ปัญหาอุบัติเหตุช่วงเทศกาล ร้ายแรงกว่าที่มองเห็น

ปัญหาอุบัติเหตุช่วงเทศกาล ร้ายแรงกว่าที่มองเห็น

อุบัติเหตุทางถนนช่วงปีใหม่และสงกรานต์ทำให้คนไทยเสียชีวิตและบาดเจ็บ รวมทั้งปีมีอัตราที่สูงกว่าประเทศอื่นๆ (เทียบกับสัดส่วนประชากรของประเทศ)

อย่างเด่นชัด เรามักจะมองแค่ว่าสาเหตุใหญ่มาจากความเมา และความง่วง, ความเหนื่อย ของผู้ขับรถ และรัฐบาลมักมุ่งรณรงค์ เช่น จำกัดการขายเหล้า มีตำรวจคอยตรวจจับปริมาณแอลกอฮอล์ แต่ได้ผลไม่มากนัก เพราะการที่มีรถแล่นกันขวักไขว่ในช่วงเทศกาลสำคัญ ทำให้มีโอกาสเกิดอุบัติเหตุได้จากหลายสาเหตุ รวมทั้งจากสภาพถนน และสัญญาณตามทางโค้ง ทางแยก ในหลายท้องที่ก็เป็นปัญหาด้วยเช่นกัน


เราควรมองว่า นี่เป็นปัญหาใหญ่ที่สร้างความเสียหายต่อชีวิตความเป็นอยู่ และสังคมมาก และควรมองอย่างวิเคราะห์สาเหตุหลายข้อ รวมทั้งเรื่องปัญหาเชิงโครงสร้างและแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจสังคมของประเทศด้วย


1. ปัญหาพื้นฐานคือ นโยบายพัฒนาเศรษฐกิจแบบทุนนิยมผูกขาดที่รวมศูนย์ความมั่งคั่ง และการมีงานทำ รวมทั้งสถาบันการศึกษาเด่นๆ ไว้ที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลมากเกินไป เป็นสาเหตุที่ทำคนจังหวัดอื่นต้องมาทำงานและมาเรียนในกรุงเทพฯ มาก ถึงเทศกาลพวกเขาได้หยุดงาน หยุดเรียน ก็จะกลับไปเยี่ยมบ้าน คนชั้นกลางในกรุงเทพฯ เอง ก็ออกไปเที่ยวต่างจังหวัดกันมาก เพราะพวกเขาต้องใช้ชีวิตในเมืองที่มีแต่อาคารคอนกรีต ขาดธรรมชาติ รู้สึกแปลกแยก น่าเบื่อหน่าย ถึงวันหยุดยาวพวกเขาจึงอยากออกไปเที่ยวต่างจังหวัด ที่มีธรรมชาติและศิลปวัฒนธรรมที่ต่างไปจากกรุงเทพฯ


นโยบายพัฒนาที่ผิดพลาดของไทยทำให้กรุงเทพฯ ใหญ่กว่าเมืองที่ใหญ่รองลงไปอันดับ 2 ราวยี่สิบสามสิบเท่า ขณะที่ประเทศอื่นเขาพัฒนาแบบกระจายความมั่งคั่ง และการมีงานทำไปตามเมืองต่างๆ ทั่วประเทศ เมืองหลวงไม่ได้ใหญ่กว่าเมืองอื่นมากนัก บางเมืองที่มีเศรษฐกิจดี อาจใหญ่กว่าเมืองหลวงที่เป็นแค่ศูนย์ราชการด้วย ถึงเทศกาลคนในประเทศอื่นจะเดินทางกันมากขึ้นเหมือนกัน แต่พวกเขาไม่ได้ออกไปจากเมืองเดียว และกลับเข้าเมืองเดียวพร้อมกันมากแบบคนในกรุงเทพฯ ของไทย


