รัฐธรรมนูญสั้นๆ กับรัฐธรรมนูญยาวๆ (2)

รัฐธรรมนูญสั้นๆ กับรัฐธรรมนูญยาวๆ (2)

เมื่อไม่นานมานี้ ได้แสดงความเห็นในบทความเกี่ยวกับความยาวที่เหมาะสมสำหรับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับใหม่ว่าควรมีความยาวมากน้อยเพียงไร

จึงจะเหมาะสมการกำหนดกติกาสูงสุดของประเทศ และได้สรุปสั้นๆ ว่ารัฐธรรมนูญควรเป็นบทบัญญัติที่กำหนดกฎกติกาของประเทศที่เป็นเรื่องที่ครอบคลุมในมิติทางสังคมของประเทศอย่างกว้างๆ ส่วนเรื่องที่เป็นกิจการเฉพาะไม่ว่าจะเป็นเรื่องฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร และฝ่ายตุลาการ รวมตลอดถึงองค์กรอิสระ ควรจะเป็นเรื่องของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้นความยาวของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จึงไม่น่าจะมากกว่า หนึ่งร้อยมาตรา และเมื่อพิจารณาจากร่างรัฐธรรมนูญฉบับแรกที่คณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญกำลังเสนอให้สภาปฏิรูปแห่งชาติพิจารณาขณะนี้ น่าจะประกอบไปด้วย 

บททั่วไป ตั้งแต่ มาตรา 1 ถึง 7 รวม 7 มาตรา เรื่องพระมหากษัตริย์ ตั้งแต่ มาตรา 8 ถึง 25 รวม 18 มาตรา เรื่องความเป็นพลเมืองและหน้าที่ของพลเมือง ตั้งแต่มาตรา 26 ถึง 28 รวม 3 มาตรา เรื่องสิทธิเสรีภาพของบุคคล ตั้งแต่มาตรา 29 ถึง 33 รวม5  มาตรา เรื่องสิทธิมนุษยชน ตั้งแต่มาตรา 34 ถึง 45 รวม 12 มาตรา เรื่องสิทธิพลเมือง มาตรา 46 ถึง 64 รวม 19 มาตรา เรื่อง การมีส่วนร่วมทางการเมือง ตั้งแต่มาตรา 65 ถึง 68 รวม 5 มาตรา เรื่องการมีส่วนร่วมในการตรวจสอบ ตั้งแต่มาตรา 69 ถึง 72 รวม 4  มาตรา เรื่องผู้นำการเมืองที่ดีและระบบผู้แทนที่ดี ตั้งแต่มาตรา 73 ถึงมาตรา 77 รวม 5 มาตรา และเรื่องแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ ตั้งแต่มาตรา 78 ถึง 95 รวม 18 มาตรา ซึ่งทั้งหมด 95 มาตรานี้ครอบคลุมในหลักการทั่วไปในทุกเรื่องของสังคมประเทศไทย สามารถถือเป็นแกนหลักที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญและกฎหมายอื่นๆ จะต้องกำหนดไว้ในบทบัญญัติของกฎหมายนั้นๆ เท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งต่อบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ 95 มาตราข้างต้น อย่างไรก็ตาม อาจมีการนำเรื่องที่เกี่ยวกับการตราพระราชบัญญัติและพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ และเรื่องการควบคุมการตรากฎหมายที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาเป็นส่วนเสริมในรัฐธรรมนูญได้ตามความเหมาะสม

สำหรับเรื่องอื่นๆ นอกเหนือไปกว่านี้ควรเป็นบทบัญญัติที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นกฎหมายลูกของรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะประกอบด้วย พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยรัฐสภา สภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะรัฐมนตรี พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการคลังและการงบประมาณ  พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างข้าราชการ นักการเมืองและประชาชน พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการกระจายอำนาจและการบริหารท้องถิ่น พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยศาลและกระบวนการยุติธรรม พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยศาลรัฐธรรมนูญ ศาลยุติธรรม ศาลปกครองและศาลทหาร พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยองค์กรตามรัฐธรรมนูญซึ่งมีหน้าที่ตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ รวมทั้งความเป็นไปได้ที่จะรวมเรื่องของการปฏิรูปและการสร้างความปรองดอง และเรื่องการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ มาเป็น พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ด้วยเช่นกัน

การปรับรูปแบบของรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องที่น่าจะทำได้ตามที่กล่าวถึงข้างต้นโดยไม่มีผลกระทบกับการร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ โดยคณะกรรมการยกร่างฯจะต้องพิจารณายกร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญไปพร้อมๆ กัน ซึ่งจะมีความสอดคล้องและล้อกันไปในทุกบริบท พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ โดยหลักการแล้วมีศักดิ์ต่ำกว่ารัฐธรรมนูญแต่เหนือกฎหมายทั่วไปอื่นๆ ฉะนั้นจึงเป็นเรื่องที่เหมาะสมที่คณะกรรมการยกร่างฯจะพิจารณาไปพร้อมๆ กับการร่างรัฐธรรมนูญ

ถ้าเราต้องการให้รัฐธรรมนูญเป็นบทบัญญัติที่กำหนดกฎกติกาของประเทศที่ประชาชนสามารถรับรู้ เข้าถึง และนำไปใช้ปฏิบัติได้ในชีวิตประจำวัน จะต้องเป็นกฎกติกาที่ชัดเจน เรียบง่าย และประชาชนไม่สับสน หลักการเขียนรัฐธรรมนูญที่ดี ไม่ได้หมายถึงการเขียนที่ลงรายละเอียดและซับซ้อนจนยากที่ประชาชนคนธรรมดาจะเข้าใจได้ แต่ต้องเป็นรัฐธรรมนูญที่ประชาชนทุกภาคส่วนสามารถทำความเข้าใจ และมีความเข้าใจตรงกัน เพราะในที่สุดแล้ว เมื่อมีปัญหาที่ต้องตีความในบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ทุกคนจะตีความในแนวทางเดียวกัน เพราะมีความเข้าใจตรงกันในประเด็นปัญหา

------------------------- 

(หมายเหตุ บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน ไม่เกี่ยวข้องกับการทำหน้าที่อนุกรรมาธิการวิสามัญสังเคราะห์ประเด็นปฏิรูป สภาปฏิรูปแห่งชาติ)