วิบากกรรม1ปีทีวีดิจิทัล(2):เหตุผลที่ไม่ใช่-ขอเลื่อนจ่ายงวด2

วิบากกรรม1ปีทีวีดิจิทัล(2):เหตุผลที่ไม่ใช่-ขอเลื่อนจ่ายงวด2

อ่านเหตุผลของมติคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม (กสทช.)

เมื่อวันที่ 22 เม.ย.ให้ช่วยเหลือผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล ในการเลื่อนชำระเงินงวด 2 แบบมีเงื่อนไขจ่ายดอกเบี้ยด้วย แล้วต้องขอแย้งและยืนยันอีกครั้งว่าวิบากกรรมของทีวีดิจิทัลในปีแรกที่หนักหนาสาหัส ทั้งหมดเกิดมาจากการทำงานของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์(กสท.)


ไม่ได้เกิดจากปัญหาการชุมนุมทางการเมือง, เศรษฐกิจตกต่ำและโครงข่ายไม่สามารถขยายได้ตามระยะเวลาที่กำหนด ตามที่เลขาธิการกสทช.“ฐากร ตัณฑสิทธิ์” ออกมาแถลงช่วยเหลือทีวีดิจิทัลแบบมีเงื่อนไขคิดดอกเบี้ย


สองปัญหาแรกคือการชุมนุมทางการเมืองกับเศรษฐกิจตกต่ำเป็นปัญหาของ “ประเทศ” ที่คนไทยทุกคนเผชิญอยู่จริง ไม่ใช่ปัญหาเฉพาะของทีวีดิจิทัล ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลไม่เคยอ้างเหตุผลนี้ ในการขอความช่วยเหลือเลื่อนชำระเงินประมูลงวดที่ 2


ปัญหาโครงข่ายเป็นปัญหาที่เกี่ยวข้องโดยตรง แต่เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นจากการกำกับดูแล ผู้ถือใบอนุญาตประกอบกิจการโครงข่ายที่กสท. ออกให้ไป 5 ใบอนุญาต 4 รายที่ไม่มีประสิทธิภาพ


สถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 ได้รับใบอนุญาตโครงข่ายไป 2 โครงข่าย, สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส,อสมท.และกรมประชาสัมพันธ์ได้รับใบอนุญาตไปแห่งละ 1 ใบ แต่มีเพียงช่อง 5 กับไทยพีบีเอสที่สามารถขยายโครงข่ายได้ตามกำหนดระยะเวลาเท่านั้น แต่ไม่เคยมีกระบวนการกำกับดูแลจากกสท.ในเชิงคุณภาพให้ภาครับได้อย่างทั่วถึงในแต่ละจังหวัดจริงๆ  


อสมท.มีปัญหาการประมูลจัดซื้อเครื่องส่งทีวีดิจิทัลที่แพงกว่าราคากลางมาก อันเนื่องมาจากปัญหาการบริหารงานภายในองค์กรในช่วงสุญญากาศทำให้การขายโครงข่ายล่าช้า


กสท.ละเลยในการ“ลงแส้” ให้อสมท.ปฏิบัติตามเงื่อนไขใบอนุญาตในการขยายโครงข่าย อสมท.เลี่ยงไปใช้วิธีเช่าเครื่องส่งพอเป็นพิธีเพื่อไม่ให้ผิดเงื่อนไขกสท.มากนัก ในหลายๆพื้นที่มีเครื่องส่งแต่กำลังส่งต่ำกว่าเกณฑ์


กรมประชาสัมพันธ์ไม่มีความคืบหน้าใดๆในการลงทุนขยายโครงข่าย แต่กสท.ก็ละเลยไม่ได้ใช้อำนาจตามกฎหมายในการลงโทษ ทำให้จนถึงบัดนี้โครงข่ายของกรมประชาสัมพันธ์ ก็ยังไม่มีกำหนดเวลาแน่นอนจะเสร็จตามแผนเมื่อไหร่


ส่งผลให้กระบวนการอนุมัติให้ใบอนุญาต“ทีวีดิจิทัลแบบบริการสาธารณะ” จะต้องล่าช้าออกไปอย่างไม่มีกำหนด รวมทั้ง “ทีวีดิจิทัลภาคชุมชน” ในแต่ละโครงข่ายในแต่ละพื้นที่ยังต้องร้องเพลงรอต่อไป


กสท.ได้ให้ใบอนุญาตโครงข่ายแบบกึ่งผูกขาด 4 ราย โดยไม่เปิดกว้างให้ยื่นขอใบอนุญาตเพื่อให้เกิดการแข่งขัน แสดงการกีดกั้นบริษัทเอกชนและรัฐวิสาหกิจบางรายไม่ให้มีโอกาสยื่นขอใบอนุญาตโครงข่ายหลัก ผลักให้ไปอยู่ในส่วนโครงข่ายเสริมหรือ Filler Gap ทั้งๆที่บริษัทเอกชนหลายรายได้แสดงความพร้อมในการลงทุนสร้างโครงข่ายทีวีดิจิทัล


