปัญหา การพยายามหาทางออกให้กับประเทศกรีซเพื่อไม่ให้ผิดนัดชำระหนี้ และการสูญเสียภาวะผู้นำของสหรัฐในเวทีเศรษฐกิจโลก จากที่จีนได้เร่งสร้างบทบาทของตนในรูปแบบต่างๆ ล่าสุดก็คือ การจัดตั้งธนาคารเพื่อการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของเอเชีย หรือ AIIB แต่ข่าวเหล่านี้ตลาดการเงินรับทราบอยู่แล้ว จึงไม่มีผลต่อตลาด


แต่ที่ใหม่และจะเขียนถึงวันนี้ คือ ข่าวเล็กๆ ที่ออกมาในช่วงเดียวกันว่า นายเบน เบอร์นันเก้ อดีตผู้ว่าการธนาคารกลางสหรัฐที่ได้หมดวาระลงต้นปีที่แล้ว ได้ตัดสินใจรับงานใหม่ในภาคเอกชน โดยรับตำแหน่งที่ปรึกษาอาวุโสให้กับบริษัทซิทาเดล (Citadel) ซึ่งเป็นเฮดจ์ฟันด์หรือกองทุนบริหารเงินรายใหญ่ในสหรัฐ กองทุนเฮดจ์ฟันด์อย่างที่ทราบ จะมุ่งทำกำไรระยะสั้นจากการคาดการณ์ภาวะตลาดและการเปลี่ยนแปลงนโยบายและราคาสินทรัพย์ เช่น อัตราดอกเบี้ยหรืออัตราแลกเปลี่ยน จริงๆ การไปทำงานในตลาดการเงินหลังเปลี่ยนงานคงไม่ใช่เรื่องแปลกสำหรับคนทั่วไป แต่สำหรับอดีตผู้ว่าการธนาคารกลางสหรัฐ ที่เป็นผู้ทรงอิทธิพลทางการเงินมากที่สุดของโลกนานถึงแปดปี มีคำถามว่าการตัดสินใจดังกล่าวเหมาะสมหรือไม่ เพราะความรู้ บารมี และประสบการณ์ที่นายเบอร์นันเก้มี ถูกมองว่าอาจทำให้เกิดผลประโยชน์ขัดแย้งได้ โดยเฉพาะความได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างนักลงทุน จากความรู้และเกร็ดด้านนโยบายที่นายเบอร์นันเก้มี จากที่เคยทำงานเป็นผู้ว่าธนาคารกลางสหรัฐเป็นเวลานาน นี้คือประเด็นที่จะเขียนวันนี้


ประเด็นผลประโยชน์ขัดแย้งเป็นเรื่องละเอียดอ่อน โดยเฉพาะกับบุคคลที่เคยมีอำนาจและตำแหน่งสูงในภาคราชการและการเมือง ที่มีโอกาสเข้าถึงข้อมูลและแนวคิดด้านนโยบายต่างๆ ในช่วงดำรงตำแหน่ง ที่คนส่วนใหญ่ไม่มีโอกาสทราบ ดังนั้น เมื่อลงจากตำแหน่ง ก็ไม่ควรรับตำแหน่งในภาคเอกชนที่ทำธุรกิจเกี่ยวข้องกับงานหรือนโยบายที่ตนเคยควบคุมหรือตัดสินใจ เพื่อไม่ให้มีข้อครหาว่านำข้อมูลหรือความรู้ที่ได้รับมาในช่วงที่ทำงาน ให้ประโยชน์กับบริษัทที่ตนเข้าร่วมงาน เกิดการได้เปรียบเสียเปรียบในแง่ธุรกิจ นอกจากนี้ บารมีที่ตนมีในองค์กรราชการที่เคยรับตำแหน่งสูง ก็อาจเกิดกรณีการใช้บารมีหรือเครือข่ายที่มีอยู่อุ้มชูหรือดูแลธุรกิจที่ตนเข้าร่วมงานอย่างไม่เหมาะสม เกิดการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม หรือมีการช่วยเหลือกันในทางที่มิชอบ ดังนั้นเพื่อป้องกันปัญหา ปรกติจะมีระเบียบห้ามไม่ให้ข้าราชการระดับสูงทั้งภาครัฐและการเมืองรับตำแหน่งในภาคเอกชน ไม่ว่าจะเป็นตำแหน่งบริหาร กรรมการบริษัท หรือที่ปรึกษา ทันทีที่พ้นตำแหน่งในราชการ โดยจะละเว้นเวลาไว้ระยะหนึ่ง (เช่น หนึ่งถึงสามปี) เพื่อป้องกันประเด็นผลประโยชน์ขัดแย้ง


ในกรณีของนายเบอร์นันเก้ หลังจากหมดวาระที่ธนาคารกลางสหรัฐในตำแหน่งผู้ว่าธนาคารกลาง เดือนก.พ.ปีที่แล้ว นายเบอร์นันเก้เข้ารับงานใหม่ทันทีที่สถาบัน Brooking ในฐานะนักวิจัย สถาบันนี้มีชื่อเสียงด้านวิชาการในการศึกษาวิจัยประเด็นด้านนโยบายต่างๆ และเป็นสถาบันที่ผู้บริหารระดับสูงของธนาคารกลางสหรัฐหลายคนเข้าทำงานหลังหมดวาระ แต่หลังจากทำงานที่สถาบัน Brooking ได้หนึ่งปี นายเบอร์นันเก้ก็รับงานเป็นที่ปรึกษากองทุนเฮดจ์ฟันด์ โดย (จากข่าวที่ออกมา) จะให้คำแนะนำในเรื่องตลาดการเงิน นโยบายการเงิน และเศรษฐกิจโลกที่นายเบอร์นันเก้ถือได้ว่าเป็นปรมาจารย์


