กระทบไหล่ ‘นายกฯน้อย’ญี่ปุ่น

กระทบไหล่ ‘นายกฯน้อย’ญี่ปุ่น

ผมเพิ่งกลับมาจากญี่ปุ่น ไปกระทบไหล่กับนักการเมืองคนสำคัญของญี่ปุ่น และตั้งวงวางแผนเสริมพลัง

ของสื่อในเอเซียทั้งปวง โดยที่สื่อไทยอยู่ในแถวหน้าของการต่อยอด ความเป็นมืออาชีพของคนข่าว ร่วมกันไม่น้อยกว่า 20 ประเทศในภูมิภาคนี้

เครือข่ายหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษชั้นนำของเอเซียที่มีชื่อว่า Asia News Network (ANN) ที่รวมตัวกันเพื่อแลกเปลี่ยนข่าว, รูปและการฝึกปรือคนข่าวร่วมกันมา 16 ปีมีเครือเนชั่นของไทยเราเป็นแกนร่วมก่อตั้ง และเป็นสำนักเลขาธิการในกรุงเทพฯเป็นตัวอย่างของคนข่าวมืออาชีพที่ร่วมประสานกันอย่างเหนียวแน่น

หลังประชุมเสร็จ คณะบรรณาธิการของ ANN นำโดยบรรณาธิการของ Japan News ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ Yomiuri Shimbun หนังสือพิมพ์ยอดจำหน่ายสูงสุดของโลก (วันละ 10 ล้านฉบับ) เข้าพบเพื่อสัมภาษณ์พิเศษมือขวาของนายกฯชินโซะ อาเบะ

เขาคือ Yoshihide Suga ตำแหน่งทางการคือ Chief Cabinet Secretary แปลตรงตัวคือ เลขาธิการใหญ่ของคณะรัฐมนตรี แต่ตำแหน่งนี้ในโครงสร้างการเมืองญี่ปุ่นไม่ใช่แค่เลขาฯ ครม. หรือโฆษกรัฐบาล แต่เป็นคนที่นายกฯไว้วางใจที่สุด อยู่เหนือรัฐมนตรีทั่วไป และเป็นคนประสานระหว่างนายกฯกับนักการเมืองทุกสายทุกพรรค

คุณซูกะมีสมญานามว่าเป็น “Shadow Prime Minister” หรือ นายกรัฐมนตรีเงา หรือหากเป็นภาษาการเมืองไทยก็จะเรียกว่า นายกฯน้อย เพราะแกเป็นคนทรงอิทธิพล เป็นคนร่างนโยบายของรัฐบาล และเป็นเงาของนายกฯอาเบะทีเดียว

เพื่อนนักข่าวญี่ปุ่นคนหนึ่งบอกผมว่าคุณซูกะเป็นคนร่างนโยบายสำคัญๆ ของนายกฯอาเบะ โดยเฉพาะแถลงการณ์แสดงจุดยืนของนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นเนื่องในโอกาสครบรอบ 70 ปีหลังการสิ้นสุดของสงครามโลกครั้งที่สอง ที่จะออกสู่ประชาคมโลกในเดือนสิงหาคมนี้ด้วย

ระหว่างการสัมภาษณ์เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา คุณซูกะยืนยันว่าญี่ปุ่นจะใช้ “peaceful solutions through strong diplomacy from the position of a proactive contribution to peace based upon the principle of international cooperation” ในการดำเนินนโยบายเกี่ยวกับจีน, เกาหลีใต้, และความขัดแย้งระหว่างจีนกับอาเซียนบางประเทศในทะเลจีนใต้

คำว่า strong diplomacy แปลว่าจะเน้น การทูตที่แข็งแกร่ง อาจหมายความว่าจะไม่อ่อนปวกเปียก จะมีจุดยืนมั่นคง และจะใช้ proactive contribution to peace อันเป็นการตอกย้ำว่าญี่ปุ่นจะใช้วิธีการ เชิงรุก มากกว่า เชิงรับ อย่างที่เคยเห็นมา

แต่ก็ยังยืนยันว่าจะต้องยึดพื้นฐานของ ความร่วมมือระหว่างประเทศ เป็นสำคัญ

คุณซูกะเน้นหลายครั้งระหว่างการให้สัมภาษณ์ว่าญี่ปุ่นกับจีนต้องร่วมมือกันเพื่อเสริมสร้างสันติภาพและเสถียรภาพสำหรับภูมิภาคนี้เพราะจีนเป็นเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 2 และญี่ปุ่นเป็นอันดับ 3 ของโลก จึงต้องพึ่งพาซึ่งกันและกัน และต้องร่วมมือกันสร้างบรรยากาศแห่งความเป็นมิตรบนพื้นฐานของความเข้าใจและร่วมมือกัน ป้องกันไม่ให้เกิดความขัดแย้ง และมองไปในอนาคตมากกว่าจะย้อนไปดูอดีต

แกเน้นว่าคำว่า “future-oriented” หลายรอบเช่นกัน เพราะญี่ปุ่นไม่ต้องการให้เรื่องในอดีตมาเป็นอุปสรรคในการสร้างความสัมพันธ์กับประเทศยักษ์ใหญ่โดยเฉพาะเมื่อปีนี้ครบรอบ 70 ปีหลังการสิ้นสุดของสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งเป็นโอกาสที่ทั้งโลกถามหา คำขอโทษ ของต่อการความโหดร้ายทารุณของทหารญี่ปุ่นในช่วงสงคราม

นักการเมืองระดับสูงของญี่ปุ่นยังเกร็งๆ กับการให้สัมภาษณ์สื่อต่างประเทศ ต้องขอคำถามก่อน และเขียนคำตอบเอาไว้ล่วงหน้า ต่างฝ่ายต่างอ่านคำถามและคำตอบจากกระดาษ ทำให้ไม่มีโอกาสซักไซ้ไล่เรียงกันถึงเบื้องลึกของนโยบายได้

เพิ่งเห็นนายหลี่เค่อฉียง นายกรัฐมนตรีจีนให้สัมภาษณ์นักข่าว Financial Times อย่างละเอียด ซักถามกันหลายประเด็นสด ๆ ได้ (นักข่าวจีนบอกผมว่าเดิมนายกฯจีนให้เวลาครึ่งชั่วโมง แต่นายกฯจีนยอมตอบคำถามยาวถึง 2 ชั่วโมง)

แนวทางของผู้นำจีนต่อสื่อต่างประเทศอย่างนี้ต้องถือว่าเป็นเรื่องใหม่ อาจเพราะผู้นำปักกิ่งตระหนักแล้วว่าการจะสู้กับสหรัฐฯและตะวันตกในสงครามข่าวสารได้จะต้องพร้อมตอบคำถามของสื่อ ไม่ใช่เพียงใช้กลไกโฆษณาชวนเชื่อของรัฐอย่างเดียว แล้วจะสร้างความเข้าใจกับประชาคมโลกได้

อีกหน่อย ผู้นำญี่ปุ่นก็จะต้องปรับตัว ต้องพร้อมจะนั่งลงตอบคำถามสื่อต่างประเทศอย่างตรงไปตรงมา เพื่อแสดงจุดยืนของตนให้ชัดเจน ไม่ใช่ถาม-ตอบกันบนกระดาษอย่างที่ผ่านมา

เพราะการเมืองระหว่างประเทศจากนี้ไปต้องมีความโปร่งใส, ชัดเจนและตอบทุกคำถามจึงจะสร้างความน่าไว้เนื้อเชื่อใจจริง ๆ ได้