ข้อผิดพลาดของกสท.คือการตัดสินใจให้ใบอนุญาตโครงข่ายอยู่ในมือของสถานีโทรทัศน์เดิม 4 ราย ที่ไม่ได้สร้างบรรยากาศของการแข่งขันในการให้บริการ แตกต่างจากผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล 24 ช่องที่กสท. สามารถสร้างบรรยากาศการแข่งขันได้อย่างเข้มข้น


เมื่อการออกใบอนุญาตโครงข่ายอยู่ในสภาพ“กึ่งผูกขาด” ทำให้ไม่มีบรรยากาศของการแข่งขันในการให้บริการ ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลหลายช่องที่ตัดสินใจใช้บริการโครงข่ายอสมท. ที่ไม่มีความพร้อมจำต้องรับชะตากรรมไปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้


ในขณะที่กสท.ที่มีหน้าที่ในการกำกับดูแลการขยาย โครงข่ายทีวีดิจิทัลให้เป็นไปตามกำหนดไม่ได้ใส่ใจอย่างเพียงพอ เพื่อกำกับให้การขยายโครงข่ายมีความพร้อมก่อนการประมูลทีวีดิจิทัลในช่วงปลายเดือนธ.ค. 2556 หลังจากได้มีการออกใบอนุญาต และมีการทดลองออกอากาศไปนานเกือบหนึ่งปีแล้ว


ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลไม่เคยร้องเรียนขอความช่วยเหลือเลื่อนชำระเงินประมูลงวดที่ 2 ด้วยเหตุผลจากการชุมนุมทางการเมืองและเศรษฐกิจตกต่ำ เพราะทุกรายได้เข้าประมูลเมื่อปลายเดือนธ.ค. 2556 ในช่วงที่การชุมนุมทางการเมืองยังไม่ได้ยุติและทราบอยู่แล้ว ว่าไม่มีใครคาดการณ์ได้ว่าจะยุติเมื่อไหร่ รวมทั้งทราบถึงภาวะเศรษฐกิจตกต่ำที่เกิดขึ้นมาต่อเนื่อง ตั้งแต่เริ่มต้นชุมนุมทางการเมืองในช่วงต้นเดือนต.ค.2556


แต่ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล 24 ช่อง ยื่นหนังสือทั้งในนามชมรมผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล และสมาพันธ์ผู้ประกอบการวิทยุกระจายเสียงและโทรทัศน์ แสดงเหตุผลหลักๆ คือความล่าช้าในการแจกคูปองเพื่อนำไปแลกกล่องรับสัญญาณทีวีดิจิทัล ที่มีการถกเถียงประชาพิจารณ์กันใหม่ ทำให้ระยะเวลาการแจกคูปองล่าช้าจากเดิมไม่เกิน 45 วันหลังจากเริ่มทดลองออกอากาศตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 2557


หลังจากประชาพิจารณ์กว่าจะเริ่มแจกคูปองได้ล่วงเลยไปถึงวันที่ 10 ต.ค. 2556 แล้วให้เริ่มนำคูปองแลกกล่องรับสัญญาณภาคพื้นดิน( DVB T2)ได้ตั้งแต่วันที่ 20 ต.ค. 2557 ล่าช้ากว่าเดิมประมาณ 5 เดือนที่เป็นช่วงเวลาวิบากกรรมของทีวีดิจิทัลที่อยู่ในสภาพเหมือน“ปลาขาดน้ำ” สนามแข่งขันยังไม่เสร็จ โครงข่ายขยายไปต้องจ่ายเงินครบถ้วนแต่กลับไม่มีคนเข้ามาดูได้จากภาคพื้นดิน


ความล่าช้าที่เป็นปัจจัยเชิงลบที่ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลคาดไม่ถึงvไม่ได้อยู่ในแผนธุรกิจเพื่อเข้าประมูล ส่วนใหญ่เริ่มต้นเกิดขึ้นมาจากประธานกสท.พ.อ.ดร.นที ศุกลรัตน์ ได้เสนอแนวทางใหม่ให้คูปองสามารถแลกกล่องรับสัญญาณททีวีดาวเทียม ( DVB-S ) ได้ด้วย นอกเหนือจากเงื่อนไขเดิมก่อนการประมูล จะนำเงินจากการประมูลไปแปลงเป็นคูปอง ให้แลกได้เฉพาะกล่องรับสัญญาณทีวีดิจิทัลภาคพื้นดิน( DVB T-2) อย่างเดียว


อีกเหตุผลหลักที่ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล ได้แจ้งในหนังสือร้องขอความช่วยเหลือเพื่อเลื่อนชำระเงินงวดที่ 2 คือขาดแผนการประชาสัมพันธ์อย่างต่อเนื่องเพื่อสร้างการรับรู้ของประชาชนเกี่ยวกับการรับชมทีวีดิจิทัล กสทช.ได้มุ่งทำในเชิง“พิธีกรรม” เช่น การจัดพิธีส่งมอบคูปองให้บริษัท ไปรษณีย์ไทยอย่างยิ่งใหญ่ , การออกสปอตโฆษณาทีวีและลงในสื่อสิ่งพิมพ์แค่บอกว่าคูปองจะไปถึงบ้านแล้ว ฯลฯ