นายเบอร์นันเก้เองก็ตระหนักถึงประเด็นความขัดแย้งทางผลประโยชน์ที่อาจถูกวิจารณ์ จึงได้ให้เหตุผลการรับตำแหน่งว่า หนึ่ง ไม่ขัดต่อกฎหมาย คือ ไม่มีกฎหมายห้ามการเข้ารับตำแหน่ง สอง การรับตำแหน่งลักษณะเดียวกันเกิดขึ้นบ่อยในอดีต คือ มีอดีตผู้บริหารธนาคารกลางเข้ารับตำแหน่งในตลาดการเงินจนอาจเป็นประเพณี และสาม สถาบันการเงินที่เข้ารับตำแหน่งคือ เฮดจ์ฟันด์ไม่เคยอยู่ในการกำกับดูแลของธนาคารกลางสหรัฐ


เหตุผลดังกล่าวแม้สื่อมวลชนเข้าใจและหลายฉบับสนับสนุนการตัดสินใจของนายเบอร์นันเก้ แต่ก็มีนักวิเคราะห์หลายราย ที่มองว่าการตัดสินใจดังกล่าวเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสม ไม่ควรทำ เพราะนายเบอร์นันเก้เป็นผู้ที่ทรงอิทธิพลและมีบารมีมากในวงการเงินสหรัฐและในตลาดการเงินโลก โดยเฉพาะเขาเป็นบุคคลหนึ่งที่มีความเข้าใจอย่างลึกซึ้งในนโยบายการเงินสหรัฐ และข้อจำกัดต่างๆ ในการดำเนินนโยบายโดยเฉพาะมาตรการคิวอี รวมถึงรู้จักและเข้าใจความคิดของ “ผู้ทำนโยบาย” ส่วนใหญ่ในเวทีเศรษฐกิจโลก เรียกว่า หลับตาก็มองออกว่ากำลังคิดอะไรอยู่ ซึ่งรวมถึงกรรมการในคณะกรรมการนโยบายการเงินสหรัฐ ว่าแต่ละคนมีแนวคิดอย่างไรและผลที่จะออกมาจากการประชุมควรเป็นอย่างไร สิ่งเหล่านี้เป็นประเด็นที่จะสร้างความได้เปรียบเสียเปรียบให้กับผู้เล่นต่างๆ ในตลาดการเงินได้ เพราะการเข้าถึงความเข้าใจและข้อมูลระดับลึกแตกต่างกัน


ประเด็นนี้ทำให้มีการโจมตีการเข้ารับตำแหน่งของนายเบอร์นันเก้ ซึ่งผมเห็นด้วยและแปลกใจที่อดีตผู้ว่าธนาคารกลางสหรัฐทำงานให้กับกองทุนเฮดจ์ฟันด์ ที่ในอดีตตนเองในสมัยที่เป็นผู้ว่าธนาคารกลางสหรัฐ ก็เคยวิจารณ์ว่าควรต้องมีการกำกับดูแลมากกว่าที่เป็นอยู่ แต่หลายคนคิดว่าเหตุผลสำคัญคงเป็นเรื่องเงินและความต้องการที่จะใช้ความรู้ที่มีอยู่สร้างรายได้ให้กับตนเองบ้าง ซึ่งเป็นเรื่องที่เข้าใจได้


ทั้งหมดจึงมาลงในประเด็นว่า เราจะดูแลข้าราชการระดับสูงของประเทศอย่างไรหลังเกษียณ หรือหลังหมดวาระ ให้มีรายได้และความเป็นอยู่ดีพอเหมาะสมกับความสามารถและสถานะ ที่จะไม่ต้องขวนขวายไปทำงานในธุรกิจที่อาจล่อแหลมต่อการเกิดปัญหาความขัดแย้งทางผลประโยชน์ ซึ่งจะทำให้ระบบอุปถัมภ์ยิ่งรุนแรงขึ้น เข้าใจว่าหลายประเทศมีกฎชัดเจนในเรื่องนี้ที่ห้ามข้าราชการระดับสูงรับตำแหน่งในภาคเอกชน ที่อาจเกิดผลประโยชน์ขัดแย้ง และดูแลให้มีรายได้หลังเกษียณเพียงพอ ทั้งนี้เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ที่ข้าราชการต้องทำงานหลังเกษียณโดยใช้ประโยชน์ข้อมูลและบารมีที่ตนมีอยู่ในองค์กรเดิม


ในประเทศไทยก็เหมือนกันที่เราเห็นอดีตข้าราชการระดับสูง ทำงานให้กับบริษัทเอกชนที่เคยอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของหน่วยงานที่ตนเองเคยมีตำแหน่งสูง ไม่ว่าจะไปทำงานในตำแหน่งบริหาร ที่ปรึกษา หรือเป็นกรรมการบริษัท เพื่อดูแลผลประโยชน์ให้บริษัทที่ตนเองเข้ารับตำแหน่ง สิ่งเหล่านี้ถ้าถือเป็นประเพณีปฏิบัติก็ยิ่งจะเสียหาย เพราะจะทำให้ข้าราชการขณะที่อยู่ในตำแหน่ง ไม่กล้าลงโทษเอาผิดบริษัทที่อยู่ในการกำกับดูแลจริงจัง เพราะเกรงว่าต่อไปเมื่อลงจากตำแหน่ง จะไม่ได้รับการเลี้ยงดูหรือดูแลจากบริษัทเหล่านี้ นี่เป็นประเด็นหนึ่ง ที่ทำให้ระบบอุปถัมภ์ในประเทศไทย แก้ไขยาก และเป็นประเด็นที่ต้องช่วยกันแก้ไข