วิปโยค...เนปาล

วิปโยค...เนปาล

เหตุร้ายแรงครั้งนี้เกิดในประเทศที่ยากจน, ผู้คนหนาแน่น, ด้อยพัฒนา และเรียงรายไปด้วยบ้านเรือน

ที่สร้างอย่างผิดหลักผิดเกณฑ์อย่างน่ากลัว

แผ่นดินไหวครั้งเลวร้ายก่อนครั้งนี้สำหรับเนปาลเกิดเมื่อปี ค.ศ.1934 หรือ 81 ปีมาแล้ว

ครั้งนั้นมีคนเสียชีวิต 10,000 คน

ครั้งนี้ยอดผู้เสียชีวิตถึงขณะที่เขียนอยู่เกิน 2,200 คนแล้ว และยังไม่อาจประเมินได้ว่าจะเจอศพอีกเท่าไหร่ในซากปรักหักพัง ทั้งในเมืองหลวงกัฐมัณฑุและเมืองใกล้เคียงไปถึงเมืองโพคารา

ขณะที่เขียนอยู่นี้ บีบีซีประเมินว่ายอดผู้ตายอาจจะสูงถึง 4,500 คน แต่เอาเข้าจริง ๆ ก็ยังไม่มีใครสามารถคาดการณ์ได้แม่นยำว่าท้ายที่สุดโศกนาฏกรรมคราวนี้จะต้องสังเวยผู้เสียชีวิต, บาดเจ็บและไร้ที่อยู่อาศัยและญาติมิตรกี่คนกันแน่

เรื่องน่าสลดอย่างยิ่งก็คือ ความจริงนักธรณีวิทยาเพิ่งจะพบหลักฐานจากการสำรวจหลายปีว่า เนปาลจะต้องเผชิญกับแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ แต่ไม่มีใครทำนายได้ว่าจะเกิดเมื่อไหร่

หนึ่งสัปดาห์ก่อนหน้านี้เอง ผู้เชี่ยวชาญด้านแผ่นดินไหวประมาณ 50 คน จากหลายประเทศทั่วโลกมาประชุมที่เมืองหลวง และสรุปว่ามีข้อมูลที่น่าเชื่อได้ว่า เนปาลอาจจะเจอกับวิกฤตแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ เพราะแผ่นดินของทวีปอินเดียเคลื่อนตัวอย่างช้า ๆ ไปอยู่ใต้เนปาลและทิเบต ด้วยความเร็วปีละ 1.8 นิ้ว

ว่ากันว่าเพราะการเคลื่อนตัวของแผ่นดินเป็นล้าน ๆ ปีนี่แหละ ที่ดันให้เทือกเขาหิมาลัยสูงขึ้นและเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดแผ่นดินไหวเป็นระยะ ๆ ในปากีสถานและพม่า

ผู้เชี่ยวชาญบอกว่าความจริงการเกิดแผ่นดินไหวครั้งนี้ในเนปาล (ซึ่งกระจายตัวไปถึงบริเวณใกล้เคียงเช่นอินเดีย, บังกลาเทศ, ทิเบต และภูฏานบางส่วน) ไม่ใช่เรื่องแปลกหรือคาดไม่ถึง แต่ไม่มีใครคิดว่ามันจะใหญ่และร้ายแรงขนาดนี้

เนปาลมีประชากร 27 ล้านคน เป็นประเทศที่ยากจนที่สุดประเทศหนึ่งของโลก ตั้งอยู่ในเทือกเขาหิมาลัย ทางเหนือคือจีน เพื่อนบ้านทางใต้ ตะวันออก และตะวันตกคือ อินเดีย

เนปาลเป็นเพื่อนบ้านบังกลาเทศโดยมี “ฉนวนศิลิกูริ” (Siliguri Corridor) ของอินเดียขั้นอยู่บาง ๆ

