การเติบโตของมหานคร (Urbanization)

การเติบโตของมหานคร (Urbanization)

ผมได้อ่านข้อมูลจากหลายๆ สำนักว่าแนวโน้มที่สำคัญอย่างหนึ่งของโลกก็คือการเคลื่อนตัวของประชากรที่เข้ามาอยู่ในเมืองมากขึ้น

ทำให้เกิดการเติบโตและขยายของตัวเมืองหรือที่เรียกกันว่า Urbanization ซึ่งเจ้าผลของ Urbanization นั้นถือว่ามีผลกระทบในวงกว้างเลยครับ ทั้งต่อภูมิศาสตร์ สังคม เศรษฐกิจ การวางผังเมือง สาธารณสุข หรือ แม้กระทั่งต่อการเติบโตทางธุรกิจท่านผู้อ่านลองนึกภาพดูนะครับว่าการเข้ามาอยู่และเติบโตของเมืองขนาดใหญ่ จะส่งผลต่อธุรกิจอย่างไรบ้าง?


เริ่มตั้งแต่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ตามด้วยค้าปลีก โรงพยาบาล สถานศึกษา การคมนาคมขนส่ง ร้านอาหาร ฯลฯ นอกจากการเติบโตและขยายตัวของธุรกิจแล้ว พฤติกรรมของคนที่อยู่ในเมืองที่มีขนาดใหญ่โตขึ้นก็ย่อมจะต่างจากเดิม ซึ่งผมเองก็ตั้งข้อสงสัยมานานแล้วว่า ภาวะของ Urbanization นั้นก็กล่าวขวัญกันมานานแล้ว แล้วสภาวะของ Urbanization ของเมืองไทยจะเป็นอย่างไร?


ล่าสุดมาเจอรายงานของ The World Bank หรือธนาคารโลก ที่เผยแพร่เมื่อต้นเดือนมกราคมที่ผ่านมาครับ โดยเขาศึกษาถึงการเติบโตของเมืองในประเทศกลุ่มเอเชียตะวันออก (ตั้งแต่ไทยไปทางตะวันออก) แล้วก็ได้ผลที่น่าสนใจโดยเฉพาะของประเทศไทยครับ


เมืองขนาดใหญ่ในประเทศไทยนั้นหลักๆ ก็คือกรุงเทพฯ ซึ่งในเชิงพื้นที่แล้วมีขนาดใหญ่อันดับ 5 ของเอเชียตะวันออก และลำดับที่ 9 ในเชิงของประชากร ในขณะที่ไม่มีจังหวัดหรือตัวเมืองแห่งอื่นในประเทศไทยที่มีประชากรมากกว่า 500,000 คนเลย (เขาไม่ได้ดูที่พื้นที่ทั้งจังหวัดนะครับ แต่ดูการกระจุกตัวของคนในเขตเมืองครับ)


โดยทาง World Bank เขากำหนดนิยามไว้ครับว่า Urban Area หรือเขตเมืองนั้น จะต้องมีประชาชนอยู่อาศัยไม่ต่ำกว่า 100,000 คน ซึ่งสำหรับประเทศไทยแล้ว Urban Area ที่ใหญ่ที่สุดก็คือกรุงเทพฯ


ปัจจุบันจำนวนประชากรที่อยู่ในกรุงเทพฯ นั้นอยู่ที่ 9.6 ล้านคนในปี 2010 ซึ่งเขาจะใช้เกณฑ์ว่าถ้ามีประชากรอยู่ในเขตเมืองถึง 10 ล้านคน จะถือเป็น megacities อีกข้อมูลหนึ่งที่น่าสนใจคือตามรายงานของธนาคารโลกนั้น ส่วนที่เป็น Bangkok Urban area นั้น เขาไม่ได้ดูในเชิงเขตพื้นที่การปกครอง แต่พิจารณาที่ความหนาแน่นของประชากร ดังนั้น กว่าร้อยละ 60 ของ Bangkok Urban area ตามคำนิยามของธนาคารโลกนั้น อยู่นอกเขตจังหวัดกรุงเทพมหานคร (แสดงว่าการเติบโตนั้นจะกระจายไปยังจังหวัดต่างๆ ที่อยู่ติดกับกรุงเทพ)


สำหรับจังหวัดที่มีการเติบโตของตัวเมือง (Urban Area) มากที่สุดนั้นคือสุราษฎร์ธานี ที่มีการเติบโตสูงสุดทั้งในเชิงประชากรและเขตพื้นที่ ที่น่าแปลกใจคือหาดใหญ่กลับเป็น Urban Area ที่มีประชากรอาศัยอยู่หนาแน่นที่สุด (5,900 คนต่อตารางกิโลเมตร)


คราวนี้เรามาดูข้อมูลของระดับภูมิภาคบ้างนะครับ ธนาคารโลกเขาเก็บข้อมูลของเอเชียตะวันออก (East Asia) ซึ่งก็คือตั้งแต่ประเทศไทยไปจรดญี่ปุ่น และพบว่าตั้งแต่ปี 2000 ถึง 2010 คนในภูมิภาคนี้ได้ย้ายถิ่นฐานจากพื้นที่ชนบทไปสู่พื้นที่ในเมือง เป็นจำนวนถึง 200 ล้านคน หรือ ถ้าคิดเป็นประเทศ ก็จะเป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดเป็นอันดับ 6 ของโลกเลยทีเดียว


แนวโน้มที่เห็นได้อย่างชัดเจนในภูมิภาคนี้ก็คือบริเวณเมือง หรือ Urban Areas นั้นมีการขยายตัวตลอดเวลาและเติบโตขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งปัจจุบันก้าวข้ามเขตพื้นที่การปกครองไปแล้ว และจากภาวะการขยายตัวของเมืองต่างๆ ก็ทำให้ Urban Areas ต่างๆ มีการรวมตัวกันมากขึ้น ไม่ต้องดูอื่นไกลก็ได้นะครับ การจะแบ่งแยกพื้นที่ ระหว่างกรุงเทพ นนทบุรี สมุทรปราการ ปทุมธานี สมุทรสาคร นั้นจะลำบากขึ้นทุกขณะ และคนที่ทำงานในกรุงเทพนั้น จริงๆ แล้วจะมีกี่เปอร์เซ็นต์ที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพ ทำให้ในปัจจุบันร้อยละ 40 ของ Urban Areas ในภูมิภาคนี้ ที่ไม่ใช่แค่เมือง เมืองเดียวนะครับ แต่เป็นการรวมกันของเมืองที่มากกว่า 1 เมืองขึ้นไป


ซึ่งการเติบโตและขยายของเมืองเหล่านี้ จะถือเป็นความท้าทายที่สำคัญของคนในหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการวางแผนในด้านต่างๆ ทั้งในเรื่องของที่อยู่อาศัย การทำงาน การขนส่งคมนาคม หรือ แม้กระทั่งการเติบโตของธุรกิจต่างๆ (ซึ่งการเติบโตของเมืองก่อให้เกิดทั้งโอกาสและข้อจำกัดที่แตกต่างกันออกไปของแต่ละธุรกิจ) อย่างไรก็ดี ผมเชื่อว่าเรื่องของ Urbanization จะเป็นอีกแนวโน้มหนึ่งที่สำคัญที่กำลังเกิดขึ้น และเกิดขึ้นแน่ๆ ที่จะส่งผลกระทบต่อหลายๆ ธุรกิจ หลายๆ อุตสาหกรรม เพียงแต่เราจะวางแผนเพื่อรับมือกับแนวโน้มนี้ได้อย่างไร?