2. เราพัฒนาการขนส่งแบบเน้นการสร้างถนน และส่งเสริมการใช้รถยนต์ส่วนตัวมากกว่าการขนส่งสาธารณะ เช่น รถไฟ รถบัส เรือ รถไฟ ระหว่างเมืองมีบ้าง แต่มีคุณภาพปานกลางค่อนข้างต่ำ ทำให้คนไม่ค่อยนิยมใช้ ประกอบกับการที่รัฐบาลส่งเสริมให้คนซื้อรถส่วนตัว (แบบผ่อนส่ง) ได้ง่าย และนโยบายเก็บค่าธรรมเนียมการใช้รถ ค่าน้ำมันราคาต่ำ ทำให้คนไทยนิยมใช้รถส่วนตัวเพิ่มขึ้น ทำให้การจราจรคับคั่ง มีโอกาสเกิดอุบัติเหตุเพิ่มขึ้น รวมทั้งเกิดการสิ้นเปลืองพลังงาน เกิดมลภาวะเพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับการขนส่งสาธารณะที่ถ้าหากตั้งใจทำให้ดีขึ้นเหมือนในประเทศ เช่น ยุโรป ญี่ปุ่น แล้วจะแข่งขันกับการใช้รถส่วนตัวได้มากกว่าที่เป็นอยู่


3. เราไม่สนใจวิจัยและพัฒนาเรื่องความปลอดภัยอย่างจริงจัง เช่น การสร้างถนน ทางแยก เน้นปริมาณมากกว่าคุณภาพ ระบบสัญญาณการติดตั้งไฟส่องทางและอื่นๆ หลายจุดยังมีปัญหา และไม่มีใครคอยติดตามดูแลแก้ไขปรับปรุง เพราะบริหารงานกันแบบข้าราชการ ทำก็ได้ขั้น ไม่ทำก็ได้ขั้น ไม่มีการฝึกอบรม ตรวจสอบคนขับรถทั้งสาธารณะและส่วนตัว ที่มีประสิทธิภาพจริงจัง โดยเฉพาะคนขับรถสาธารณะ รถบรรทุก ควรมีการคัดเลือก ฝึกอบรม และติดตามการทำงานที่เข้มงวด รวมทั้งควบคุมความเร็ว ควบคุมสวัสดิการ ชั่วโมงการทำงานด้วย เช่น ไม่ให้คนหนึ่งขับรถเกินวันละ 8 ชั่วโมง


รถมอเตอร์ไซค์ที่มีปัญหา เกิดอุบัติเหตุมาก ส่วนหนึ่งเพราะมีมากและเพราะปล่อยให้มีการผลิตรถมอเตอร์ไซค์แบบแล่นได้เร็วเกินไป ควรกำหนดให้ลดขนาดเครื่องและความเร็วลง เพราะรถมอเตอร์ไซค์ที่ขับเร็วเป็นยานพาหนะเสี่ยงอันตรายมากที่สุด แต่เราให้ใบขับขี่กันง่าย คนก็มักคิดว่าขี่มอเตอร์ไซค์ง่าย แต่การรู้จักขี่อย่างปลอดภัยเป็นอีกเรื่องหนึ่ง คนขับขี่มอเตอร์ไซค์ที่ไม่เคยขับรถ ไม่เข้าใจว่าการขับรถในถนนมีข้อที่ต้องควรระวังอย่างไร คนขับขี่รถสาธารณะทุกประเภทและมอเตอร์ไซค์ควรถูกฝึกอบรมให้ดีและเข้มงวดเรื่องประวัติการขับขี่


4. ควรให้การศึกษาและพัฒนาเรื่องความรู้และจิตสำนึกในการรู้จักใช้ถนน รวมทั้งออกกฎหมายควบคุมอย่างคำนึงถึงความปลอดภัยทั้งตัวเองและคนอื่น เช่น ออกกฎหมายว่ารถต้องชะลอและหยุดเมื่อเห็นทางม้าลาย และมีคนเดินข้ามเหมือนในประเทศพัฒนาแล้ว เด็กจะต้องนั่งหลังรถ และมีที่นั่งรัดเข็มขัดสำหรับเด็กโดยเฉพาะ คนขี่และคนซ้อนมอเตอร์ไซค์ จักรยาน ต้องใส่หมวกกันน็อก รถทุกคันต้องมีเข็มขัดนิรภัยทุกที่นั่ง และคนนั่งต้องใส่เข็มขัดนิรภัย การตรวจจับคนขับดื่มเหล้า ถ้าพบควรปรับแรงขึ้น เช่น ห้ามขับขี่ 3-6 เดือน ห้ามร้านค้าในปั๊มน้ำมันและที่จอดพักรถตามถนนต่างๆ ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ฯลฯ