อีกด้านหนึ่งเนปาลอยู่ประชิดภูฏาน โดยมีสิขิมของอินเดียคั่นอยู่

ใครไปเนปาลก็ต้องชื่นชมความสวยงามและอลังการของเทือกเขาหิมาลัย เพราะทางเหนือของประเทศคือ ยอดเขาสูงสุดของโลก 8 ลูกจากทั้งหมด 10 เทือก

และเทือกเขาสูงสุดของโลกคือ Everest ก็อยู่ในเนปาล

นอกจากนั้นกว่า 240 ยอดเขาที่สูงเกิน 20,000 ฟุตเหนือระดับน้ำทะเลก็อยู่ในเนปาลนี่แหละ

เนปาลยังเป็นประเทศด้อยพัฒนา มีปัญหาความยากจนอยู่มาก ปีที่แล้ว รายงาน ดัชนีการพัฒนามนุษย์ หรือ Human Development Index (HDI) ให้เนปาลอยู่อันดับที่ 145 จากทั้งหมด 187 ชาติ

การเมืองเนปาลวุ่นวายผันผวนตลอด จากระบบกษัตริย์สู่สาธารณรัฐในปี 2008 หรือเมื่อ 5 ปีที่แล้ว ภายใต้การปกครองของรัฐบาลที่มีพรรคคอมมิวนิสต์และพรรคซ้ายเหมา (Maoist) สลับกันครองอำนาจ แต่การเมืองก็ขาดเสถียรภาพ รัฐบาลผสมจากพรรคการเมืองต่าง ๆ อยู่ได้ไม่นานก็ถูกโค่น

ในเดือนกุมภาพันธ์ ปีที่แล้ว พรรคใหญ่สองพรรคตกลงกันได้ ตั้งรัฐบาลภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี ซูชิล คอยราล่า (Sushi Koirala) ซึ่งก็ดูเหมือนจะสามารถนำความสงบสู่แวดวงการเมืองอีกครั้งหนึ่ง เศรษฐกิจของเนปาลระยะหลังกระเตื้องขึ้นตามลำดับ รัฐบาลรับปากว่าจะนำพาประเทศให้พันจากสถานะ ด้อยพัฒนาที่สุด ภายในปี 2022 หรือจากนี้ไปอีก 7 ปี

แต่เมื่อต้องเผชิญกับความเสียหายอันเกิดจากแผ่นดินไหวครั้งใหญ่เช่นนี้ แผนการสร้างประเทศของเนปาลก็คงจะต้องชะงักอีกครั้งหนึ่ง

ยกเว้นเสียแต่ว่าผู้นำประเทศจะสามารถใช้วิกฤตครั้งนี้ ระดมสรรพกำลังของประชาชนเพื่อปลุกกระแสความรักชาติและความสมัครสมานสามัคคี เพื่อกู้ประเทศให้พ้นจากความยากจนและความท้อแท้อย่างจริงจัง

นักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญของไทยอาจจะยังถกเถียงกันว่า รอยเลื่อนจากเนปาลจะมีผลกระทบต่อไทยในวันข้างหน้ามากน้อยเพียงใด แต่คนไทยก็ประมาทไม่ได้ เพราะยังไม่มีศาสตร์ใดสามารถทำนายแผ่นดินไหวได้ถูกต้องแม่นยำ

มนุษย์ต้องเตรียมตัวสำหรับภัยธรรมชาติที่คาดการณ์ล่วงหน้าไม่ได้ตลอดเวลา และแม้คนไทยจะเชื่อว่าโชคดีกว่าหลายประเทศ ที่ไม่ได้ตั้งอยู่ในภูมิศาสตร์ของรอยเลื่อนแผ่นดินไหวที่รุนแรง แต่ที่เราเคยเจอมาแล้ว แม้จะเบาบางกว่าเนปาลหลายเท่า แต่ก็สร้างความตื่นตระหนกไม่น้อย

  เราจึงต้องเรียนรู้จากวิปโยคของเนปาลอย่างจริงจังและรอบด้าน