กสท.ประชุมรับฟังความคิดเห็นของผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลแต่เป็นแบบแค่รับฟังไม่ได้ยินไม่ได้ใส่ใจนำไปปฏิบัติ แต่ไม่ได้ให้ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลเข้าไปมี“ส่วนร่วม”ในการวางแผนในเชิงกลยุทธ์ประชาสัมพันธ์อย่างมืออาชีพ แผนการประชาสัมพันธ์ของกสท.เป็นแค่การซื้อสปอตโฆษณาทีวีและหน้าหนังสือพิมพ์เท่านั้นเอง


นอกจากนี้ยังมีงบประมาณประชาสัมพันธ์ทีวีดิจิทัลอีกประมาณ 63 ล้านบาทที่ยังถูก“ดอง”อยู่ที่ไหนไม่มีใครรู้


หลังจากกรรมการกสท. 3 คนคือพล.ท.ดร.พีระพงษ์ มานะกิจ,ดร.ธวัชชัย จิตรภาษนันท์และอาจารย์สุภิญญา กลางณรงค์ ไม่เห็นด้วยกับการจัดสรรงบส่วนนี้ให้กับองค์กรวิชาชีพรายหนึ่งรายใดไปดำเนินการโดยไม่มีการประมูลนำเสนอแผนประชาสัมพันธ์แข่งขันกันจากบริษัทเอเยนซี่โฆษณามืออาชีพ


ส่วนเรื่องอื่นๆจิปาถะที่เกิดขึ้นในระหว่างทาง เป็นเรื่องที่ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลทราบอยู่แล้วหรือไม่ได้ทำให้เกิดปัญหา แต่เป็นสิ่งที่กสท.ทำให้เกิดปัญหาขึ้นมาเอง เช่น กสท.ไม่สามารถแก้ไขปัญหาการเรียงช่องในระบบ Must Carry ให้เหมือนกับกล่องภาคพื้นดินช่อง 1-36 เพราะกสท.เองที่ไปออกประกาศก่อนประมูลทีวีดิจิทัลประมาณ 1 เดือนอนุญาตให้โครงข่ายทีวีดาวเทียมสามารถนำช่อง 1-10 ไปแสวงหาผลประโยชน์ทางธุรกิจได้
รวมไปถึงอาการดื้อแพ่งของกลุ่มบริษัทบีอีซีที่ไม่ยอมออกอากาศคู่ขนานช่องทีวีดิจิทัลแบบ HD กับระบบอนาล็อก ด้วยข้ออ้างเป็นคนละบริษัทกันจะผิดกฏของกสท.ที่มีคนใหญ่ของกสท.พูดแทนช่อง 3 เสียอย่างนั้นี่ ทำให้เสียเวลาทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับทีวีดิจิทัลในการเดินไปข้างหน้าพร้อมๆกันเกือบ 3 เดือน


บริษัทเอเจนซี่โฆษณาได้ใช้เหตุผลเหล่านี้ที่เกิดขึ้นมาจาการทำงานของกสท.ที่ไม่มีเอกภาพและขัดแย้งกันในบางเรื่องที่ไม่เป็นเรื่องเลย ขอชะลอการวางแผนซื้อโฆษณากับช่องทีวีดิจิทัลรายใหม่และราย่อยที่ไม่มีฐานคนดูมาก่อนบริษัทเอเจนซี่โฆษณาได้ใช้เหตุผลเหล่านี้ที่เกิดขึ้นมาจาการทำงานของกสท.ที่ไม่มีเอกภาพและขัดแย้งกันในบางเรื่องที่ไม่เป็นเรื่องเลย ขอชะลอการวางแผนซื้อโฆษณากับช่องทีวีดิจิทัลรายใหม่และราย่อยที่ไม่มีฐานคนดูมาก่อน


จึงขอแย้งเหตุผลทุกข้อของกสทช. ในการช่วยเหลือผ่อนภาระทางการเงินให้ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลเลื่อนจ่ายเงินงวด 2 ที่จะถึงกำหนดในวันที่ 24 พ.ค.นี้ แต่ยังมีเงื่อนไขขอคิดดอกเบี้ยในการเลื่อนจ่ายๆไป 1 ปี แล้วให้จัดทำประชาพิจารณ์ภายใน 15 วันเพื่อให้ทันนำเสนอกลับมาในที่ประชุมกสทช. 20 พ.ค.นี้


ขอตั้งคำถามกลับไปว่าภาระหลังแอ่นของผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล ที่เกือบทั้งหมดเกิดการทำงานผิดพลาดของกสท.เช่นนี้ ทำไมกรรมการกสท.ไม่มีใครออกมายอมรับผิดบ้างเลยหรือ? ใครจะเป็นผู้มีอำนาจลงโทษกรรมการกสท. ที่เป็นต้นเหตุหลัก ทำให้เกิดวิบากกรรมของทีวีดิจิทัลในปีแรกที่หนักหนาเกินกว่าที่คาดการณ์ไว้ทุกราย