ข้อ 2-4 น่าจะลงมือทำได้เลยโดยใช้คนและงบประมาณไม่มาก หลายหน่วยงานควรเข้ามาช่วยเพราะลำพังตำรวจกับกรมทางหลวงในระบบราชการมีขีดความสามารถจำกัด ถ้าถือว่าเรื่องการเสียชีวิตและการพิการโดยไม่จำเป็นของคนไทยสำคัญ ควรตั้งคณะทำงานพิเศษหรือสำนักงานเพื่อแก้ไขปัญหานี้ โดยเฉพาะในช่วงระยะเวลา 5 ปี น่าจะทำให้การทำงานได้คล่องตัว มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น


ข้อ 1 เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่คนส่วนใหญ่ซึ่งคิดแต่เรื่องการบริโภคและเติบโตทางเศรษฐกิจไม่ได้คิดถึง หรือคิดว่าเป็นเรื่องที่คงจะแก้ได้หรือไม่ยากมาก แต่ปัญหาทางเศรษฐกิจ สังคม ทุกเรื่องสามารถแก้ได้ถ้าผู้นำรู้จักคิดนอกกรอบ รู้จักคิดถึงผลประโยชน์คนส่วนใหญ่ในระยะยาว มากกว่าห่วงแต่เรื่องผลประโยชน์อำนาจของตนเอง


แนวทางแก้ไขปัญหานี้คือ การเลือกพัฒนาเศรษฐกิจแนวพึ่งพาตนเอง และแนวสังคมนิยมประชาธิปไตย กระจายความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจไปสู่จังหวัดต่างๆ อย่างทั่วถึง เป็นธรรม กระจายอำนาจในการบริหาร และทรัพยากร งบประมาณสู่จังหวัดต่างๆ เพิ่มขึ้น เน้นการพัฒนาคน ทรัพยากรในประเทศ ตลาดภายในประเทศ แทนการเน้นการพึ่งพาการส่งออกและส่งเข้ามากเกินไป ทำให้จังหวัดต่างๆ มีโรงพยาบาล สถานศึกษาที่มีคุณภาพ มีงบประมาณ กำลังคนออกไปช่วยพัฒนาเศรษฐกิจสังคมของจังหวัดให้เติบโต แบบพึ่งพาตนเองได้เพิ่มขึ้น ทำให้คนในจังหวัดมีงานทำ มีชีวิตที่ดีหรือพอเพียงได้ โดยไม่จำเป็นต้องอพยพไปหางานทำหรือเรียนในกรุงเทพฯ


การแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างที่กล่าวมา นอกจากเราจะลดปัญหาการตายจากอุบัติเหตุลงได้แล้ว เรายังจะลดปัญหาทางเศรษฐกิจสังคมอื่นๆ ที่เกิดจากการที่คนมาอยู่อาศัยร่วมกันอย่างแออัดในเมืองที่ใหญ่โตมากไปอย่างกรุงเทพฯ ได้หลายประการ และทำให้คนไทยส่วนใหญ่คงอยู่ในท้องถิ่นได้ หรือคนกรุงเทพย้ายไปอยู่ต่างจังหวัดโดยมีชีวิตที่ดีขึ้น ช่วยพัฒนาประเทศได้ดีขึ้น (อ่านเพิ่มเติม วิทยากร เชียงกูล เศรษฐศาสตร์แนวใหม่ เพื่อชีวิตและระบบนิเวศที่สันติสุข กรุงเทพธุรกิจ 2556)